เวทีประชุม APEC 2022 ‘ไทย-จีน’ ร่วมผลักดันการพัฒนาระดับโลก

บทบาทของประเทศไทย ในฐานะ เจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 (Asia-Pacific Economic Cooperation) ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565  ได้ถูกจับจ้องจากชาติสมาชิกและชาติที่ไม่ใช่สมาชิกของ APEC ว่าที่สุดแล้ว…รัฐบาลไทย ในฐานะ “ผู้จัดการประชุมฯ” จะสามารถนำพาชาติสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ ไปสู่การสร้างความร่วมมือในมิติใดบ้าง นอกเหนือจากมิติทางเศรษฐกิจ

โดยเฉพาะการดึงเอาความร่วมมือและศักยภาพของชาติสมาชิกบางประเทศ ซึ่งจัดว่าเป็นพี่ใหญ่ในกลุ่มฯ เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน มาร่วมพัฒนาและผลักดันให้ APEC และโลก ได้ก้าวไปสู่เป้าหมายและความมุ่งหวัง สอดรับกับเนื้อหาหลักของการจัดการประชุมในครั้งนี้ นั่นคือ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” 

ภูวนารถ ณ สงขลา
นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน

คำถามข้างต้น ภูวนารถ ณ สงขลา นายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน ได้สะท้อนมุมมองของเขาผ่านบทความที่ชื่อ “การประชุม APEC 2022 Thailand ไทยและจีน ร่วมผลักดันการพัฒนาระดับโลก” ซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมาก โดยเขามองว่า…

การประชุม APEC ถือเป็นเวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญระดับโลก เพราะวัตถุประสงค์หลักที่มีมาตลอด คือการส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุนเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยในเรื่องของความร่วมมือทางสังคมและการพัฒนาด้านอื่น ๆ

ที่สำคัญ การประชุม APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่สำคัญของโลก ซึ่งสามารถที่จะกล่าวได้ว่าครอบคลุมเศรษฐกิจโลกในภาพรวมเลยก็ว่าได้ เพราะครอบคลุมประชากรมากกว่า 3 พันล้านคน หรือคิดเป็น 38% ของประชากรของทั้งโลก ทำให้ในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้ซึ่งได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก และเหตุความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน จนวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจโลกในปีหน้า คือปี 2023 มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ด้วยเหตุนี้เองการจัดประชุม APEC ในปีนี้ โดยมีประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม สุดยอดผู้นำเอเปค ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายนนี้  จึงมีความสำคัญเนื่องจากถูกมองและคาดหวังว่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลกในการรับมือกับความเสี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า และความรุดหน้าในการพัฒนาโลกในด้านต่างๆ อาทิ การรับมือกับภาวะเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ การดูแลทรัพยากรธรรมชาติในระดับสากล เป็นต้น

และหากมองในมุมของประเทศไทย ซึ่งมีฐานะเป็นประเทศเจ้าภาพในปีนี้ ในภาพรวมของเศรษฐกิจไทย ต้องยอมรับว่า แม้จะเริ่มมีทิศทางของการฟื้นตัวขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้กลับไปแข็งแรงเท่ากับเศรษฐกิจในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด ความคาดหวังในการฟื้นตัวยังฝากไว้กับปี 2023 และปี 2024 แต่ปัจจัยที่สร้างความกังวลที่ยังกดดันคือ ภาวะเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะฟื้นตัวได้ดีเพียงใด จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในระดับใ

ด้วยเหตุนี้ ทุกภาคส่วนของประเทศไทย จึงมุ่งหวังให้การประชุม APEC 2022 Thailand ครั้งนี้ บรรลุวัตถุประสงค์ในการสร้างความร่วมมือกันของ 21 เขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ สามารถสร้างกำลังซื้อให้กับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม และสร้างกำลังซื้อในระดับทวิภาคีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้ทุกประเทศได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ การส่งออก และการท่องเที่ยว จะได้กลับมาแข็งแรง และฟื้นตัวไปสู่ช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

อีกประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ นอกจาก APEC จะสามารถช่วยสร้างกำลังซื้อได้อย่างมหาศาล โดยจะเห็นได้จากมูลค่าการค้าระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้น เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลกแล้ว ความร่วมมือกันของ APEC ยังก่อให้เกิดการลงทุนระหว่างประเทศร่วมกันอีกด้วย โดยตัวเลขมูลค่าการลงทุนระหว่างประเทศภายในกลุ่มสมาชิก APEC นั้นมีระดับที่สูงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ก่อนที่จะเกิดวิกฤตโควิด – 19 ซึ่งหากการประชุมความร่วมมือสามารถที่จะกระตุ้นการลงทุนให้ฟื้นตัวกลับมาเป็นภาวะปกติได้ ก็ยิ่งจะเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ซึ่งหมายความว่าทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยต่างล้วนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่า บรรดาประเทศที่มีบทบาทนำทางด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ที่สำคัญในการที่จะช่วยผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ประเทศจีน เป็นหนึ่งในประเทศแถวหน้าของโลกในยุคปัจจุบันที่มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ และมีขนาดเศรษฐกิจในระดับที่มีความสำคัญต่อโลก การที่ประเทศจีนให้ความสำคัญและร่วมผลักดันความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจผ่านการประชุม APEC จะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง และมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของการประชุม APEC ครั้งนี้

ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ที่ประเทศจีนและประเทศไทย มีความสัมพันธุ์ที่แน่นแฟ้นยาวนาน ดังคำกล่าวที่ว่า “ชาติจีนและชาติไทย มิใช่อื่นไกล พี่น้องกัน” ดังนั้น การที่ประเทศจีนและประเทศไทย จะร่วมมือกันในด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว รวมทั้งขยายความร่วมมือเพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน ด้านการขนส่งทางราง การร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน ปัญหาเรือนกระจก ปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอน ก็จะยิ่งเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับ Ecosystem หรือ ระบบนิเวศที่สิ่งต่างๆ ในระบบมีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงและเกื้อกูลซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี และยังสามารถที่จะพัฒนาไปสู่ระบบนิเวศทางธุรกิจ (Business Ecosystem) ที่เป็นการร่วมมือทางธุรกิจระหว่าง 2 ประเทศได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในประเทศหลักของกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งเขตเศรษฐกิจอาเซียนก็ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญ และจะยิ่งทวีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือกันพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีนและอาเซียน ก็จะยิ่งช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับเศรษฐกิจโลกในปีหน้า และในอนาคตได้เป็นอย่างดี

โดยความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจีนกับประเทศไทย รวมไปถึงความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนทั้งหมด จึงถือเป็นบทบาทสำคัญอย่างมาก และมีผลอย่างยิ่งต่อทิศทางในการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม ในระดับโลก โดยเฉพาะปัจจัยที่เป็นจุดแข็งของทางประเทศจีน

อาทิ การแก้ไขปัญหาความยากจน การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งรวมไปถึงเป้าหมายในการพัฒนาอวกาศของจีน ตลอดจนแนวคิดริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ประเทศจีนสามารถสร้างความร่วมมือให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (ESG)ต่อโลกในอนาคตได้เป็นอย่างดีอีกด้วย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password