สำรวจ ‘ความเป็นแม่’ เฉดสีใหม่ คุณค่าของ ‘ผู้หญิง’ ที่เกินกว่ากรอบ ‘จารีต’ เดิมๆ

“บทบาทแม่ที่ดีในครอบครัวเป็นอย่างไร”หลายคนคงตอบว่า การดูแลลูก (รวมถึงสามี) การจัดการงานบ้านต่างๆ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ฯลฯ คำตอบเหล่านี้ไม่ได้ผิด แต่นั่นก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด

ถ้าเล่นเกมถามปุ๊บตอบปั๊บ โดยมีคำถามว่า “บทบาทแม่ที่ดีในครอบครัวเป็นอย่างไร” หลายคนคงตอบว่า การดูแลลูก (รวมถึงสามี) การจัดการงานบ้านต่างๆ ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง ฯลฯ คำตอบเหล่านี้ไม่ได้ผิด แต่นั่นก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด เพราะในยุคสมัยนี้บทบาท “ความเป็นแม่” ได้ถูกตีความใหม่อย่างกว้าง และไปไกลเกินกว่าภาพจำเดิมๆ หรือการเหมารวมเฉกเช่นในอดีต ต้องยอมรับว่าความเป็นแม่ในอุดมคติที่สังคมไทยสร้างขึ้น ได้กดทับผู้หญิงให้ต้องแบกภาระตามที่สังคมคาดหวัง โดยเฉพาะในวันที่ผู้หญิงไม่สามารถปฏิเสธบทบาทหลักทางเศรษฐกิจได้ จำเป็นต้องหารายได้ช่วยประคองครอบครัว ทว่าเธอยังต้องสวมบทบาท “ความเป็นแม่” และ ความเป็นภรรยาที่ดี” ควบคู่กันไปด้วย เรียกได้ว่าสาหัสสากรรจ์เลยทีเดียว

สังคมคาดหวังว่าหน้าที่หลักในการดูแลลูกคือผู้หญิง แล้วก็ไปมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะมองว่าผู้หญิงคลอดลูก เธอมีความเป็นแม่ เพราะฉะนั้นงานบ้านหรืองานดูแลลูกก็ควรจะเป็นงานของเธอ” ผศ.ดร.ปณิธี สุขสมบูรณ์ บราวน์

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) อธิบายความคาดหวังเหล่านี้กลายเป็นทางเลือกให้ผู้หญิงต้องตัดสินใจ มีผู้หญิงจำนวนมากที่ลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกและทำงานบ้านอย่างเดียวผู้หญิงในกลุ่มนี้เห็นคุณค่าและเชิดชูความเป็นแม่ โดยยอมทำทุกอย่าง ทุ่มเททั้งชีวิตเพื่อดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

กระนั้นแม้ผู้หญิงจะยอมเสียสละทิ้งชีวิตทางสังคมและชีวิตการทำงานในการหารายได้ให้กับครอบครัว เพื่อมารับบทบาทแม่บ้านอย่างเต็มตัว แต่สังคมไทยกลับยังมองว่าการดูแลลูกและทำงานบ้านเป็นงานที่ไม่ค่อยมีคุณค่า เพราะไม่ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งสะท้อนทัศนคติที่ไม่ตระหนักถึงการใช้แรงงานของผู้หญิงที่ต้องใช้เวลาไปกับการทำงานบ้านและเลี้ยงดูลูกโดยไม่มีรายได้ และยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในมิติของความเป็นแม่ ผู้หญิงที่มีฐานะยากจน ต้องหาเช้ากินค่ำ คงไม่สามารถที่จะมารับบทบาทเป็นแม่บ้านได้อย่างเต็มตัว

สังคมชายเป็นใหญ่ ที่ระบุว่า อำนาจ ความรู้ และอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ ได้ประกอบสร้างความเป็นแม่ในพื้นที่ครัวเรือน ซึ่งทำให้ผู้หญิงมีความสำนึกรู้ ตลอดจนความเข้าใจโดยปราศจากข้อสงสัยและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงทำให้ผู้หญิงจะต้องเป็นแม่ไปตลอดชีวิต

ถ้าไปดูในอดีตผู้หญิงที่เป็นแม่บ้าน ไม่ได้มีรายได้ หรือไม่มีความรู้จะต้องอดทนอยู่กับสามีอดทนกับความเป็นแม่และความเป็นภรรยา เพราะถ้าเขาหย่าร้างไปแล้ว ทางเลือกของเขามีน้อย แต่เมื่อผู้หญิงมีการศึกษาและมีรายได้ของตัวเองทำให้ผู้หญิงมีทางเลือกมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าชีวิตคู่อยู่แล้วไม่มีความสุข ผู้หญิงก็เลือกที่จะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เหมือนที่เราเห็นได้ตามสื่อ หรือแม้กระทั่งดาราเองก็ตาม” ผศ.ดร.ปณิธี ระบุ

สภาพการณ์เหล่านี้นำมาสู่การเกิดขึ้นของ “แม่เลี้ยงเดี่ยว” ที่เพิ่มมากขึ้น ตามรายงานสถานการณ์ประชากรไทย ปี 2558 โดยกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวจากจำนวน 9.7 แสนครัวเรือนในปี 2530 เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านครัวเรือนในปี 2556 หรือคิดเป็น 41% ซึ่งในจำนวนนี้กว่า 80% เป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร (Parental leave) หรือก็คือการให้พ่อลางานเพื่อมาเลี้ยงลูก เริ่มแพร่หลายมากขึ้นแล้วในประเทศไทย เช่นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 ส.ค. 2565) เพจเฟซบุ๊ก Embassy of Sweden in Bangkok (สถานฑูตสวีเดน) ที่เผยถึงการให้พนักงานขับรถสามารถใช้สิทธิลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้เป็นพ่อได้เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งช่วยให้สังคมไม่คาดหวังให้เป็นหน้าที่ของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว

ผศ.ดร.ปณิธี

ผศ.ดร.ปณิธี บอกว่า ด้วยปัจจัยหลายอย่างนี้จึงควรนำมาสู่การตั้งคำถามเรื่อง ‘รูปแบบความเป็นแม่’ ในอนาคตว่าจะมีความหลากหลายมากขึ้น หรือจะมีตัวเลือกให้คนกลุ่มนี้ได้อย่างไร เช่นในบางประเทศ เช่นเนเธอร์แลนด์ ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับการรับบริจาคสเปิร์ม (Sperm Donation) เพื่อรองรับกรณีผู้หญิงอยากมีลูกแต่ไม่อยากมีสามี หรือเอื้อให้กับครอบครัวผู้มีเพศวิถีที่หลากหลายที่อยากจะมีลูก

วันข้างหน้าเป็นไปได้ไหมที่ครอบครัวหญิงรักหญิง ชายรักชายจะสามารถแสดงถึงความเป็นแม่ ที่อาจจะไปรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงหรือใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์เพื่อการมีบุตร แต่เขาสามารถทำหน้าที่ให้การดูแลลูกได้ดี เราไปยึดติดว่าคนจะเป็นแม่ได้จะต้องเป็นผู้ให้กำเนิด (Biological Mother) แต่ในแง่ของความเป็นแม่ (Mothering) และการให้การดูแล (Caring) ในชีวิตประจำวันมันจำเป็นไหมที่จะถูกผูกขาดด้วยผู้ที่เป็นแม่เราควรมองไปอีกในระยะยาวถึงความหลากหลายของครอบครัวที่จะมีมากขึ้น” ผศ.ดร.ปณิธี ระบุ

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวเสริมว่า การเคารพความแตกต่างและความเข้าใจในความหลากหลาย คือรากฐานสำคัญที่ มธ. ให้ความสำคัญและปลูกฝังให้กับนักศึกษามาโดยตลอด ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยขยายมุมมองในทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องครอบครัวที่ไม่ได้นิยามความสมบูรณ์เฉพาะแค่การมีพ่อ แม่ ลูก แต่การเป็นพ่อเลี้ยงเดี่ยว-แม่เลี้ยงเดี่ยว หรืออื่นๆ อีกหลายบทบาท ก็สามารถเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์แบบได้เช่นกัน

การที่เรามีรูปแบบครอบครัวที่ไม่เหมือนกับความคาดหวังของสังคมไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติ” รศ.เกศินี ระบุ

รศ.เกศินี ระบุอีกว่า มธ. ยังมีการส่งเสริมให้นักศึกษามองเห็นถึง “คุณค่าความเป็นแม่” ของผู้หญิงที่ต้องแบกรับภาระทำงานบ้านและดูแลลูกการส่งเสริมและสร้างให้นักศึกษามีทัศนคติเรื่องความเท่าเทียมทางเพศยังตรงกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ในข้อที่ 5 เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศและให้อำนาจของผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนด้วย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password