EXIM BANK ผนึก ‘3 องค์กรเอกชน-มหิดล’ สร้างทีมไทยแลนด์ยุค Next Normal

“อาคม” นำทัพ EXIM BANK ผนึก 3 องค์กรภาคเอกชน และ ม.มหิดล ร่วมสร้าง “ทีมไทยแลนด์” เร่งเติมกองทัพผู้ส่งออกหน้าใหม่ พร้อมติดอาวุธทางปัญญา ตั้งเป้า 1 แสนรายในปีนี้ เซ็นรวด 2 MOU ทั้งหนุนผู้ประกอบการตลอด Value Chain ภาคการส่งออก และความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้วยทักษะและสมรรถนะในโลกการค้ายุคใหม่ ดีเดย์ “9 เดือน 9” เปิดหลักสูตรครบวงจรเสริมสร้างความรู้ผู้ส่งออกไทยให้ก้าวทันโลกยุค Next Normal พร้อมจัดหนักสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสุด 4.5% ต่อปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ฟรี! ค่าธรรมเนียม แถม! กรมธรรม์ประกันการส่งออก คุ้มครองความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศ

วันที่ 6 มิถุนายน 2565 ห้องวายุภักษ์ 4 กระทรวงการคลัง, นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการความร่วมมือสนับสนุนผู้ประกอบการตลอด Value Chain ของภาคการส่งออก โดยมี ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย (สภาหอฯ) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ร่วมลงนามใน MOU ดังกล่าว และ โครงการความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้วยทักษะและสมรรถนะในโลกการค้ายุคใหม่ โดยมี รศ.ดร.วิชิตา รักธรรม คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) เข้าร่วมลงนามใน MOU ดังกล่าว ร่วมกับ EXIM BANK สภาหอฯ ส.อ.ท. และ สรท.  

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ในระบบประมาณ 3.1 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ส่งออกไม่ถึง 1% ขณะที่การจ้างงานของประเทศโดยรวมมีประมาณ 17 ล้านคน เป็นการจ้างงานของผู้ประกอบการ SMEs ถึง 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 70% ของการจ้างงานทั้งหมด ดังนั้น การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยผันตัวเป็นผู้ส่งออกได้และแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกยุคใหม่ จะทำให้ SMEs มีงานทำและรายได้เพิ่มขึ้น ภาคการส่งออกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

“กระทรวงการคลังได้หารือกับตัวแทนภาคเอกชนมาโดยตลอด รวมถึงพูดคุยกับทาง EXIM BANK ถึงการสร้างโอกาสในการส่งออก โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนผู้ส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม เนื่องจากที่ผ่านมา ภาคการส่งออกถือเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีอัตราการเติบโตที่สูงถึง 17% และเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้จีดีพีของไทยเติบโตจากเคยติดลบ 6.1% ในปี 2563 มาเป็นขยายตัว 1.6% ในปี 2564 และคาดว่าในปีนี้ จีดีพีน่าจะขยายตัวราว 3%” นายอาคม ระบุ

ขณะที่ ตัวแทนองค์กรภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็น นายสนั่น นายเกรียงไกร และ ดร.ชัยชาญ ต่างพูดในทิศทางเดียวกันว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในครั้งนี้ เสมือนเป็นการสร้าง “ทีมไทยแลนด์” ซึ่งไม่เพียงจะส่งผลดีต่อภาคเอกชนที่เป็นสมาชิกของทั้ง 3 องค์กรภาคธุรกิจ หากยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และอาจทำให้ภาคการส่งออกของไทยในปี 2565 เติบโตได้มากกว่าที่ประมาณการเดิมตั้งไว้ ทั้งนี้ ความร่วมมือข้างต้นจะมีส่วนสำคัญต่อการช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถบริหารจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบ Supply Chain ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมถึงปัญหาความขัดแย้งในเวทีการเมืองระหว่างประเทศได้   

ส่วน คณบดีวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า โครงการความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้วยทักษะและสมรรถนะในโลกการค้ายุคใหม่ ถือเป็นนิมิตรที่ดีที่ทุกภาคส่วนจะได้มีส่วนร่วมกันจัดทำขึ้นมา เพราะนอกจากจะเป็นการเพิ่มทักษะให้กับผู้ประกอบการไทยแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสอันดีใหม่ๆ อีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดยังเป็นเพียงจุดเริ่มเท่านั้น

ด้าน ดร.รักษ์ กล่าวเสริมว่า EXIM BANK มีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนผู้ส่งออก จากที่เคยมีประมาณ 3 หมื่นรายตลอด 30 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนรายในปีนี้ เนื่องจากผู้ส่งออกดังกล่าว ต่างมีเครือข่าย SMEs ที่อยู่ใน Supply Chain อีกหลายแสนราย หากสามารถส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มนี้ กลายมาเป็นผู้ส่งออกได้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจไทยได้อย่างทีเดียว

“นอกจากนี้ EXIM BANK และพันธมิตรจากภาคเอกชน รวมถึง มหาวิทยาลัยมหิดล ยังเตรียมจะเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้วยทักษะและสมรรถนะในโลกการค้ายุคใหม่ ใน วันที่ 9 เดือน 9 (9 กันยายน 2565) นี้ เชื่อว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการต่อยอดและสร้างผู้ส่งออกรายใหม่ขึ้นมา เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจในอนาคต”  กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ระบุและว่า

โดยความร่วมมือระหว่าง EXIM BANK กับพันธมิตรในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการการทำงานระหว่างภาครัฐ ภาคการเงินการธนาคาร ภาคธุรกิจ และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างความเข้มแข็งของธุรกิจทุกระดับตลอดทั้งห่วงโซ่การส่งออก ทั้งในมิติของเงินทุน องค์ความรู้ และเครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีภูมิต้านทานการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา เพื่อให้ภาคการส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ พร้อมกับวางรากฐานการพัฒนาห่วงโซ่การส่งออกในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พาณิชยนาวี โลจิสติกส์ และอุตสาหกรรมที่เป็นพื้นฐานของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของการพัฒนาประเทศ โดยสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในหลาย ๆ ด้าน อาทิ การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) การพัฒนาระบบและกลไกภาครัฐและสภาพแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนผู้ประกอบการ การส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจรวมถึงภาคเกษตรกรรม การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ และการพัฒนาที่สร้างความเข้มแข็งจากฐานราก

สำหรับ โครงการความร่วมมือสนับสนุนผู้ประกอบการตลอด Value Chain ของภาคการส่งออก ผู้ประกอบการไทยที่เป็นสมาชิกสภาหอฯ ส.อ.ท. และ สรท. สามารถสมัครขอรับบริการด้านสินเชื่อจาก EXIM BANK ได้ สำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นส่งออก ผู้ผลิตเพื่อผู้ส่งออก ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทางบก ทางเรือ หรือทางอากาศ อัตราดอกเบี้ยพิเศษต่ำสุด 4.5% ต่อปี (ลดดอกเบี้ยจากปกติลง 0.5% ต่อปี) ในปีแรก ฟรี! ค่าธรรมเนียม Front-end Fee โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน แถม! กรมธรรม์ประกันการส่งออก EXIM for Small Biz (ฟรี! เบี้ยประกัน 3,000 บาท) อนุมัติสินเชื่อเร็วภายใน 7 วันทำการ ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้ถึง 31 ธันวาคม 2565

ส่วน โครงการความร่วมมือด้านวิชาการเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการด้วยทักษะและสมรรถนะในโลกการค้ายุคใหม่ ผู้ประกอบการไทยที่เป็นสมาชิกสภาหอฯ ส.อ.ท. และ สรท. สามารถสมัครเข้าอบรมหลักสูตรที่ EXIM BANK กำลังพัฒนาร่วมกับ CMMU โดยเนื้อหาอบรมเข้าใจง่าย ระยะเวลาอบรมสั้น และได้ฟังประสบการณ์จริงจากผู้ส่งออกที่ประสบความสำเร็จในการปรับตัวสู่โลก Next Normal ในไตรมาส 3 นี้

ทั้งสองโครงการจะนำไปสู่การจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) โดย EXIM BANK จะทำงานร่วมกับทีมประเทศไทยนำพาผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ตลาดโลกยุค Next Normal ทั้งทางออนไลน์และรุกตลาดใหม่ โดยเฉพาะ CLMV ประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่ง EXIM BANK จัดตั้งสำนักงานผู้แทนใน CLMV ครบทั้ง 4 แห่งแล้ว นำไปสู่การสร้าง Ecosystem วงจรการค้าที่ขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน เชื่อมโยงกับการพัฒนาในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคอาเซียน และประชาคมโลกโดยรวม.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password