เดินหน้าต่อไม่รอแล้ว! ธนารักษ์ลุยเซ็นสัญญาดันโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี

ธนารักษ์นัดวงศ์สยามก่อสร้าง เซ็นสัญญาเดินหน้าโครงการท่อส่งน้ำอีอีซี หลังศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง ระบุ! รัฐมีรายได้ทันทีจาก 3 แหล่ง “ค่าแรกเข้า – ผลประโยชน์ตอบแทนราย – ส่วนแบ่งรายได้รายปี” รวมกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ด้าน บิ๊กวงศ์สยามก่อสร้าง ระบุ! งานนี้ไม่มีใบสั่ง หากไม่เร่งเดินหน้าเอกชนอาจเสียหายได้

ภายหลังจากที่ ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่ง “ยกเลิก” คำสั่งทุเลาการบังคับการดำเนินการตามประกาศเชิญชวนเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกฯ ของศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2565 เป็นผลให้กรมธนารักษ์เดินหน้าเซ็นสัญญาโครงการบริหารและดำเนินการกิจการระบบท่อส่งน้ำภาคตะวันออกกับ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ผู้รับสัมปทานบริหารระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก  

โดยในวันรุ่งขึ้น (23 กันยายน) นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมธนารักษ์ พร้อมด้วย นายอนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด ได้ลงนามเซ็นสัญญาเดินหน้าโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ ให้เหตุผลอยู่ใน “สรุปรายละเอียด” (Fact Sheet) โครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ดังนี้

สืบเนื่องจาก คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 เห็นชอบแนวทางการจัดให้เอกชนเช่า/บริหาร ระบบท่อส่งน้ำสายหลักภาคตะวันออก ตามรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการที่กรมธนารักษ์เสนอ โดยการคัดเลือกเอกชนให้ใช้วิธีการคัดเลือก จำนวน 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย, โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล – หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ – แหลมฉบัง (ระยะที่ 2)

กรมธนารักษ์ในฐานะหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนเพื่อบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกทั้ง 3 โครงการ ตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 กฎกระทรวงการจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2564 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการคัดเลือกเอกชนเพื่อจัดหาประโยชน์ที่ราชพัสดุที่มีราคาเกินห้าร้อยล้านบาท พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ดังนี้

1. สามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำของชุมชนและกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเพียงพอและทันต่อการณ์ 2. เพื่อให้เกิดเสถียรภาพและความมั่นคงที่มีผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคตะวันออก และ 3. กระทรวงการคลังได้รับผลประโยชน์ตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรม

โดยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 คณะกรรมการที่ราชพัสดุได้มีมติเห็นชอบให้ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้บริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออกดังกล่าว โดยให้สิทธิการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก มีกำหนดระยะเวลา 30 ปี

บริษัทฯ ต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่กรมธนารักษ์ตลอดอายุสัญญา ดังนี้

1. ค่าแรกเข้าเพื่อทำสัญญา เป็นเงิน 1,450 ล้านบาท 2. ผลประโยชน์ตอบแทนรายปี (Fixed Fee) ปีแรกชำระในวันที่ลงนามในสัญญา เป็นเงิน 44.64 ล้านบาท รวมตลอดอายุสัญญาเป็นเงิน 2,908.03 ล้านบาท และ 3. ส่วนแบ่งรายได้รายปี (Revenue Sharing) จากการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ในอัตราร้อยละ 27 ต่อปี ของรายได้รวมก่อนหักค่าใช้จ่ายทุกปีตลอดอายุสัญญา รวมเป็นเงิน 21,335.19 ล้านบาท

ด้าน กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ระบุว่า การประมูลโครงการนี้เป็นไปตามขั้นตอน และระเบียบราชการ อย่างโปร่งใส ชัดเจน และรัฐได้ประโยชน์สูงสุด เมื่อศาลปกครองกลาง มีคำสั่ง เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2565 ให้ระงับการลงนามสัญญาโครงการไว้ชั่วคราวนั้น จึงเป็นเพียงการเลื่อนการลงนามสัญญาโครงการออกไปก่อน เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่ง “ยกเลิก” คำสั่งฯของศาลปกครอง จำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องเดินหน้าโครงการต่อไป เพื่อไม่ให้รัฐเสียหายจากผลประโยชน์ที่จะได้รับ

อนุฤทธิ์ เกิดสินธ์ชัย
กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด

ทั้งนี้ หากกรมธนารักษ์ยังให้บริษัทเดิม ครอบครองใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินของแผ่นดินต่อไปโดยจ่ายค่าตอบแทนแบบเดิม อาจจะมีข้อครหาจากประเด็นดังกล่าวได้ว่าเป็นการให้ใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายแก่หน่วยงานรัฐและเอื้อประโยชน์ต่ออีสต์วอเตอร์ซึ่งเป็นผู้แพ้ประมูล  ในเมื่อสัญญาใหม่ อีสต์วอเตอร์จ่ายส่วนแบ่งให้รัฐเพียงร้อยละ 1 ต่อปี ขณะที่วงษ์สยามฯ จ่ายให้รัฐร้อยละ 27 ต่อปี

“เมื่อบริษัทฯเป็นผู้ได้รับสิทธิบริหารโครงการนี้ โดยทางกรมธนารักษ์ มีหนังสือแจ้งกำหนดวันลงนาม และให้บริษัทเพื่อชำระตามสัญญา 2 ครั้ง ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการครบถ้วนทุกประการ หากนับระยะเวลาตั้งแต่ วันที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบเมื่อเดือนมีนาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน  หากไม่เป็นไปตามกรอบเวลาที่กรมธนารักษ์กำหนด อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทฯ จนไม่อาจเยียวยาได้ จึงขอย้ำว่าไม่มีใครสั่งการ เร่งรัดลงนามสัญญา แต่เป็นไปตามขั้นตอนที่ถูกต้องชอบธรรมและศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลชั้นต้นแล้ว” นายอนุฤทธิ์ ย้ำหนักแน่น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password