กางมุมมองปชช. “ส่วยสติ๊กเกอร์” รถบรรทุก ส่วนใหญ่ร้อยละ 82.90 เชื่อมีจริง
“นิด้าโพล” กางมุมมอง ประชาชน กรณี “ส่วยสติ๊กเกอร์” รถบรรทุก โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.90 เชื่อเป็นเรื่องจริง เพราะผู้ประกอบการ ต้องการลดต้นทุน
วันที่ 11 มิ.ย. 2566 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “ส่วยสติ๊กเกอร์ รถบรรทุก” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 6-7 มิถุนายน 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และ รายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับ “ส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก” การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่องการบรรทุกน้ำหนักของรถบรรทุก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 82.90 ระบุว่า ส่วนใหญ่ มีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด , รองลงมา ร้อยละ 11.45 ระบุว่า ส่วนใหญ่มีการบรรทุกไม่เกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด และร้อยละ 5.65 ระบุว่า ไม่มั่นใจ
เมื่อถามความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่า ส่วนใหญ่มีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด และผู้ที่ระบุว่าไม่มั่นใจ (จำนวน 1,160 หน่วยตัวอย่าง) ถึงสาเหตุที่ทำให้รถบรรทุกมีการบรรทุกเกินกว่าน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 73.36 ระบุว่า เพื่อลดต้นทุน ค่าขนส่ง , รองลงมา ร้อยละ 63.19 ระบุว่า เพื่อเพิ่มกำไรในธุรกิจขนส่ง , ร้อยละ 27.07 ระบุว่า ขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนดไม่สะท้อน ความเป็นจริงในปัจจุบัน และร้อยละ 0.09 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
สำหรับความเชื่อของประชาชนต่อข่าวส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.76 ระบุว่า เชื่อมาก , รองลงมา ร้อยละ 25.34 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ , ร้อยละ 10.08 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ , ร้อยละ 3.44 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย และร้อยละ 0.38 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
เมื่อถามผู้ที่ระบุว่า เชื่อมาก ค่อนข้างเชื่อเกี่ยวกับข่าวส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก และไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ (จำนวน 1,133 หน่วยตัวอย่าง) ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 75.55 ระบุว่า เจ้าของรถบรรทุกยินดีจ่ายเพื่อความสะดวกในการดำเนินกิจการ , รองลงมา ร้อยละ 75.11 ระบุว่า ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องการหาผลประโยชน์ , ร้อยละ 26.13 ระบุว่า ขนาดน้ำหนักที่กฎหมายกำหนด ไม่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน และร้อยละ 0.35 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามผู้ที่ระบุว่า เชื่อมาก ค่อนข้างเชื่อเกี่ยวกับข่าวส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุก และไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ (จำนวน 1,133 หน่วยตัวอย่าง) ถึงความเชื่อของประชาชนว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาส่วยสติ๊กเกอร์รถบรรทุกได้จริง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 30.36 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ , รองลงมา ร้อยละ 27.80 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย , ร้อยละ 23.66 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ , ร้อยละ 17.83 ระบุว่า เชื่อมาก และร้อยละ 0.35 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ.