คลังรับไฟเขียว! รุกต่อแผนการคลังปานกลาง ตั้งเป้าตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญดีขึ้นทุกปี

ครม.เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปี 67-70) หวังสร้างเสถียรภาพด้านการคลังและระบบเศรษฐกิจของประเทศ ตั้งเป้าจีดีพีขยายตัวอย่างต่อเนื่องระดับ 3.3 – 3.8% ขณะที่ตีกรอบเงินเฟ้อไม่เกิน 1-3% พร้อมตั้งเป้าตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นรายได้รัฐบาล งบประมาณรายจ่ายประจำปี ดุลการคลัง และหนี้สาธารณะ ที่ดีขึ้นต่อเนื่องในทุกๆ ปี ด้านกระทรวงการคลังยอมรับ! การจัดทำงบประมาณสมดุลยังอีกห่างไกล แต่แนวโน้มทุกอย่างดีขึ้นอย่างแน่นอน

นายอาคม  เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงภายหลัง ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ระหว่างปีงบประมาณ 2567 – 2570 หรือแผนการคลังระยะปานกลางฯ ที่จะนำมาใช้เป็นแผนแม่บทหลักสำหรับการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของรัฐ รวมทั้งแผนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีและแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ตามความที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

โดยกำหนดเป้าหมายการคลังที่มุ่งเน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลเพื่อมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม ทั้งนี้ ให้เหลือขนาดการขาดดุลให้เหลือไม่เกินร้อยละ 3.0 ต่อ GDP  ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง โดยการดำเนินนโยบายการคลังในระยะปานกลางจะยึดหลัก “Sound Strong Sustained” ดังนี้

Sound การดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นไปตามหลักการดำเนินนโยบายการคลังแบบต่อต้านวัฏจักรเศรษฐกิจ หรือ Counter-cyclical Fiscal policy โดยในภาวะที่เศรษฐกิจสามารถเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ดังเช่นในปัจจุบัน รัฐบาลก็จะลดบทบาทของการดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ลง โดยมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังแบบเจาะจงเป้าหมาย (Targeted Fiscal Policy) ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับประชาชนในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย เพื่อกลับมาเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลัง

Strong มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการคลังในทุก ๆ ด้าน ทั้งในส่วนของการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล การจัดสรรงบประมาณรายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลังหรือ Fiscal Space ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อรองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล โดยคำนึงถึงกรอบวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) ด้วยการรักษาระดับเครื่องชี้ทางการคลังต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมด้วย

Sustained มุ่งสู่ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคตได้ และเข้าสู่การคลังสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม

“ในระยะยาวหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาครัฐสามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการคลังทั้งทางด้านรายได้ รายจ่าย และหนี้สาธารณะได้ เป้าหมายการคลังในระยะยาวจะกำหนดให้รัฐบาลมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในระยะเวลาที่เหมาะสม นายอาคม ระบุ

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินประจำปี 2566 ซึ่งเป็นข้อตกระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวคือ กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 1-3% ซึ่งเป็นทั้งเป้าหมายของนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายนโยบายการเงินของปี 2566

รมว.คลัง ย้ำว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้หารือร่วมกันถึงแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังให้สอดคล้องกัน ซึ่งในแผนการคลังระยะปานกลาง (2567-2570) นั้น ทั้ง 2 หน่วยงานจะเพิ่มช่วงการหารือร่วมกันให้มากยิ่งขึ้นอีก

ทั้งนี้ นายอาคม และ นายพรชัย ฐีระเวช ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะ “โฆษกกระทรวงการคลัง” ต่างยอมรับว่า โอกาสที่การจัดทำงบประมาณสมดุลจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ แต่ก็มีแนวโน้มดีทางการไทยจะจัดทำงบประมาณแบบสมดุลได้ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม หากดูตัวเลขประมาณในช่วงปี 2566 – 2570 แล้ว เชื่อว่าทุกฝ่ายคงจะมองเห็นภาพอนาคตของเศรษฐกิจไทย

โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญและถูกประมาณการเอาไว้อย่างน่าสนใจ อาทิ ตัวเลขจีดีพี ซึ่งกระทรวงการคลังประเมินว่า จีดีพีในปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ 3.5%, ปี 2567 ขยายตัว 3.8%, ปี 2568 ขยายตัว 3.4%, ปี 2569 ขยายตัว 3.4%, ปี 2570 ขยายตัว 3.3% และปี 2571 ซึ่งบางส่วนจะถูกนำมาประเมินรวมกับปีงบประมาณ 2570 คาดว่าจะขยายตัวที่ 3.3% เช่นกัน

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขอื่นๆ ที่น่าสนใจ กล่าวคือ รายได้รัฐบาล งบประมาณรายจ่ายประจำปี ดุลการคลัง รวมถึงหนี้สาธารณะ ที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องตลอดแผนการคลังระยะปานกลาง (ดูตารางประกอบ)

“ที่แนวโน้มดุลการคลังดีขึ้น แม้จะมีการจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี นั่นเพราะเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มจะขยายตัว รายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าในปีหน้า จะมีนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 21 ล้านคน ประกอบกับหน่วยงานจัดเก็บภาษีเองก็จะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้รายได้ของประเทศมีเพิ่มขึ้นอย่างเพียงพอ ตามการขยายตัวของจีดีพี และเพียงพอต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี” โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวเสริม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password