‘กอบศักดิ์’ ห่วงสุด ‘ปมสงครามอิสราเอลฯ ขยายวงกว้าง!’ ฉุดเศรษฐกิจโลกและไทย

ผู้บริหารแบงก์กรุงเทพ “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” ระบุ! ไม่ห่วงเศรษฐกิจไทยในปี 2567 เหตุมีแนวโน้มสดใส แต่หวั่น 3 ปัจจัยลบภายนอก “เลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ + สงครามอิสราเอล VS ตะวันออกกลาง + พิษเศรษฐกิจจีน” เกรงส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลกและไทย ชี้! ห่วงสุดคือสงครามตะวันออกกลาง เกรงขยายผลวงกว้างเกินควบคุม ย้ำ! จะเป็นปัญหาใหญ่ตลอดปี 2568 ส่วนปัจจัยลบในประเทศ หนีไม่พ้นหนี้สินครัวเรือนที่ภาครัฐยังแก้ไม่ได้

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ และเลขานุการ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ซึ่งได้รับอานิสงส์จากภาคการส่งออกที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 30 ล้านคน ทำให้หลายฝ่ายรู้สึกสบายใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยมากยิ่งขึ้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 น่าจะขยายตัวมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่แตะระดับ 3%

อย่างไรก็ตาม ยังคงมี 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ตนยังคงเป็นห่วงและเกรงจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ประกอบด้วย 1.การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เนื่องจากผู้สมัครฯทั้ง 2 คนต่างก็มีนโยบายที่แตกต่างกัน ซึ่งไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ เชื่อว่าจะส่งผลต่อการดำเนินนโยบายทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยตามมา ส่วนจะเป็นอย่างไร และรัฐบาลไทยควรจะรับมืออย่างไรนั้น คงต้องรอให้เห็นความชัดเจนเสียก่อน

2.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นในฝั่งของ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน หรือ ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางบางกลุ่ม/ประเทศ ที่ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ และยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งจะยุติเมื่อใด หรืออาจขยายผลมากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจมากที่สุด เพราะจะส่งผลกระทบต่อการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะปัญหาราคาน้ำมันที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในภาคการผลิตและภาคการขนส่ง รวมถึงราคาสินค้าที่จะมีตามมา

3.ปัญหาเศรษฐกิจจีนที่ถดถอยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจาก ภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเงินและการธนาคารของจีน ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจีนจะออกมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาผ่านมาตรการต่างๆ หลายมาตรการ แต่เพราะยังไม่ได้ลงลึกถึงปัญหาอย่างแท้จริง ทำให้การแก้ไขปัญหาจึงยังไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และส่งผลทำให้กำลังซื้อของคนจีนเหลือน้อยลง สิ่งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อคำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ทำให้ประเทศจีนที่ได้ชื่อว่าเป็น “ผู้ซื้อรายใหญ่ของโลก” ไม่สามารถซื้อสินค้าได้อย่างที่ควรจะเป็น และส่งผลกระทบต่อประเทศที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน โดยหนึ่งในนั้น มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย

“ทั้ง 3 ปัจจัยเสี่ยงข้างต้น ล้วนไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลก แต่ที่น่ากังวลใจมากที่สุดและเชื่อว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจโลกและไทยมากที่สุดก็คือ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (สงครามความขัดแย้ง) โดยเฉพาะในตะวันออกกลางที่อาจขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น และจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงจนมิอาจจะประเมินผลได้ ซึ่งในปีหน้า (2568) เชื่อว่าจะได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด” ดร.กอบศักดิ์ กล่าวและว่า…

ส่วน ปัจจัยลบภายในประเทศที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจไทย ก็คือ ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ซึ่งแม้รัฐบาลและธนาคารของรัฐ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ จะมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยากันไปบ้างแล้ว แต่เนื่องจากโครงสร้างของปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนมันลงลึกเกินกว่าจะแก้ไขได้ง่ายๆ ในช่วงเวลาที่รวดเร็ว จึงทำให้ปัญหาดังกล่าวอาจเป็นตัวฉุดให้เศรษฐกิจมีปัญหาตามมาได้เช่นกัน นี่ยังไม่นับรวม ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ยากจะควบคุมและแก้ไขปัญหาได้ง่ายๆ ซึ่งหนี้สินประเภทนี้ ถือว่าเป็นตัวที่ไปลดกำลังซื้อของคนไทยได้อย่างรุนแรง

สำหรับแนวโน้มการเติบของ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ นั้น ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ปีนี้มีแนวโน้มที่ดี โดยเฉพาะทิศทางการเติบโตของสินเชื่อในภาพรวม แต่ยังระบุไม่ว่าจะเติบโตเท่าใด เนื่องจากยังเหลือเวลาอีกกว่า 2 เดือนกว่าจะถึงสิ้นปี 2567 ส่วนประมาณการการเติบโตในปี 2568 นั้น ปกติผู้บริหารของทุกองค์กรธุรกิจจะคาดการณ์จากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศ เช่นในปี 2568 หากรัฐบาลคาดหวังจะเห็นการเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 3% ทางภาคเอกชนก็จะใช้ตัวเลขดังกล่าวเป็นฐานการประเมินการเติบโตในปีเดียวกันราว 1.5 เท่า หรือประมาณ 4.5% นั่นเอง

ผู้สื่อข่าวถามดึงกรณีที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบาย โดยแสดงความจำนงที่จะสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วจากชาติตะวันตก และการสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ กลุ่ม BRICS ที่เป็นการรวมตัวของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ นำโดย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยกำลังขยายจำนวนชาติสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มมีแนวทางการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องและเหมือนจะขัดแย้งกันนั้น

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่รัฐบาลจะสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งในส่วนของ OECD นั้น ตนในช่วงที่อยู่ร่วมงานกับรัฐบาลในอดีต (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มีโอกาสไปร่วมเจรจาเพื่อขอสมัครเข้าร่วมกลุ่ม OECD ซึ่งหากประเทศไทยได้รับการตอบรับให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกฯแล้ว เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของไทย เนื่องจาก OECD เป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนามาตรฐานในระดับสากล อีกทั้ง ยังจะช่วยสร้างมาตรฐานในด้านต่างๆ และช่วยยกระดับให้กับประเทศสมาชิกเข้าใหม่ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน การสมัครเป็นสมาชิกของกลุ่ม BRICS ก็นับเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากเป็นกลุ่มเกิดขึ้นใหม่ที่จะมีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ที่สำคัญกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่ขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ (28% ของจีดีพีโลก) มีประชากรมาก (39% ของประชากรโลก) และมีกำลังซื้อที่สูง จำเป็นที่รัฐบาลไทยจะต้องรีบสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกให้ได้โดยเร็ว และควรเป็นสมาชิกเข้าใหม่เป็นลำดับต้นๆ ด้วย

“ไม่อยากจะใช้คำว่า…รัฐบาลไทยควรจะ “แทงกั๊ก” คือเลือกสมัครเข้าเป็นสมาชิกของทั้ง 2 กลุ่ม เพราะมันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยในระยาว” ดร.กอบศักดิ์ ระบุ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password