แนะพัฒนา ‘กำลังคนทักษะอนาคต’ รับกระแสโลกใหม่ ชู PIM ตัวอย่างสอน นศ.รุ่นใหม่หารายได้ระหว่างเรียน

ดร.เอนก แนะ สอวช. เร่งสกัดแผนพัฒนากำลังคน ผสานบริบทไทยกับทฤษฎีสากล เชื่อ! สู้ต่างชาติได้แน ในยุคที่โลกเปลี่ยนเร็ว ยก “ปัญญาภิวัฒน์” ตัวอย่างสถาบันการศึกษาสอนเด็กฝึกปฏิบัติจริง สร้างรายได้ตั้งแต่ยังเรียน ด้าน ผอ.สวอช. แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการฯ ระบุ! โลกเปลี่ยนแรงและเร็ว ความต้องการแรงงานในงานแห่งอนาคต จำเป็นที่ระบบการศึกษาไทยต้องเร่งปรับตัว พร้อมยกตัวอย่างสาขาอาชีพที่โลกยุคใหม่ต้องการ

ในการประชุม คณะกรรมการอํานวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 6/2565 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา โดยมี ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจและเกิดขึ้นจากการรายงานในที่ประชุมฯ โดยเฉพาะ ประเด็นมาตรการพัฒนากำลังคนทักษะอนาคต ที่ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. อ้างถึง ผลสำรวจของ World Economic Forum (ปี ค.ศ. 2020) ว่า สถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อระบบพัฒนากำลังคนและการจ้างงาน ก่อให้เกิดความต้องการแรงงานในงานแห่งอนาคต ที่จำเป็นต้องได้รับการพัฒนา อาทิ นักวิเคราะห์ข้อมูลและนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Analysts and Scientists), ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์และการเรียนรู้ของเครื่องจักร (AI and Machine Learning Specialists), ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Specialists), ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและกลยุทธ์ดิจิทัล (Digital Marketing and Strategy Specialists) ฯลฯ

นอกจากนี้ ผลสำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสาหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ระหว่างปี พ.ศ. 2563 – 2567 จากภาคเอกชน พบว่า 5 อับดับอุตสาหกรรมที่มีความต้องการอาชีพที่มีความต้องการสูง (Premium Job) ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมดิจิทัล 2. อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต 3.อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต 4. อุตสาหกรรมพลังงานชีวมวลและชีวเคมี และ 5. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.

สำหรับสถานการณ์ด้านกำลังคนของประเทศไทยนั้น ผู้อำนวยการ สอวช. ระบุว่า มีความท้าทายในเรื่องจำนวนแรงงานบางสาขา ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักลงทุน เช่น สาขาดิจิทัล สาขาบริการทางการแพทย์และสุขภาพ สาขาปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ ขณะเดียวกัน แพลตฟอร์มการพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับการลงทุนในระยะยาวยังมีอยู่อย่างจำกัด และไม่ทันต่อความต้องการ สอวช. จึงได้จัดทำโมเดลรูปแบบใหม่ในการพัฒนากำลังคนในปัจจุบัน ประกอบด้วย

1) การจับคู่จ้างงานระหว่างผู้ต้องการทำงานกับภาคเอกชนหรือนายจ้าง ซึ่งภาคเอกชนหรือนายจ้างมีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตร

2) การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่ก้าวข้ามข้อจากัดด้านเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อผลิตกาลังคนทักษะสูงที่ตอบโจทย์ประเทศ และสร้างนวัตกรรมการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox)

3) ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างและยกระดับความสามารถของผู้เชี่ยวชาญ ในการแก้ปัญหาและพัฒนางานวิจัยในภาคการผลิตและบริการ

และ 4) การพัฒนาแพลตฟอร์มทักษะอนาคตให้ทุกคนเข้าถึงได้

โดยได้มีการ ขึ้นรูปแพลตฟอร์มรองรับความต้องการจากภาคอุตสาหกรรม มาตรการ Thailand Plus Package  เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีทักษะสูงทางด้านสะเต็มและส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูงสะเต็ม ด้วย โดย บริษัทที่ส่งลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจาก อว. สามารถนำค่าใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ 250% ส่วน บริษัทในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จ้างพนักงานใหม่ด้านสะเต็ม สามารถนำค่าจ้างพนักงานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ 150%

ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวอีกว่า จากการหารือล่าสุดระหว่าง สอวช.กับกรมสรรพากร มีข้อสรุปว่าจะขยายระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามมาตรการข้างต้นต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 ปี ขณะเดียวกัน สอวช. ยังได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัท ไอริส คอนซัลติ้ง จำกัด (ไบร์ทเทอร์บี) ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม BrighterBee Talent Solution ที่จะเปิดให้นักศึกษา 2 ล้านคนเรียนฟรี ในหลักสูตรทั้งด้าน Hard skill และ Soft skill รวมกว่า 250 หลักสูตร ซึ่งสามารถต่อยอดจับคู่สถานประกอบการและได้งานทันทีหลังเรียนจบ

ดร.กิติพงค์ ยังได้เสนอต่อที่ประชุมฯ ถึงกรอบมาตรการการพัฒนากำลังคนทักษะแห่งอนาคตเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า ครอบคลุม 6 หัวข้อหลัก ได้แก่

1.แพลตฟอร์มทักษะอนาคต (Skill Future Platform) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ถึงความต้องการ การประเมินผล โปรแกรมการอบรม รวมถึงการจับคู่การจ้างงาน

2.บัญชีทักษะอนาคต (Skill Future Account) แนวทางการนำกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Wallet มาใช้

 3.ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ (National Credit Bank) ทีจะเชื่อมโยงกับสถานศึกษาและหน่วยฝึกอบรมทั้งรัฐและเอกชน เชื่อมโยงไปถึงการเข้าสู่เส้นทางอาชีพของบัณฑิต

4. การปรับเปลี่ยนรูปแบบของมหาวิทยาลัย (University Transformation) ผ่านการพัฒนามาตรฐานหลักสูตร จัดทำหลักสูตรที่แตกต่างไปจากมาตรฐานเดิม และมีการทำงานควบคู่ไปกับการเรียนด้วย

5. กำลังคนศักยภาพสูงของไทย (Talent Thailand) มีการจัดทำคลังรวบรวมกลุ่มที่มีศักยภาพสูง และ

6. สิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจ (Incentive) ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนด้านการเงิน

ขณะที่ รมว. อว. กล่าวว่า การพัฒนากำลังคนเพื่อรองรับบริบทโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในส่วนของบริบทของประเทศไทยอยากให้คิดนอกกรอบและเสริมทักษะในส่วนของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry), เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ครอบคลุมถึงการพัฒนากำลังคนด้านศิลปะ สุนทรียะ กีฬา การท่องเที่ยว การแพทย์ รวมถึงการพัฒนากำลังคนในกลุ่มผู้สูงอายุ ที่จะเป็นสัดส่วนประชากรสำคัญของไทย ต้องดึงคนเหล่านี้เข้ามาเป็นกำลังของประเทศ สร้างรายได้เข้าประเทศ นอกจากนี้ ยังแนะให้เห็นถึงการปรับบทบาท ปรับกระบวนทัศน์ ปรับวิธีคิดของนักศึกษาและมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยจะต้องปรับรูปแบบเป็นมหาวิทยาลัยของบริษัทหรือองค์กร (Corporate University) มากขึ้น เช่น แนวทางการจัดการศึกษาในสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ ทำงานจริงในระหว่างเรียน และสามารถหารายได้ได้ตั้งแต่ยังเรียนอยู่

นอกจากนี้ ดร.เอนก ได้มอบหมายให้ สอวช. จัดทำแผนพัฒนากำลังคนที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเสนอให้ สกัดแผนให้เข้ากับบริบทไทยผสมผสานกับแนวทางจากต่างชาติ ค้นหาในส่วนที่เป็นจุดแข็งของเรา ให้รู้ว่าเราเก่งในด้านไหน เก่งเพราะอะไร เพื่อเสริมตาน้ำให้แข็งแกร่งขึ้น หรือมองหาสิ่งที่เรายังขาดเพื่อเติมเต็มในจุดนั้น ให้ได้เป็นแผนพัฒนากำลังคนที่มีความเข้มแข็ง เห็นแนวทางการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถยกระดับการพัฒนากำลังคนของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password