บันไดกวี จุดประกายฝัน ปั้นนักกวีรุ่นใหม่

ซีพี ออลล์ร่วมกับคณะกรรมการโครงการหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ได้จัดค่าย “โครงการบันไดกวี รุ่นที่ 6” เพื่อส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาเยาวชนได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ด้านการอ่านและการเขียนให้มีศักยภาพ และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์

ในยุคที่สื่อออนไลน์มีอิทธิพลและบทบาทมากขึ้น คนรุ่นใหม่เปลี่ยนพฤติกรรมการอ่านการเขียนจากกระดาษไปสู่หน้าจอ ทำให้เกิดช่องทางใหม่ในการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ ที่เผยแพร่ได้อย่างรวดเร็วและเข้าถึงผู้คนได้เป็นจำนวนมากมีการเพิ่มอรรถรสแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่เปิดกว้างหลากหลาย และผู้เสพสามารถแสดงความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์เพื่อวิจารณ์ได้อย่างอิสระ บมจ.ซีพี ออลล์ ร่วมกับคณะกรรมการโครงการหนังสือดีเด่นรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ได้จัดค่าย “โครงการบันไดกวี รุ่นที่ 6” เพื่อส่งเสริมการศึกษาและพัฒนาเยาวชนได้เพิ่มพูนความรู้ ประสบการณ์ด้านการอ่านและการเขียน ให้มีศักยภาพ และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์

ประสิทธิ์ ฉกาจธรรม

นายประสิทธิ์ ฉกาจธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า ค่าย “บันไดกวี” เป็นกิจกรรมส่งเสริมการเขียนการอ่านการเรียนรู้ของซีพี ออลล์ ในการส่งเสริมการศึกษาพัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่อง ตามปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์ และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดโอกาสเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและครูอาจารย์เข้าใจรูปแบบฉันทลักษณ์ ของกวีนิพนธ์ไทย มีความสามารถในการสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ที่มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ สามารถสร้างผลงานกวีนิพนธ์ที่ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ อีกทั้งต้องการส่งเสริมให้ครูอาจารย์มีความรู้ความเข้าใจและมีเทคนิคพิเศษในการจัดการเรียนการสอนฉันทลักษณ์ของกวีนิพนธ์ไทย

ชมัยภร แสงกระจ่าง

วิทยากรในโครงการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิระดับประเทศ อาทิ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ , สถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์, ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ , รศ.ดร.ธัญญา สังขพันธานนท์ (ไพฑูรย์ ธัญญา) ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์และนักเขียนรางวัลซีไรต์ , ศักดิ์สิริ มีสมสืบ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์และกวีซีไรต์, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ กวีซีไรต์และศิลปินศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ ร่วมด้วยพินิจ นิลรัตน์ อุปนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

ชมัยภร แสงกระจ่าง ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ กล่าวถึงเสน่ห์ของบทกวีว่า บทประพันธ์ของบ้านเรา คือ มีฉันทลักษณ์เป็นของตัวเอง มีจังหวะ มีคำ มีภาพ มีเสียง ที่มีลักษณะเฉพาะ คือเสียงของภาษาของเรามีเสียงขึ้นลงขึ้นลงแตกต่างจากชาติอื่นอยู่แล้ว ในขณะเดียวกันยังมีกรอบประพันธ์ที่มีท่วงทำนอง มีลีลาที่ไม่เหมือนใคร เวลาประมวลรวมกันเป็นงานฉันทลักษณ์ประเภทใด ประเภทหนึ่งแล้วจะมีความงดงาม มีคำ ภาพ เสียง ที่สวยงามมาก

นอกจากนี้ยังมีช่วงพิเศษ คุยกับกวีน้อย ลูกหมู “หทัยรัตน์ จตุรวัฒนา” นามปากกา “รินศรัทธา กาญจนวตี” เด็กสาวที่ใช้หัวใจแทนดวงตา ใช้ถ้อยคำอธิบายภาพที่เห็นในใจผ่านบทกวี ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ” เจ้าของรางวัลชนะเลิศเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 16 ประเภทกวีนิพนธ์

เยาวชนและครูอาจารย์ที่มาเข้าค่ายจะได้รับการพัฒนางานเขียนด้านกวีนิพนธ์ในรูปแบบเวิร์คช็อปเข้มข้น นับเป็นการส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถพัฒนางานเขียนส่งผลงานเข้าประกวดเวทีต่างๆ และสร้างคนรุ่นใหม่สู่แวดวงวรรณกรรม ด้านกวีนิพนธ์มากขึ้น นอกจากการฝึกอบรมและลงมือปฏิบัติจริงแล้ว ผู้เข้ารับการอบรมยังได้สานสัมพันธ์กับเพื่อนต่างสถาบันและแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดผ่านการวิจารณ์ผลงาน อีกด้วย

นางสาวสุชญา มานิตยกุล ครูจากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ หนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมค่ายบันไดกวีกล่าวว่า บทกวี คือ การได้ถ่ายทอดเรื่องราวในส่วนที่เป็นอัตตาของตัวเอง ส่วนที่เป็นตัวตน ส่วนที่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างในตัวเราได้ถ่ายทอดออกมาให้คนอื่นๆ ได้รับรู้ว่าตัวตนของเราเป็นอย่างไร เพราะว่างานเขียนทุกงาน จะสอดแทรกตัวตนของผู้เขียนไปด้วย โดยส่วนตัวมีความสนใจในเรื่องราวประวัติศาสตร์ จึงอยากที่จะเขียนกลอน เขียนกวี หรือนวนิยายในแนวอิงประวัติศาสตร์ และคิดว่าโครงการนี้มีประโยชน์มาก

นายโภคิน คุณเจริญ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนมารีวิทย์ บ่อวิน จ.ชลบุรี นักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกให้ร่วมกิจกรรมค่ายบันไดกวีกล่าวว่า โดยพื้นฐาน การเขียน การอ่าน การพูด การฟัง ล้วนเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกันในสังคม โดยสิ่งเหล่านี้จะขาดไม่ได้ในการเชื่อมโยงไปถึงเทคโนโลยีการสื่อสาร สารสนเทศต่างๆ และการมาร่วมโครงการนี้ก็ช่วยในเรื่องนี้อย่างมาก ซึ่งเป็นการปรับพื้นฐานในการเขียนงาน ให้ออกมาดี แล้วเป็นพื้นฐานในการพัฒนาต่อยอดในงานเขียนชิ้นต่อๆ ไปได้

โครงการค่าย “บันไดกวี” เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน ในปีนี้ดำเนินการต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 6 ภายใต้นโยบายส่งเสริมการศึกษา พัฒนาเยาวชน ของซีพี ออลล์ มีผู้ผ่านการคัดเลือกให้เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 47 คน จำแนกเป็นเยาวชน 17 คน ครูอาจารย์ 30 คน

สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน-เขียน สามารถติดตามข่าวสารได้ที่ https://www.cpall.co.th/ และ https://www.csrcpall.com/…

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password