“ปิติพงศ์” ย้ำจุดยืน “เป็นธรรม” หนุนนิรโทษกรรม เว้นคดีทุจริต สว.เป็นอิสระ มาจากเลือกตั้ง
หัวหน้าพรรคเป็นธรรม ย้ำจุดยืน แก้ไขรัฐธรรมนูญ หนุนนิรโทษกรรม ยกเว้นคนทุจริต หวังสลายขัดแย้ง ชี้ สว.ต้องเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิโหวตนายกฯ ต้องเป็นอิสระ ไม่สังกัดพรรคการเมือง
วันที่ 20 ธ.ค. 2566 นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม (ปธ.) กล่าวถึงจุดยืนของพรรคเป็นธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมว่า พรรคเป็นธรรมสนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับและการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งจริงๆแล้วทั้ง 2 เรื่องเป็นปัญหาที่ได้มีข้อยุติมาตั้งนานแล้ว แต่รัฐบาลที่ผ่านมา ทั้งฝ่ายค้านในอดีตและรัฐบาลในปัจจุบันต่างมีต้นร่างมาหมดแล้วทุกเรื่อง เพียงแต่ครั้งนี้มีการประวิงเวลาไม่ให้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และออกกฎหมายแก้ไขรัฐธรรนูญโดยเร็ว
ส่วนพรรคเป็นธรรม ยืนว่า สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทั้งฉบับ โดยต้องทำประชามติตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ สำหรับประเด็นที่พรรคสนใจ คือต้องทำทุกวิถีทาง เพื่อไม่มีการฉีกรัฐธรรมนูญอีก ไม่มีการปฏิวัติอีก ต้องเขียนให้เห็นว่า การปฏิวัติเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม องค์กรต่างๆ ต้องไม่ยอมรับการปฏิวัติ หรือการรัฐประหาร ต้องเขียนให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญไม่สามารถถูกฉีดขาดได้ด้วยการปฏิวัติ ถ้าจะมีการแก้ไขต้องทำในสภาเท่านั้น
เราสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมาย หรือในการคัดสรรองค์กรอิสระได้ ถ้าจำเป็น แต่ต้องไม่มีอำนาจยุ่งเกี่ยวกับงานบริหาร คือการโหวตเลือกนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง และสว. ต้องถือว่ามีอำนาจหน้าที่ตามกรอบกฎหมายเท่านั้น พูดง่ายๆ คือไม่มีอำนาจหน้าที่เหมือนกับ สส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน
“ที่สำคัญสว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่มาจากการแต่งตั้ง และไม่ใช่การเลือกตั้งโดยอ้อม ต้องเป็นการเลือกตั้งโดยตรง ถ้าคุณบอกว่าเป็นตัวแทนประชาชนเป็นหนึ่งในคณะนิติบัญญัติ ต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะอำนาจนิติบัญญัติมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่มีการแต่งตั้ง ไม่ควรเป็นสมาชิกพรรค และสว.จะต้องไม่ถูกครอบงำโดยพรรคการเมือง”
นายปิติพงศ์ กล่าวด้วยว่า การกระจายอำนาจ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการบริหารประเทศในระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญจะต้องเปิดโอกาสให้สนับสนุนประชาชนมีส่วนร่วมให้มากที่สุด ประชาชนต้องมีศักดิ์ศรีในสิทธิมนุษยชน ในระดับที่สากลพึงยอมรับ และเรื่องสุดท้ายคือการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ เขียนชัดเจนให้เห็นเลยว่า รัฐต้องสนับสนุนให้มีการปฏิรูประบบยุติธรรมทั้งหมด เพื่อให้เป็นหลักการที่ยอมรับร่วมกัน มีหลักกฎหมาย หลักกระบวนการยุติธรรมที่เสมอภาคและเท่าเทียมกัน เป็นธรรมกับทุกๆคน ทั้งนี้เป็นการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) และทำประชามติ
ส่วนเรื่องนิรโทษกรรม พรรคเป็นธรรมเห็นด้วยในการกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับทางการเมือง ต้องช่วงเปลี่ยนผ่าน 10 ปีเท่านั้น และต้องไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่กระทำความผิดทุจริตคอร์รัปชัน คิดว่าฝ่ายค้านต่างคนต่างมีแบบของตัวเอง ต่างคนต่างก็ต่างเสนอกันไป แต่คิดว่าไม่มีใครไม่เห็นด้วยที่จะให้นิรโทษกรรม เพราะทุกคนทุกพรรคได้รับผลกระทบหมด มีแต่พรรคเป็นธรรมไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเรื่องนี้เลย แต่พรรคเป็นธรรมเข้าใจในบริบทที่ต้องการสลายความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาประเทศมากกว่ามาฟื้นฝอยหาตะเข็บในเรื่องของความขัดแย้ง.