สสว. จับมือ สอวช.ยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรม SME

สสว. จับมือ สอวช. ลงนามความร่วมมือยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตก้าวกระโดดเป็น High-Growth Firm และต่อยอดโมเดลเศรษฐกิจ BCG สู่เป้าหมาย GHG Net Zero

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว. ) เปิดเผยภายหลังลงนามความร่วมมือกับ นายกิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในการยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรม และแนวทางการปรับใช้โมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (Bio-Circular-Green Economy: BCG) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ฉบับนี้ จะเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันประเทศให้ก้าวพ้นกับดักรายได้ปานกลางโดยอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญ

โดยเป็นการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อยกระดับศักยภาพด้านนวัตกรรมของ SME ให้เป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม หรือ Innovation-Driven Enterprise (IDE) และมีศักยภาพเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดและยั่งยืน (High-Growth) ผ่านการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้มีความเข้มแข็ง ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการการพัฒนาธุรกิจ BCG เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (GHG Net Zero) ภายในปี 2025 และสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจที่เกี่ยวข้องผ่านกลไกด้านการพัฒนาขีดความสามารถ แพลตฟอร์มความร่วมมือ การวิจัยและพัฒนา กฎระเบียบและแรงจูงใจทางการเงินการคลัง เครื่องมือการลงทุน รวมถึงการส่งเสริมการขายและการส่งออกอีกด้วย

นายกิติพงศ์ พร้อมวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนนี้จะตอบโจทย์เป้าหมายของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ในการเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมที่มีรายได้เกินกว่า 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย ภายในระยะเวลา 5 ปี และจากการที่ประเทศไทยได้ร่วมแสดงเจตนารมณ์ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ในการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ร่วมกับอีกกว่า 60 ประเทศทั่วโลก จึงต้องมีการส่งเสริมและต่อยอดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ซึ่งครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เป็นข้อได้เปรียบของประเทศไทยจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “พลิกโฉม SME สู่ Innovation-Driven Enterprise (IDE) ด้วย BCG Model” โดยมี นายกิติพงศ์ และนายวชิระ แก้วกอ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว. ) ร่วมเสวนากับตัวแทนผู้บริหารจากบริษัทยุคใหม่ที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ ได้แก่ นางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคม Global Compact Network Thailand นายธันยวัฒน์ ทั่งตระกูล ผู้บริหารบริษัทเครื่องหนังแบรนด์ “THAIS” และนางสาวไอยรีลดา จิรโชคชยานันทร์ ผู้บริหารโรงแรม The Motifs Eco Hotel

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password