ต่อยอดเครือข่าย ‘ต้นกล้าไร้ถัง’ แนวคิด แยกวัสดุออกจากขยะ แก้ปม สวล.ที่ยั่งยืน

“ต้นกล้าไร้ถัง” โครงการที่ได้รับการต่อยอดจากแนวคิด “ลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง” ด้วยการจัดการกับปัญหาขยะให้จบที่ตัวเรา โดยไม่ต้องพึ่งใคร ซึ่ง “ครูต้อ” สุดารัตน์ สังฤทธิ์ ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็น “คุณครูต้นแบบ คุณแม่ต้นกล้า” ได้นำมาใช้ในการจัดการกับปัญหาขยะในโรงเรียนอนุบาลทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ด้วยการปลูกฝังให้เด็กนักเรียน ได้มีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะในโรงเรียน นับแต่ปี 2558 หรือเมื่อ 7 ปีก่อน

“ครูต้อ” สุดารัตน์ สังฤทธิ์ และ ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ (ภาพเล็ก)

“เราได้แนวคิดในการจัดการปัญหาขยะมาจากการเข้าร่วมและรับฟังการบรรยายของ ดร.ไพบูลย์ โพธิ์สุวรรณ ซึ่งเป็นต้นทางความคิดและแรงบันดาลใจจากแนวทาง “มิติใหม่ชุมชนไทยไร้ถัง” เมื่อครั้งที่ท่านและคณะเดินทางมาบรรยายถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปลายปีก่อน จนนำไปสู่แนวทาง “โรงเรียนไร้ถัง” กระทั่ง พัฒนาเป็นโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ที่ได้รับการสนับสนุนจากซีพี ออลล์ ในเวลาต่อมา…” ครูต้อ เท้าความแนวคิดแต่หนหลัง

สำหรับแนวทางการจัดการปัญหาขยะ ที่ “ครูต้อ” ได้นำร่อง…เอามาใช้ภายใน โรงเรียนอนุบาลทับสะแก จนสามารถลดปริมาณขยะจาก 15 ตัน เหลือ 2 กิโลกรัมต่อเดือน และได้รับรางวัลต่างๆ มากมายนั้น ได้กลายเป็น “ต้นแบบสำคัญ” ที่ ซีพี ออลล์ นำไปขยายผลผ่านโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” และได้จัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมลดปริมาณขยะภายในโรงเรียนของตัวเอง ภายใต้โครงการสานอนาคตการศึกษา CONNEXT ED ซึ่ง พี ออลล์ เป็น 1 ใน 12 บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ที่มีส่วนร่วมในการสร้าง “ผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน” กระทั่ง ปัจจุบันได้รับการต่อยอด จนมีบริษัทเอกชนเข้าร่วมโครงการ CONNEXT ED มากถึง 44 องค์กร

นับจาก รุ่นที่ 1 “นำร่อง” กับ 63 โรงเรียนในระดับประถมศึกษา ที่ได้เริ่มต้นเข้าร่วมโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” เมื่อช่วงปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงรุ่นที่ 2 ในปีต่อมา (ปลายปี 2564) อีก 90 โรงเรียน และได้รุ่นที่ 3/1 ในช่วงต้นปี 2565 อีก 243 โรงเรียน ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ซีพี ออลล์ ในลงนาม MOU กับพันธมิตร 10 องค์กร สร้างระบบนิเวศจัดการขยะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย นับแต่เป็นการต่อยอด “ภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง” เพื่อการจัดการกับปัญหาขยะ และดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

กระทั่งวันนี้…มีโรงเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาจากทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมโครงการฯแล้ว มากถึง 443 แห่ง นี่ยังไม่นับรวมชุมชนที่พักอาศัยที่อยู่รายรอบโรงเรียนเหล่านี้ ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดจากโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ผ่านลูกหลานที่ร่วมเป็นเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง อีกนับพันนับหมื่นคน

สุวิทย์ กิ่งแก้ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ที่ปรึกษาอาวุโสคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารออลล์ ออนไลน์ และเซเว่น อีเลฟเว่น กล่าวตอนหนึ่งระหว่างบรรยายพิเศษในหัวข้อ “สถานการณ์ขยะและสิ่งแวดล้อม กับแนวคิดนโยบายของ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน)” ว่า…แม้จะร่วมทำงานกับกลุ่ม ปตท. ในการจัดการปัญหาขยะ ผ่านการคัดแยกประเภทของขยะลงถังขยะสีต่างๆ กับร้านเซเว่น อีเลเว่น ที่ตั้งอยู่ในปั้มน้ำมัน ปตท. รวมถึงกับโครงการในลักษณะเดียวกันกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วพบว่า…ไม่ประสบผลสำเร็จอย่างที่คาดหวังไว้

นั่นจึงกลายเป็นกรอบนโยบายสำคัญที่กำหนดให้ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องกับโครงการ CONNEXT ED ในส่วนของ ซีพี ออลล์ ต้องหันมาสนใจและให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนระดับ “ประถมวัย” ในการจัดการกับปัญหาขยะนับจากวันนั้นเป็นต้นมา

นายสุวิทย์ ระบุว่า ความสำเร็จของ โรงเรียนอนุบาลทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการจัดการปัญหาขยะภายในโรงเรียน ผ่าน โครงการ  “ต้นกล้าไร้ถัง” กระทั่ง กลายเป็น “โรงเรียนต้นแบบ” ให้กับโรงเรียนอื่นๆ ในเวลาต่อมานั้น สอดรับกับแนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ ซีพี ออลล์ และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น โดยเฉพาะโครงการ 7 Go Green เพื่อสิ่งแวดล้อม 24 ชั่วโมง ในการ “ลด ละ เลิก” การใช้ถุงพลาสติก รวมถึงวัสดุอื่นๆ ในรูปแบบของภาชนะ เช่น ช้อน ส้อม ไม้คนกาแฟที่ทำจากพลาสติก ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคตอันใกล้ กระทั่ง สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้มาถึง 4.2 พันล้านใบ และลดค่าคาร์บอนได้มากถึง 356,108 ล้านตันคาร์บอนเทียบเท่า

จากนี้ไป ซีพี ออลล์ จะมุ่งเน้นให้โรงเรียนเครือข่ายโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ได้ดำเนินการปลูกไม้ยืนต้น เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์ ควบคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและจัดการกับปัญหาขยะ เพื่อสร้างความสะอาดภายในโรงเรียนอย่างยั่งยืนต่อไป

ด้าน นายตรีเทพ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ประธานคณะทำงานโครงการสานอนาคตการศึกษา (CONNEXT ED) บมจ.ซีพี ออลล์ ที่บรรยายพิเศษหัวข้อ “บทบาทภาคีเครือข่ายโรงเรียนต้นกล้าไร้ถัง” บนเวทีเดียวกัน กล่าวตอนหนึ่งเอาไว้อย่างน่าสนใจ ว่า ค่าเฉลี่ยที่เราทุกคนสร้างขยะในแต่ละวันราว 1.14 กิโลกรัมนั้น มีการจัดการขยะที่ถูกวิธีเพียง 39% นั่นก็หมายความว่าอีก 61% มีการจัดการขยะแบบไม่ถูกวิธี จำเป็นที่เราทุกคนจะต้องหันมาให้ความสำคัญและสนใจกับปัญหาขยะ โดยเริ่มจากตัวเราเอง ด้วยการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อสร้างเป้าหมายสูงสุดจากโรงเรียนไร้ถังสู่ชุมชนไร้ถัง โดยเริ่มจากห้องเรียนในโรงเรียน สู่บ้านพักอาศัยในแต่ละชุมชน โดยการ… 1.ลดการใช้ขยะรีไซเคิ้ล 2.จัดการคัดแยกวัสดุและขยะออกจากกัน และ 3.นำขยะจริงๆ ที่เหลือจากการคัดแยกวัสดุออกมาแล้ว นำไปทิ้งให้ถูกที่ถูกทาง ซึ่งนั่นจะกลายเป็น “วิถีต้นกล้าไร้ถัง” อย่างแท้จริง

ขณะที่ “ครูต้อ” สุดารัตน์ สังฤทธิ์ ในฐานะวิทยากรผู้มากประสบการณ์ ได้ขึ้นบรรยายบนเวทีเดียวกัน เพื่อบอกเล่าประสบการณ์ดีๆ ให้กับผู้เข้าร่วมสัมมนา ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ คนระดับ “ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ” ในเครือข่ายโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ที่จะนำแนวคิดดังกล่าว ไปกำหนดเป็นนโยบายและดำเนินงานในโรงเรียนที่ตัวเองรับผิดชอบ

“ครูต้อ” บอกในตอนหนึ่ง ว่า…แต่ละปี โรงเรียนอนุบาลทับสะแก สามารถผลิต “ต้นกล้า” (นักเรียนที่เรียนจบชั้น ป.6) ได้ปีละเกือบ 300 คน ซึ่งแต่ละคนจะกลายเป็น “ต้นแกร่ง” เมื่อเข้าไปเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา และจะกลายเป็น “ผู้นำ” ให้กับเพื่อนนักเรียนในการจัดการปัญหาขยะในโรงเรียน ด้วยการนำแนวทาง “ต้นกล้าไร้ถัง” ไปใช้กับโรงเรียนเหล่านั้น

และในอนาคต…เด็กนักเรียนเหล่านี้ รวมถึงนักเรียนในเครือข่ายโครงการ “ต้นกล้าไร้ถัง” ที่กระจายตัวไปทั่วประเทศ เมื่อเติบโต พวกเขาก็จะกลายเป็น “ต้นแก่” นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับ ไปปรับใช้ในสถาบัน, หน่วยงาน หรือองค์กรในระดับที่สูงกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นระดับมหาวิทยาลัย หรือการทำงานในองค์กรที่ตัวเองสังกัดต่อไป

“ครูต้อ” ย้ำว่า…การลดขยะต้องเริ่มจากการคัดแยกวัสดุออกจากขยะ และหาวิธีจัดการกับวัสดุเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งสามารถแยกออกเป็น วัสดุที่ย่อยสลายได้ และวัสดุรีไซเคิ้ล (นำไปผลิตและกลับมาใช้ใหม่) ขณะที่ ขยะเอง ยังสามารถแยกออกเป็น…ขยะที่ใช้ไม่ได้ ต้องนำไปทำลายหรือฝังกลบอย่างมิดชิด ขยะเป็นพิษ/อันตราย และ ขยะติดเชื้อ ซึ่งขยะ 2 อย่างหลังนั้น จะต้องส่งต่อให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงนำไปจำกัดอย่างถูกวิธี

“ปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ ปัญหาการจัดการขยะก็เช่นกัน จำไว้ว่า…เมื่อเราเจอทางตัน ก็ต้องหาทางออกให้เจอ เราต้องไม่เป็น “นักโทษ” โทษโน่น โทษนี่ โทษนั่น โทษดินฟ้าอากาศ โทษคนอื่นๆ แต่ต้องเป็นคนที่ลงมือทำ ทำให้เห็นและทำกันจริงๆ ซึ่งการจัดการกับวัสดุที่คัดแยกออกจากขยะนั้น ต้องให้ทำความสะอาดและจัดเก็บให้เป็นระบบ ตามแนวคิดที่ว่า “เปื้อนให้ล้าง…เปียกให้ตาก…ไม่ขายให้บริจาคหรือนำกลับมาใช้ใหม่” ซึ่งจะช่วยให้เราได้มีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะได้อย่างมากทีเดียว” ครูต้อ ย้ำ

พระราชวัชรบัณฑิต

ขณะที่ พระราชวัชรบัณฑิต (ประนอม ธมฺมาลงฺกาโร) เจ้าอาวาสวัดจากแดง ย่าน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นวัดที่มีบาทบาทสำคัญต่อการจัดการปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมตอนหนึ่ง ว่า ขยะไม่มีอยู่จริงหรือถึงมีก็น้อยมาก แต่ที่เราพบเห็นกัน มันถือวัสดุที่วางไม่ถูกที่หรือไม่ได้คัดแยกเท่านั้น หากมีการคัดแยกและจัดการอย่างเป็นระบบแล้ว ปัญหาขยะก็แทบจะไม่มี ในส่วนของวัดจากแดงเอง เราได้รับความอนุเคราะห์จากร้านเซเว่น อีเลฟเว่น จำนวน 28 สาขา ในพื้นที่ใกล้เคียงฯ โดยนำอาหารที่หมดอายุหรือใกล้จะหมดอายุมามอบให้ เพื่อให้ทางวัดฯได้นำไปบริหารจัดการต่อ ไม่ว่าจะเป็นการนำอาหารหรือวัตถุดิบสำหรับนำไปประกอบอาหารที่ยังไม่หมดอายุ ไปมอบต่อให้กับคนในชุมชน ส่วนที่หมดอายุ สามารถนำไปใช้เลี้ยงสัตว์ หรือนำไปผลิตเป็นปุ๋ยหมัก เพื่อใช้ในการเกษตรได้อีก

ก่อนหน้านั้น…ช่วงสายวันเดียวกัน ได้มีการพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) จาก 10 องค์กรภาคีเครือข่ายองค์กรพันธมิตรบริหารจัดการวัสดุรีไซเคิล และสร้างระบบนิเวศการจัดการขยะครบวงจรตั้งแต่ ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ ประกอบด้วยตัวแทนจากบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด (Unilever) บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด บริษัท ไทย เบเวอร์เรจ แคน จำกัด บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กลุ่มอำพลฟูดส์ (AMPOLFOOD Group) บริษัท สถานีรีไซเคิล วงษ์พาณิชย์สุวรรณภูมิ จำกัด บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด และ 10.วัดจากแดง

จากนั้น ได้มีเวทีเสวนาหัวข้อ “จากขยะ… สู่วัสดุรีไซเคิล ทางออกที่เราแก้ได้” โดยได้รับเกียรติจาก ตัวแทนผู้บริหารเครือข่ายองค์กรพันธมิตรฯ เริ่มจาก…

นายนิวัฒน์ อธิวัฒนานนท์ ประธานคณะกรรมการ Innovation & Circular Economy SCGC กล่าวว่า ภาคีเครือข่ายต้นกล้าไร้ถัง ถือเป็นการสร้างระบบนิเวศการจัดการขยะที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดย SCGC จะเข้ามาช่วยดำเนินการใน 2 ส่วน ได้แก่

1.เว็บแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) เพื่อให้ทุกโรงเรียนสามารถเห็นผลลัพธ์การจัดการของตัวเอง พร้อมทั้งสะสมคะแนน แปลงขยะกลับมาเป็นเงินหรือผลิตภัณฑ์รีไซเคิลผ่านการแลกคะแนนได้ กระตุ้นให้โรงเรียนมีส่วนร่วมจัดการขยะผ่านประโยชน์ที่ได้รับ

นิวัฒน์ อธิวัฒนานน

2.โครงการถุงนมกู้โลก ที่ผ่านมาถุงนมโรงเรียน เป็นขยะที่ไม่มีผู้รับซื้อจึงถูกกำจัดด้วยการฝังกลบ ทาง SCGC ได้ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะแก่เยาวชน พร้อมร่วมแก้ปัญหาการจัดการขยะกับทางโรงเรียนนำร่องที่ จ.ระยอง โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุและกระบวนการรีไซเคิล เปลี่ยนถุงนมให้เป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณภาพ นำไปใช้ผลิตเป็นของใช้ต่าง ๆ ได้อีกครั้ง เช่น เก้าอี้พลาสติกรีไซเคิล กระถางต้นไม้ ให้โรงเรียนได้นำไปใช้ประโยชน์และเยาวชนได้เห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม พร้อมขยายผลกับเครือข่ายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป

พระครู ทิพากร อริโย

พระครู ทิพากร อริโย รองเจ้าอาวาสวัดจากแดง กล่าวเสริมว่า ทางวัดจะเข้ามาช่วยทำหน้าที่ในการรับแลก บริจาควัสดุย่อยสลายประเภทอาหารหมดอายุ เศษอาหาร และรวมถึงพลาสติกทุกชนิด เพื่อส่งต่อไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ สินค้าบริโภคและอุปโภคอื่นๆ อาทิ ผลิตอาหารสัตว์เพื่อสงเคราะห์สุนัขและแมวจรจัด ผลิตใยผ้าจากขวดพลาสติกเพื่อนำมาทอและตัดเย็บเป็นผ้าสบงจีวร ผลิตและแปรรูปเป็นน้ำหมักชีวภาพ ผลิตภัณฑ์จากน้ำหมักชีวภาพ ผลิตภัณฑ์ปุ๋ยหมักปุ๋ยอินทรีย์ รวมถึงผลิตเป็นแก๊สชีวภาพ หรือแก๊สหุงต้มไว้ใช้งานภายในโรงครัวของวัดเพื่อทำนุบำรุงพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป

รัตนศิริ ติลกสกุลชัย

นางสาวรัตนศิริ ติลกสกุลชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กล่องนม และกล่องเครื่องดื่ม UHT นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ในโรงเรียนและชุมชน โดย เต็ดตรา แพ้ค ในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องเครื่องดื่ม วางเป้าหมายการจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ตั้งแต่การออกแบบ จัดหาวัสดุอย่างรับผิดชอบ ไปจนถึงเมื่อสิ้นสุดการใช้งาน เพราะบริษัททราบดีว่ากล่องใช้แล้วเหล่านี้ เป็นวัตถุดิบที่มีค่าและสามารถนำมารีไซเคิลสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นประโยชน์ได้

โครงการนี้ ได้เปิดโอกาสให้บริษัทได้ทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพของโรงงานรีไซเคิล ในการรับซื้อกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วเพื่อนำไปแปรรูปเป็นแผ่นหลังคา อิฐบล็อค หรือแผ่นไม้เทียม สำหรับทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้นักเรียนได้ เต็ดตรา แพ้ค รู้สึกยินดีและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาด้านความยั่งยืนให้กับประเทศร่วมกับภาคอุตสาหกรรมและชุมชน รวมไปถึงเด็กๆที่เป็นอนาคตของประเทศด้วย

สมยศ วัฒน์พานิช

ด้าน นายสมยศ วัฒน์พานิช กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีโค่ เฟรนด์ลี่ ไทย จำกัด กล่าวว่า การรับซื้อกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วให้กลับเข้ามาสู่กระบวนการรีไซเคิลภายใต้โครงการนี้ ยังเป็นการเพิ่มปริมาณวัตถุดิบให้สอดคล้องกับกำลังการผลิตของโรงงานรีไซเคิลกล่องเครื่องดื่มของบริษัท ซึ่งในปัจจุบันพบว่าปริมาณวัตถุดิบมีไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต โดยกล่องที่รวบรวมได้เพื่อใช้ในการผลิตมีปริมาณเพียง 100 ตันต่อเดือน ในขณะที่มีความต้องการกล่องเครื่องดื่มใช้แล้วเพื่อนำกลับมาใช้ในการรีไซเคิลจำนวนมาก อย่างน้อย 500 ตันต่อเดือน

สำหรับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) และเป็น 1 ใน 44 องค์กรเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญและตอบรับการมีส่วนร่วมทางการศึกษา โดยขับเคลื่อนโครงการตามปณิธานองค์กร “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” วางเป้าดูแลโรงเรียนในโครงการ CONNEXT ED 5 เฟส จำนวนกว่า 600 แห่งทั่วประเทศ ร่วมสนับสนุนโรงเรียนให้สามารถดำเนินโครงการด้านต่างๆ ทั้งโครงการที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ โครงการพัฒนาคุณภาพคน โครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โครงการส่งเสริมอาชีพ โครงการด้านสิ่งแวดล้อม โดยมี ผู้นำรุ่นใหม่ หรือ School Partner ซึ่งเป็นอาสาสมัครจากในองค์กรร่วมลงพื้นที่และคอยให้คำแนะนำในการพัฒนาโครงการของโรงเรียนต่างๆ อย่างใกล้ชิด.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password