คลังเปิดศูนย์ OSS นำร่องที่หนองคาย ก่อน ‘อัพ’ เป็น Thai NSW – ตั้งเป้า 3 เพิ่มปริมาณการค้าชายแดนอีกเท่าตัวเป็น 8 แสนล.
รมช.คลัง นำทีมเปิด “ศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว (OSS)” จ.หนองคาย อำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน “นำเข้าส่งออก การลงทุน และท่องเที่ยว” พร้อมสกัดสินค้าหนีภาษี ไร้มาตรฐานและราคาถูกจากต่างประเทศทะลักเข้าไทย หวังนำร่องให้จังหวัดชายอื่นๆ ก่อนจะต่อยอดยกระดับเป็น แพลตฟอร์มกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Thai NSW) ตั้งเป้า 3 ปีเพิ่มประมาณการค้าชายแดนอีกเท่าตัว รวมเป็น 8 แสนล้านบาทต่อปี ด้านประธานหอการค้า จ.หนองคาย พอใจมาก พร้อมประเมินผลการดำเนินงานของ OSS ตลอด 3 ปีจากนี้
เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 25 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง พร้อมด้วย นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ นายสมภพ สมิตะสิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย และผู้บริหารกรมศุลกากร ร่วมพิธีเปิดศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว (One Stop Service : OSS) ณ ศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว จังหวัดหนองคาย
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ศูนย์บริการค้าชายแดนเบ็ดเสร็จจุดเดียว ถือเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายของการเพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาระบบโลจิสติกส์ รองรับการให้บริการแก่ประชาชนและภาคธุรกิจในเรื่องของการนำเข้า – ส่งออก ให้เกิดความรวดเร็ว สะดวกสบายและไม่ยุ่งยากอีกต่อไป ภายใน 1 ปี โดยความต่อเนื่องจากนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาถึงปัจจุบัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการจนเกิด OSS จังหวัดหนองคาย ที่จะเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่นๆ รวม 10 แห่ง โดยมุ่งมั่นที่จะยกระดับการบริการภาครัฐให้ตอบสนองความต้องการของประชาชนมากยิ่งขึ้น ปรับบทบาทภาครัฐเป็นการส่งเสริมสนับสนุน (Enable) การอำนวยความสะดวก (Facilitate) และการกำกับกฎกติกา (Regulate) เพื่อให้ประชาชนและเอกชนได้รับบริการที่สะดวก รวดเร็ว พร้อมทั้งจะลดกฎหมายและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ไม่ให้ภาครัฐเป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ เหมือนที่กรมศุลกากรได้พัฒนาการให้บริการในรูปแบบ Single Submission โดยได้ปรับปรุงแพลตฟอร์มกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Thailand National Single Window : Thai NSW)
ทั้งนี้ OSS ถือเป็นต้นทางที่จะนำไปสู่การยกระดับ Thai NSW ที่สมบูรณ์ ซึ่งนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการและประชาชนแล้ว ยังจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าชายแดนที่เป็นเป้าหมายหลัก นำสู่การจัดเก็บรายได้ของรัฐเพิ่มขึ้นตามมา คาดว่าภายใน 3 ปี การดำเนินงาน Thai NSW ที่แล้วเสร็จเป็นรูปธรรมจะช่วยเพิ่มปริมาณการค้าชายแดนทั่วประเทศที่มีราว 4 แสนล้านบาทได้อีกเท่าตัวหรือประมาณ 8 แสนล้านบาท
รมช.คลัง ระบุว่า การค้าชายแดนมีความสำคัญมากต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทย เพราะเชื่อมโยงทั้งการท่องเที่ยว การค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การหน่วยงานต่างๆ ให้ความร่วมมือและมอบอำนาจการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตนำเข้า-ส่งออกมาไว้ใน OSS ไม่เพียงจะช่วยอำนวยความสะดวก แต่ยังจะก่อให้เกิดการควบคุมดูแล ป้องกันมิให้สินค้าที่มีความเสี่ยง เช่น สินค้าไม่ได้มาตรฐาน มอก. และอย. รวมถึงสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศไหลทะลักเข้ามายังประเทศไทย โดยมีการตรวจสอบระบบการขนส่งทางบก ด้วยการใช้ระบบตู้เอ็กซเรย์สินค้า 100% ที่ติดกับตัวรถบรรทุก มาใช้ในการติดตามรถบรรทุกสินค้าที่จะผ่านชายแดน รวมถึงยังนำร่อง ระบบ Auto Load เป็นการรับบรรทุกสินค้าส่งออกอัตโนมัติ โดยใช้ กล้อง CCTV เชื่อมกับระบบดาวเทียม ทำการอ่านเลขทะเบียนรถ กับหมายเลขตู้คอนเนอร์สินค้า เมื่อรถบรรทุกขับผ่านหน้ากล้อง ระบบจะอ่านข้อมูล เพื่อป้องกันการสำแดงสินค้าแล้วไม่ยอมส่งออก แต่ยื่นเคลมขอคืนภาษีส่งออก เพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหาดังกล่าวในช่วงที่ผ่านมา
ด้าน นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงการคลังร่วมมือกับหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ และ 8 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนและดำเนินการเร่งรัดการจัดตั้ง OSS ณ สำนักงานศุลกากรหนองคาย นำร่องเป็นแห่งแรก ซึ่งจะช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกและปริมาณการค้าชายแดนเติบโตสูงขึ้น
ส่วนการปรับปรุงแพลตฟอร์มกลางการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (Thailand National Single Window : Thai NSW) กรมศุลกากรได้นำร่องในกลุ่มสินค้าพืชเกษตร จำนวน 673 พิกัดรายการสินค้า โดยเปิดให้บริการยื่นคำขอเพื่อขอรับใบอนุญาต ใบรับรองประกอบการนำเข้าสินค้าพืชเกษตร ตั้งแต่ 1 กันยายน 2567 รองรับการขอรับใบอนุญาต ใบรับรองสินค้าเกษตร ที่มีการควบคุมร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 415 รายการพิกัดสินค้า โดยผู้นำเข้าสินค้าสามารถยื่นคำขอและส่งข้อมูลเพียงครั้งเดียว และเพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์ OSS
ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้พัฒนาระบบ Thailand Trade Journey ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านการนำเข้า – ส่งออก โดยอำนวยความสะดวก ช่องทางการติดต่อกับระบบสารสนเทศกับหลายหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถขอใบอนุญาตหรือใบรับรองผ่านระบบได้โดยตรง นำร่องสินค้าประเภทผลไม้ จำนวน 22 ชนิด ของหน่วยงาน กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และกรมการค้าต่างประเทศ และการนำเข้าได้นำร่องสินค้าประเภท ผัก ผลไม้ วัตถุอันตราย ปุ๋ย เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ จำนวน 20 รายการ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
“สิ่งนี้ยังจะช่วยลดภาระการบันทึกข้อมูลที่ซ้ำซ้อน และสามารถส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในครั้งเดียว โดยการพัฒนาการให้บริการในรูปแบบ Single Submission ที่ได้ดำเนินการนำร่องกับการนำเข้าสินค้าพืชเกษตรที่มีการควบคุมมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน เช่น สินค้าพืชที่เป็นวัตถุดิบ อาหารสัตว์ ส้มแมนดาริน มันสำปะหลัง กระเทียม ลิ้นจี่ ทุเรียนแช่แข็ง ลำไย เกี่ยวข้องกับ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมการค้าต่างประเทศ และ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จึงช่วยลดระยะเวลากรอกข้อมูลลงถึง 60% นับเป็นการขับเคลื่อนการอำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนที่เป็นอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ” อธิบดีกรมศุลกากร ย้ำ
ด้านมุมมองของตัวแทนภาคเอกชนในพื้นที่ นางมนทิภา โกวิทศิริกุล ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ตนรู้สึกพอใจกับนโยบาย OSS ของกรมศุลกากร ที่ไม่เพียงจะอำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดนของจังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับนครหลวงเวียงจันทน์ของสปป.ลาว ซึ่งแต่ละปีจะมีมูลค่าการค้าชายแดนเกือบ 1 แสนล้านบาท แต่ยังจะเพิ่มประมาณการค้า (นำเข้าและส่งออก) การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยวให้เกิดความคึกคักมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ส่วนตัวพร้อมจะติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของ OSS ในช่วง 3 ปีจากนี้ ว่าจะมีส่วนช่วยเพิ่มปริมาณการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวมากแค่ไหน.