ระทึก! ‘อาคม’ จ่อชงภาษีหุ้นทะลุ ครม. ลั่นเลิกเหวี่ยงแหแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ

“อาคม” ย้ำ! เลิกเหวี่ยงแห “แจกเงิน” แก้ปมเศรษฐกิจ หันเน้นช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเหยื่อพิษโควิดฯและน้ำมันแพง เผย! เตรียมเสนอแนวทางจัดเก็บภาษีหุ้นเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ในเร็วๆ นี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน ว่า รัฐบาลจะไม่เน้นการดำเนินงานในลักษณะของการเหวี่ยงแหเหมือนเช่นที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินโครงการคนละครึ่ง, เราไม่ทิ้งกัน และโครงการอื่นๆ เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่จะเน้นการดำเนินมาตรการในลักษณะการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปขายปลีกที่แพงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

“เมื่อวันศุกรที่แล้ว (10 มิ.ย.) กระทรวงการคลังได้รับโจทย์จากรัฐบาล ผ่านมาทางรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ถึงการหาแนวทางในการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาโควิดฯและราคาน้ำมันแพง โดยเฉพาะกลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ คนรับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และอาชีพอื่นๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น ส่วนจะเป็นมาตรการใดนั้น กระทรวงการคลังจะไปหารือถึงแนวทางที่เหมาะสมต่อไป” รัฐมนนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุ

ขณะเดียวกัน รัฐบาลเองก็มีข้อจำกัดในเรื่องเงินงบประมาณที่จำเป็นจะต้องจัดทำในลักษณะของงบประมาณขาดดุลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป ท่ามกลางกระแสความไม่เห็นด้วยของหลายฝ่าย ทั้งนี้ แม้ฐบาลมีความจำเป็นจะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเนื่องจากมีภาระรายจ่ายประจำในรูปของเงินเดือนและเงินสวัสดิการแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐบาลก็ได้ปรับเพิ่มงบประมาณเงินทุนในปีหน้าที่ค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 20 เนื่องจากมองเห็นโอกาสทางด้านการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

นายอาคม ยอมรับว่า เงินกู้ส่วนที่เหลือจากโครงการเงินกู้ครั้งก่อน มีไม่เพียงพอต่อการจะนำไปใช้ในการดำเนินมาตรการด้านเศรษฐกิจในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม การจะกู้เงินก้อนใหม่นั้น รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากกรอบวงเงินกู้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังได้ขยายเพดานสัดส่วนเงินกู้เอาไว้เป็นร้อยละ 70 ของจีดีพี แต่บนข้อเท็จจริงนั้น รัฐบาลจำเป็นจะต้องพิจารณาเงื่อนไขอื่นๆ ประกอบกันไป โดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะที่มีอยู่สูงมากและเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการขยายฐานภาษีไปยังกลุ่มคนและกลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบภาษีอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ดำเนินการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายสินค้าออนไลน์ (e-Business) และสร้างรายได้ในระดับที่น่าพอใจ คาดว่าจะเป็นอีกช่องทางรายได้ของรัฐที่จะเข้ามาชดเชยรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแผนจะดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจที่อาศัยเทคโนโลยีขั้นสูงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเม็ดเงินลงทุนโดยตรงดังกล่าว มีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในประเทศได้เป็นอย่างดี

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าในการจัดเก็บภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่ง นายอาคม ยอมรับว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังโดยกรมสรรรพากรได้ดำเนินการจนใกล้จะแล้วเสร็จและเตรียมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีคงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันด้วย

สำหรับแนวทางที่กรมสรรพากรได้จัดทำเอาไว้สำหรับการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีมูลค่าตั้งแต่  1 ล้านบาทขึ้นไป โดยจะจัดเก็บภาษีในที่อัตราร้อยละ 0. 1%

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แนวโน้มการจัดเก็บภาษีภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเร็วๆ นี้ อาจจะยังไม่เกิดขึ้นในสมัยของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะแม้แต่นายอาคมเองยังแสดงความวิตกกังวลใจถึงความเหมาะสมของช่วงเวลาในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวได้มากนัก

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้สูงที่แม้จะมีการนำเสนอแนวทางการจัดเก็บภาษีหุ้นเข้าที่สู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แต่ที่ประชุมฯเสียงส่วนใหญ่อาจมีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เนื่องจากเกรงจะไปกระทบกับนักลงทุนและบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจส่งผลลบต่อภาพลักษณ์และฐานเสียงในทางการเมืองของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลได้ โดยมีแนวทางการขยายเวลาจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) จากที่จะต้องปรับเพิ่มจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 10 ออกไปเรื่อยๆ เพื่อเป็นต้นแบบของการยื้อเวลาการจัดเก็บภาษีหุ้นฯในโอกาสต่อไป

สำหรับ ประเด็นปัญหาเงินฝืดในเงินเฟ้อที่หลายฝ่ายเป็นห่วง นั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันไม่ได้เลวร้ายถึงขั้นนั้น เพราะแม้ราคาสินค้าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นตามภาวะค่าครองชีพที่ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันขายปลีกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้าก็ยังคงขายได้ เพียงแค่กำลังซื้อของประชาชนลดลง ทำให้ซื้อสินค้าได้น้อยชิ้น ที่สำคัญประชาชนยังพอมีรายได้แม้จะไม่เท่ากับช่วงก่อนหน้าจะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯก็ตาม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password