ปธ.ชวนชี้! หาก 2 สภาฯตีตก ร่างกม.กยศ. ต้องกลับไปใช้ กม.ใหม่

ประธานฯชวน หลีกภัย ชี้! ร่างกม.เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่ผ่านความเห็นชอบของวุฒิสภา หากสภาผู้แทนฯเห็นต่าง ต้องตั้งกมธ.ร่วมเสนอรัฐสภา ระบุหาก 2 สภาตีตก กยศ.ต้องกลับไปใช้กฎหมายเก่า ด้านปลัดคลัง ในฐานะ ประธานบอร์ด กยศ.ลั่น! ต้องการสร้างโอกาสการศึกษาให้เด็กไทย ไม่หวังค้ากำไรจากดอกเบี้ยและค่าปรับ ขณะที่ ผจก.กยศ ระบุ ไม่เกิน 3 เดือนรู้ผล ว่าต้องชงของบประมาณหลวงหรือไม่

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงร่างพระราชบัญญัติเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่…) พ.ศ. ที่ผ่านการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการให้ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) คงการจัดเก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 ค่าปรับร้อยละ 0.5 ว่า จากนี้เรื่องดังกล่าวจะถูกส่งกลับมาพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร หากเห็นชอบตามวุฒิสภา เรื่องจะส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้กฎหมายในโอกาสต่อไป ในทางกลับกัน หากสภาผู้แทนราษฎรเห็นต่างจากวุฒิสภา ก็จะต้องตั้งคณะกรรมธิการร่วมขึ้นมาพิจารณา และเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภา (2 สภาฯ) ต่อไป หากที่ประชุมมีมติไม่เห็นชอบ กฎหมายก็จะตกไป และต้องกลับไปใช้กฎหมายเก่า

ด้าน นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการ กยศ. กล่าวเสริมว่า ไม่ว่าผลการประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติออกมาเช่นใด จะไม่กระทบต่อการดำเนินงานของ กยศ. เพราะไม่ได้ตั้งเป้าหารายได้จากดอกเบี้ยและค่าปรับ แต่ต้องการส่งเสริมและสร้างโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน

ขณะที่ นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการ กยศ. กล่าวว่า หากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภาเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้ คาดว่าในอีก 3-4 เดือนหลังจากนั้น  จึงจะสามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาได้ว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ หากการพิจารณาไม่เป็นคุณกับ กยศ. เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อการให้กู้ยืมกับนักเรียนนักศึกษาในรุ่นต่อไป โดยเฉพาะในปีการศึกษา 2567 อย่างไรก็ตาม โดยหลักการแล้ว กยศ.สามารถจะทำเรื่องของบประมาณจากรัฐบาล เพื่อนำมาปล่อยกู้ให้กับนักเรียนนักศึกษาได้ ส่วนจะเป็นงบประมาณเท่าใด คงต้องรอพิจารณาตัวเลขที่เหมาะสมต่อไป

โดยหลักการแล้ว กยศ.คำนึงถึงวินัยการเงินการคลังเป็นหลัก และอยากให้น้องๆ นักเรียนนักศึกษาให้ความสำคัญต่อความรับผิดชอบในการชำระคืนหนี้กองทุนฯ โดยปัจจุบัน มีนักเรียนนักศึกษาที่อยู่ในระบบกู้ยืมเงินราว 3.5 ล้านคน มีวงเงินสินเชื่อราว 4 แสนคน และมีหนี้เสียราว 90,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 61

ผจก. กยศ. ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมา กยศ.ได้รับการชำระคืนหนี้ในอัตราเฉลี่ยปีละ 30,000 ล้านบาท และใช้เงินของ กยศ.อีกราว 10,000 ล้านบาท สำหรับนำไปปล่อยกู้เพื่อการศึกษาในแต่ละปีที่ราว 40,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ ทำให้การชำระหนี้มีอัตราที่ลดลง โดยในส่วนของการหักจากเงินเดือนไม่มีปัญหาอะไร แต่ในส่วนของภาคสมัครใจ พบว่าลดลงราวร้อยละ 28

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เดิม กยศ.จัดเก็บอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 2 และคิดอัตราเบี้ยปรับที่ร้อยละ 7.5 ทั้งนี้ หากต้องกลับไปใช้กฎหมายฉบับเดิม ก็จะต้องขึ้นกับการพิจารณาถึงความเหมาะสมของ กยศ. ที่ปัจจุบัน กยศ.จัดเก็บอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 และค่าปรับร้อยละ 0.5 หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

สำหรับพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ของ กยศ. นั้น พบว่า สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน ที่มีอัตราชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรก จาก 131 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง กยศ. ได้มอบโล่ฯดังกล่าว เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจแก่สถานศึกษา ในการบ่มเพาะผู้กู้ยืมให้มีวินัยทางการเงิน และมีความรับผิดชอบชำระหนี้กองทุนฯ โดยจัดอันดับรายชื่อสถานศึกษาที่มีอัตราชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรก ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยพะเยา 2. มหาวิทยาลัยศิลปากร 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 4. มหาวิทยาลัยนเรศวร 5. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6. มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 7. มหาวิทยาลัยมหิดล 8.มหาวิทยาลัย สงขลานครินทร์ 9. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 10. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 11. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 

12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ 13. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 14. สถาบัน

เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 15. มหาวิทยาลัยบูรพา 16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 17. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 18. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 19. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 20. มหาวิทยาลัยขอนแก่น 21. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย  22. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 23. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ 24. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร และ 25. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

ทั้งนี้ การชำระหนี้ดังกล่าวส่งผลให้ กยศ. ได้รับชำระเงินคืนกลับมาหมุนเวียนส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาต่อไป ปัจจุบัน กยศ. ให้กู้ยืมไปแล้วจำนวนกว่า 6.4 ล้านราย รวม 7 แสนล้านบาท ซึ่งในแต่ละปีการศึกษา มีผู้กู้ยืมกว่า 6 แสนราย มีสถานศึกษาดำเนินงานร่วมกับกองทุนกว่า 4,000 แห่ง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password