BAM ทรานส์ฟอร์มสู่ DIGITAL ENTERPRIESE เร่งคืนอิสรภาพให้ลูกหนี้มากกว่าเดิม 6 เท่า ลดเวลาเป็นหนี้เหลือ 5 ปี  

ซีอีโอ BAM เผย! 25 ปีช่วยลูกหนี้ได้ทรัพย์คืนไปแล้วกว่า 1.6 แสนราย รวมเงินต้นกว่า 4.8 แสนล้านบาท มั่นใจหลังทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRIESE จะช่วยคืนอิสรภาพให้ลูกหนี้มากถึง 5-6 เท่าในระยะเวลา 20 ปี มั่นใจช่วยลดเวลาของหนี้จากเดิม 7.5 ปี เหลือเพียง 5 ปี ลั้น! พร้อมขึ้นชั้น “ผู้นำ AMC ยุค 4.0” ระบุ! JV “บบส. อารีย์” เติบเกินคาด มีส่วนช่วยหนุนผลดำเนินงานปีนี้

นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ (BAM) กล่าวถึง การดำเนินธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) และทรัพย์สินรอการขาย (NPA) ว่า ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา BAM สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้กว่า 160,000 ราย ภาระหนี้มีเงินต้นกว่า 480,000 ล้านบาท เสมือนเป็น “แก้มลิง” ช่วยรองรับหนี้เสียไม่ให้ไหลเข้ามาท่วมระบบสถาบันการเงิน สามารถจำหน่ายทรัพย์ไปแล้วกว่า 53,000 รายการ ราคาประเมินกว่า 123,000 ล้านบาท โดยเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจเกิดความยั่งยืนได้ต่อไป

ทั้งนี้ BAM มีนโยบายการดำเนินธุรกิจ เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ทุกรายเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน ด้วยเงื่อนไขที่ยืดหยุ่น ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การปรับลดหนี้ การโอนตีทรัพย์ชำระหนี้ การให้ลูกหนี้สามารถซื้อคืนทรัพย์หลักประกันได้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีโครงการต่างๆ ช่วยเหลือลูกหนี้ เช่น “โครงการสุขใจได้บ้านคืน” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ BAM ที่ต้องการคืนทรัพย์หลักประกันทั้งที่อยู่อาศัยหรือที่ทำกินให้แก่ลูกหนี้ และในโอกาสครบรอบ 25 ปี BAM ได้เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่มีหลักประกันไม่เกิน 25 ล้านบาท ชำระหนี้เพียง 80% ของราคาประเมิน ในอัตราดอกเบี้ย 0% นาน 25 เดือน ผ่อนชำระไม่เกิน 25 ปี และ “โครงการ BAM ช่วยฟื้นคืนธุรกิจ” สำหรับลูกหนี้กลุ่ม Startup และ SME ที่มีภาระเงินต้นต่อรายไม่เกิน 25 ล้านบาท ชำระหนี้เพียง 80% ของราคาประเมิน อัตราดอกเบี้ย 0% นาน 25 เดือน ผ่อนชำระไม่เกิน 25 ปี ขณะเดียวกัน BAM ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางในช่วงที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่ 1 มิ.ย.-30 พ.ย. 2567 สำหรับลูกหนี้ที่ปรับโครงสร้างหนี้และยังมีการผ่อนชำระอยู่

BAM เปิดโอกาสให้ลูกหนี้ทุกรายสามารถไม่ว่าจะมีปัญหาในด้านใด แม้กระทั่งอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดี สามารถเข้ามาเจรจาประนอมหนี้เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน บนพื้นฐานการพิจารณาถึงความสามารถที่แท้จริง และกำลังการผ่อนชำระของลูกหนี้ เพื่อหาแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งหากลูกหนี้ได้รับจดหมายเชิญเข้ามาประนอมหนี้กับ BAM โปรดอย่าลังเลที่จะตัดสินใจเข้ามาหา BAM เราจะดูแลลูกหนี้ทุกรายของเราเสมือนเป็นลูกค้าชั้นดีของธนาคารพาณิชย์” นายบัณฑิต กล่าว

ด้าน ดร.ธนกร หวังพิพัฒน์วงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BAM กล่าวเสริมว่า BAM ได้ดำเนินการทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ DIGITAL ENTERPRISE เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยี ซึ่งเป็น Mega Trend เข้ามามีบทบาทอย่างรวดเร็วในทุกภาคส่วน จึงวางแนวทางขององค์กรฯ เพื่อให้ทันต่อธุรกิจในยุคดิจิทัล 4.0 โดยมีเป้าหมายการ Transformation 3 ส่วน ได้แก่…

1.) Transformation for People มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ BAM ทั้งหมด ได้รับ “ประสบการณ์” ที่ดี เช่น การตั้งเป้าหมายให้ลูกค้าได้รับแผนประนอมหนี้ที่ตรงกับความต้องการและเงื่อนไขของตนเองให้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็น การ Digitalization กระบวนการในการส่งจดหมาย Hello Letter หรือจดหมายเชิญประนอมหนี้ รวมไปถึงการจัดทำระบบ BAM Choice ซึ่งเป็นระบบ Mobile Application ที่ลูกหนี้สามารถเห็นแผนประนอมหนี้ที่เหมาะสมกับตนเอง ตลอดจนการขอเจรจาปรับเปลี่ยนแผนประนอมหนี้ผ่านทางออนไลน์ได้ ซึ่ง BAM Choice ยังอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าในการชำระเงินผ่านทางช่องทางออนไลน์ และจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าอีกด้วย ในปัจจุบัน BAM เตรียมนำระบบ AI มาช่วยในการประเมินกำลังความสามารถในการชำระเงินของลูกหนี้ และวิเคราะห์แผนการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับลูกหนี้อีกด้วย

2.) Transformation for Growth มีเป้าหมายเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ใน การเพิ่มยอดผลเรียกเก็บและช่วยลดค่าใช้จ่าย โดยทำ Digitalization Channel ในการสื่อสารกับลูกค้าแบบครบวงจร เพื่อให้ลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ BAM ทุกช่องทางได้รับประสบการณ์ที่ดีในการให้บริการ นอกจากนี้ การนำ Data มาใช้ในการวิเคราะห์และช่วยในการตัดสินใจเพื่อให้การบริหารหนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

และ 3.) Transformation for Efficiency ได้มีการจัดทำ ระบบบริหารจัดการสินทรัพย์ เพื่อให้กระบวนการในการติดตามและแก้ไขหนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดหาเครื่องมือทางด้านดิจิทัล ที่ช่วยให้ พนักงานสามารถใช้ระบบสารสนเทศระดับองค์กร (Enterprise Information System: EIS) เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการดำเนินงานและการตัดสินใจ

นอกจากนี้ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี BAM ได้จัดทำซีรีส์ภายใต้ธีม “อิสระ เดอะซีรีส์ : BAM ทางออกสู่อิสระ” 2 เรื่อง ได้แก่ ซีรีส์ “BAM อิสระจากวังวนหนี้” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ของ BAM เข้ามาประนอมหนี้และช่วยให้ลูกหนี้สามารถซื้อคืนทรัพย์หลักประกันได้ และ “BAM  ฝันมีทรัพย์เป็นจริง” สานฝันชีวิตของคนทำงานวัยเริ่มต้นจากการซื้อทรัพย์ BAM ทั้งการซื้อเพื่อเป็นบ้านอยู่อาศัยและซื้อเพื่อการลงทุน โดยจะออนแอร์บนสื่อโซเชียลมีเดียผ่านแพลตฟอร์ม Facebook, YouTube และ TikTok : BAM Thailand ตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน – 20 ธันวาคม 2567

ในช่วงการถามตอบคำถามของผู้สื่อข่าว, ผู้บริหารระดับสูงของ BAM ระบุว่า การทรานส์ฟอร์มองค์กรในครั้งนี้จะช่วยให้การดำเนินงานของ BAM ง่าย มีประสิทธิภาพ และเข้าถึงลูกหนี้ได้มากขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ลูกหนี้อาจรู้สึกกังวลใจที่จะติดต่อกับ BAM แต่หลังจากมีแอฟฯ BAM Choice เชื่อว่าจะช่วยทำให้การสื่อสารถึงกันทำได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว ประหยัด และเกิดความเชื่อมั่นต่อกันมากขึ้น ส่วนตัวคาดหวังว่าในระยะเวลา 20 ปีนับจากนี้ไป การแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้จะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและช่วยให้ลูกหนี้ได้ทรัพย์คืนกลับไปได้ราว 5-6 เท่าของระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา (ช่วยลูกหนี้ได้ทรัพย์คืนไปแล้วกว่า 1.6 แสนราย รวมเงินต้นกว่า 4.8 แสนล้านบาท) นอกจากนี้ ยังจะช่วยลดระยะเวลาที่ลูกหนี้มีภาระหนี้อยู่กับ BAM จากเดิมเฉลี่ย 7.5 ปี เหลือเพียง 5 ปี

สำหรับการดำเนินงานของ บริษัทบริหารสินทรัพย์ อารีย์ จำกัด (บบส. อารีย์) ที่ BAM ร่วมทุนกับธนาคารออมสิน นั้น ถือว่าดำเนินการไปได้ดีเกินคาดหมายและอาจไปสู่จุด break even point (คืนทุน) ได้เร็วกว่าที่คาดหวัง อีกทั่ง แนวนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่เคยบอกว่า หนี้เสีย (NPL) ในส่วนของธนาคารของรัฐ ทั้งหมดจะถูกโอนยัง บบส. อารีย์ ซึ่งอนาคตเชื่อว่าจะเติบโตได้มากกว่า BAM อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของ บบส. อารีย์ จะเน้นไปที่การช่วยเหลือลูกหนี้เป็นหลัก จะไม่เน้นทำกำไรมากเกินไป แต่ผลการดำเนินงานที่มีจะต้องไม่น้องกว่าที่ BAM ทำได้

นอกจากนี้ BAM ยังร่วมกับธนาคารกสิกรไทยจัดทำ บริษัทบริหารสินทรัพย์รายใหม่ชื่อ บริษัทบริหารสินทรัพย์ อรุณ จำกัด (บบส. อรุณ) โดยมีแนวทางการดำเนินงานคล้ายคลึงกับ บบส. อารีย์ เพียงแต่หนี้เสีย ที่รับโอนจากธนาคารกสิกรไทยจะเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ต่างจากหนี้เสียของ บบส. อารีย์ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีและไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยอยู่ระหว่างดำเนินงานจัดตั้ง คาดว่าจะเริ่มรับโอนหนี้เสียเพื่อนำมาบริหารจัดการได้ในช่วงต้นปีหน้า

“มองว่าปีหน้า NPL ในส่วนของแบงก์พาณิชย์จะต้องเพิ่มจากปีอย่างแน่นอน เนื่องจากปีนี้ BAM รับซื้อได้ไม่มากนัก ขณะที่ปีหน้า ปริมาณ NPL ใหม่จะมีเพิ่มขึ้นมาอีก แต่ BAM ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ทำอะไรเกินตัว และต้องไม่สร้างภาระให้พนักงานเกินไป” นายบัณฑิต กล่าวและว่า…

ในส่วนของเงินสดรับในปีนี้ อาจไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ราว 2 หมื่นล้านบาท ด้วย 2 เหตุผลคือ 1.การคาดการณ์เงินสดรับที่ประมาณการไว้ เกิดขึ้นโดยที่ไม่รู้ว่างบประมาณรายจ่ายปี 2567 จะมีความล่าช้า และ 2.เงินรับคืนจากกรมบังคับคดีที่คาดว่าจะได้กลับมาราว 5,000 – 6,000 ล้านบาท แต่ได้รับจริงเพียงกว่า 2,000 ล้านบาทเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมกับรายได้จากบริษัทร่วมทุน (บบส. อารีย์) แล้ว เชื่อว่าจะไม่ห่างจากเป้าหมายที่วางไว้มากนัก.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password