EXIM BANK ดัน SMEs Sandbox สร้างโอกาสสินค้าไทยในต่างแดน

EXIM BANK จ่อทำหน้าที่ “ตัวกลาง” ประสานความร่วมมือกลุ่มธุรกิจไทย “ใหญ่-กลาง-เล็ก” สร้าง SMEs Sandbox หวังใช้เป็นเวทีสร้างโอกาสของสินค้าไทยในต่างประเทศ ด้าน “ดร.รักษ์” แนะธุรกิจไทยต้องลงพื้นที่ทำ Market Reserch ปรับสินค้าไทยให้สอดรับวิถีคนท้องถิ่น นำร่องผ่านห้าง MM Meca Market 21 สาขาในเวียดนาม ระบุ! หมดยุคกินกันเองแล้ว รอบนี้ “ปลาใหญ่ต้องอุ้มปลาเล็ก” พร้อมเดินเครื่องทันที

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะกรรมการและผู้บริหารของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า (EXIM BANK) ภายใต้การนำของ ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK รวมถึงคณะสื่อมวลชนอีกหลายสิบชีวิต เดินทางมาตรวจเยี่ยมชมกิจการของกลุ่มธุรกิจของภาคเอกชนไทย ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารและเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะกลุ่ม BJC ในเครือของ TCC Group ที่ปัจจุบันได้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในชื่อ MM Meca Market มากถึง 21 สาขาทั่วประเทศเวียดนาม และมีแนวโน้มจะขยายสาขาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงกลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีแผนจะปรับสเกลของร้านค้าให้เล็กลง และก้าวไปสู่รูปแบบการดำเนินธุรกิจของ Mini MM Meca Market ในอนาคต

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK  เปิดเผยภายหลังการตรวจเยี่ยมชมกิจการ MM Meca Market ว่า แนวทางการปรับลดสเกลและขยายสาขาของธุรกิจในเครือ TCC Group ดังกล่าวจะมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีรายเล็กของไทยได้มีโอกาสนำเสนอสินค้าของตัวเองในประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ ตนมีแนวคิดในการจัดทำโครงการเอสเอ็มอี แซนด์บ๊อกซ์ (SMEs Sandbox) โดยการประสานความร่วมมือและขอความช่วยเหลือจากกลุ่ม BJC ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งในประเทศเวียดนาม เพื่อเปิดพื้นที่หรือมุมเฉพาะสำหรับแนะนำสินค้าจากประเทศไทยในลักษณะของการทำกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ซึ่งหากสินค้าของเอสเอ็มอีรายเล็กของไทยสามารถขายได้และเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศเวียดนาม ก็จะนำไปสู่โอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ๆ ในอนาคตให้กับกลุ่ม BJC

“การจะเกิดขึ้นของ เอสเอ็มอี แซนด์บ๊อกซ์ ได้นั้น คนตัวใหญ่จะยอมให้คนตัวเล็กใช้เป็นช่องทางการหรือทดลองนำเสนอสินค้าของตัวเองในต่างประเทศ ซึ่งหากทำในลักษณะนี้กับลูกค้ารายใหญ่ๆ ของ EXIM BANK ที่มีจิตสาธารณะที่จะช่วยให้ตัวเล็กได้มีโอกาสในเวทีการค้าและการลงทุน จะถือเป็นมิติใหม่ระหว่างคนตัวใหญ่ คนตัวกลาง และคนตัวเล็ก โดยจะกลายเป็นเรื่องของ “ปลาใหญ่อุ้มปลาเล็ก” จะไม่เป็น “ปลาใหญ่กินปลาเล็กอีกต่อไป” เหมือนเช่นในอดีตอีกต่อไป” ดร.รักษ์ ย้ำและว่า

อย่างไรก็ตาม การผู้ประกอบการจะนำสินค้าจากประเทศไทยเข้ามาจำหน่ายในประเทศเวียดนาม รวมถึงประเทศอื่นๆ นั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะต้องทำการบ้านให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะการสำรวจเพื่อทำวิจัยตลาด (Market Reserch) เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมและความต้องการที่แท้จริงในการบริโภคสินค้าของคนในพื้นที่ เช่น สาเหตุที่น้ำปลาไทยไม่สามารถจะตีตลาดในประเทศเวียดนามได้ ก็เพราะคนเวียดนามชอบที่จะบริโภคน้ำปลาที่มีรสชาติหวานและมีความเข้มข้นของปลาซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตน้ำปลา แตกต่างไปจากรสชาติของน้ำปลาจากประเทศไทย ที่มีความเค็มมากกว่าแต่เข้มข้นน้อยกว่า นี่จึงเป็นปัญหาที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะต้องหาทางแก้ไขและปรับปรุงเป็นการด่วน หากต้องการจะส่งสินค้าของตัวเองมาจำหน่ายในต่างประเทศ

ดร.รักษ์ ระบุว่า แนวคิดดังกล่าวสามารถดำเนินการได้ทันที และตนพร้อมจะเร่งประสาน รวมถึงขายแนวคิดนี้ไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในและนอกองค์กรในโอกาสต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ระหว่างตรวจเยี่ยมและชมกิจการของ MM Meca Market ในเมืองดานัง ประเทศเวียดนามนั้น กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ได้พูดคุยถึงแนวทางการดำเนินกิจกรรม SMEs Sandbox กับทางผู้บริหารระดับสูงของ MM Meca Market ไปบ้างแล้ว ขณะเดียวกัน ก็ได้สื่อสารและสั่งการผ่านการส่งข้อความเข้ากลุ่ม LINE ไปยังผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภารกิจดังกล่าวเป็นการภายในไปแล้ว คาดว่าแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ SMEs Sandbox ในประเทศเวียดนาม น่าจะได้รับการสานต่ออย่างเป็นรูปธรรมจาก EXIM BANK ภายใต้การนำของ ดร.รักษ์ อย่างแน่นอน และสิ่งนี้จะเป็น “โมเดล” ที่ขยายไปสู่การดำเนินงานในลักษณะคล้ายๆ กันในประเทศต่างๆ เช่นกัน

ด้าน ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK ได้ตอบคำถามของผู้สื่อข่าวในเวทีเดียวกันถึงโอกาสในการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ประกอบรายใหญ่ที่มีบทบาทและมีส่วนร่วมสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบเอสเอ็มอีขนาดเล็กของไทย ได้มีโอกาสขยายบทบาทของตัวเองสู่ความเป็นนักรบส่งออกหน้าใหม่” ว่า แนวคิดหรือข้อเสนอให้มีการจัดทำรางวัลในลักษณะ EXIM BANK Awards หรือรางวัลเกียรติยศที่จะมอบให้กับประกอบรายใหญ่ด้วยเหตุผลข้างต้นนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดีและควรต้องส่งเสริมอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ตนคงต้องนำแนวคิดดังกล่าวเข้าไปหารือในระดับคณะกรรมการของ EXIM BANK โดยเร็วที่สุดในโอกาสต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password