คลังชี้หนี้ครัวเรือนเกิดจากกู้ประกอบอาชีพ จ่อ ‘สร้างภูมิการเงิน – ตีกรอบสร้างหนี้’

ผอ.สศค.ร่วมถกแก้หนี้ครัวเรือน ในงานเสวนา “คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำ ให้โอกาสทุกคน” ชี้! หนี้ครัวเรือนคนไทยมาจากกู้เพื่อประกอบอาชีพ แยก 6 กลุ่มหนี้ พร้อมบูรณาร่วมแก้ปัญหานี้ ย้ำ! แนวทางแก้ยั่งยืน ต้องเพิ่มรายได้ให้คนไทย ระบุที่ผ่านมาคลังผนึก 2 แบงก์รัฐ “ออมสิน – ธ.ก.ส.” เดินหน้าเพิ่มรายได้ให้แล้ว เผย! 2 เรื่องหลักเดินหน้าแก้จนระดับรากหญ้าผ่านบัตรสวัสดิการและสร้างการออมให้ภาคครัวเรือน ยืนยันเตรียมขับเคลื่อน 2 ภารกิจใหม่ “สร้างภูมิการเงิน – ตีกรอบการสร้างหนี้”

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงสรุปประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ บทบาทกระทรวงการคลังในการแก้ไขสถานการณ์หนี้สินของภาคครัวเรือนในการเสวนาหัวข้อ “คุณภาพชีวิตยุคใหม่ ลดความเหลื่อมล้ำให้โอกาสทุกคน”ภายในงานประชุมเสวนา “ถามมา – ตอบไป Better Thailand Open Dialogue เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่า” จัดโดย สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับสมาคมนิสิตเก่าวิศวกรรมศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนิสิตเก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน

โดยมีวิทยากร ได้แก่ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายสุชาติ      ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และมี ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา สรุปได้ดังนี้

ในงานเสวนาฯ นายพรชัย ได้แสดงมุมมองภายใต้ หัวข้อ “ภาครัฐมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนอย่างไร” โดยได้กล่าวถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน ซึ่ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำหนดให้ “ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน” ซึ่งมีการจัดตั้ง คณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย โดยมี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาและขับเคลื่อนแนวทางแก้ไขสถานการณ์หนี้ครัวเรือนให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งนี้ การเป็นหนี้สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นการกู้มาเพื่อประกอบอาชีพ

อย่างไรก็ดี หากจะจำแนกกลุ่มที่มีปัญหาในเรื่องการชำระหนี้สามารถแบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม  ได้แก่ 1) กลุ่มหนี้นักเรียนหรือหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)  2) กลุ่มหนี้จากสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 3) กลุ่มหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล 4) กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์รถจักรยานยนต์ 5) กลุ่มหนี้นอกระบบ และ 6) กลุ่มลูกหนี้ทั่วไป ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทั้ง 6 กลุ่มดังกล่าว

ซึ่ง แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนแนวทางหนึ่ง คือ การช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้ดำเนินการผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เช่น โครงการ “สร้างงาน สร้างอาชีพ” ของธนาคารออมสิน ที่ให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบการอาชีพอิสระ เพื่อนำเงินไปลงทุน และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่ใช้นวัตกรรมทางการเกษตรมาช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ลดต้นทุน ทำให้เกษตรกรมีกำไรเพิ่มขึ้น เป็นต้น

ในส่วนของ นโยบายสำคัญที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการดำเนินการในปัจจุบัน คือ การแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่ประชาชนในระดับฐานราก โดยมีการดำเนินการที่สำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การบูรณาการฐานข้อมูลภายใต้โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐให้เชื่อมโยงกับฐานข้อมูลของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างมีประสิทธิภาพ และ 2) การสร้างความตระหนักรู้ให้กับภาคครัวเรือนในการให้ความสำคัญกับการออม ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ และได้เสนอร่างพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ พ.ศ. … เพื่อเป็นกลไกในการจัดให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับดูแลพี่น้องประชาชนในอนาคต

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนในระยะต่อไปภาครัฐจะให้ความสำคัญใน 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การสร้างภูมิคุ้มกันการเงิน โดยการให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหลายหน่วยงานในการจัดทำแผนการบริหารจัดการด้านการเงินสำหรับประชาชนในทุกช่วงวัยและทุกสาขาอาชีพ ซึ่งอยู่ในระหว่างการเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และ 2) การดูแลและกำกับการออกนโยบายที่ไม่จูงใจให้ประชาชนสร้างหนี้โดยไม่จำเป็น และหากจำเป็นต้องสร้างหนี้จะต้องเป็นหนี้ที่เป็นทุนให้สามารถสร้างรายได้กลับมาให้กับประชาชน ซึ่งจะเป็นการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือนในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password