เครดิตบูโร…สำคัญไฉนเมื่อกู้ซื้อบ้าน?

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจซบเซา ส่งผลให้การดำเนินชีวิตของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้น และกระทบแผนการจับจ่ายใช้สอยอย่างเลี่ยงไม่ได้ นำไปสู่การก่อหนี้เพิ่ม ทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ

รูปธรรม นำสู่ผลสำรวจสถานภาพแรงงานไทย : กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ปี 2565 โดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า มีหนี้ถึง 99% ส่งผลให้ปีนี้ภาระหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 5.09% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำสถิติสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยแรงงาน 31.5% ยังเคยผิดนัดชำระหนี้

แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาใดที่อยู่อาศัยก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญ แม้เป็นการเพิ่มภาระหนี้ก้อนใหญ่แต่มาพร้อมความมั่นคงในชีวิต และความคุ้มค่าของการลงทุนในระยะยาว  ทำให้ผู้บริโภคยังคงต้องการยื่นกู้ซื้อบ้าน ข้อมูลจากแบบสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคที่มีต่อตลาดที่อยู่อาศัย DDproperty’s Thailand Consumer Sentiment Study รอบล่าสุด มีข้อมูลดังนี้

  1. 59% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า อุปสรรคใหญ่เมื่อยื่นขอสินเชื่อเพื่อมาจากรายได้และอาชีพที่ไม่มั่นคง
  2. 46% บอกว่าเป็นเพราะประวัติทางการเงินที่ไม่ดี
  3. 38% บอกว่า เอกสารประกอบมีไม่เพียงพอ  

คำตอบข้างต้น เป็นที่มาของความกังวลและพัฒนาเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่า การมีประวัติหนี้สินแสดงอยู่บนเครดิตบูโรจะทำให้ถูกปฏิเสธสินเชื่อหรือยื่นกู้ไม่ผ่าน

“เครดิตบูโร” ไม่ใช่แบล็คลิสต์!

“เครดิตบูโร” หรือ “บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” เป็นองค์กรเอกชน และเป็นตัวกลางจัดเก็บข้อมูลประวัติธุรกรรมทางการเงินของผู้บริโภค ทั้งสินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด กู้ซื้อบ้าน ผ่อนรถยนต์ รวมไปถึงประวัติธุรกรรมต่าง ๆ ทั้งการกู้ ผ่อน จ่ายทั้งหมดของเจ้าของข้อมูล ซึ่งจะปรากฏในข้อมูลเครดิตของบุคคลนั้น ๆ ทั้งดีหรือไม่ดี โดยไม่มีอำนาจอนุมัติสินเชื่อใด ๆ

ทั้งนี้ หน้าที่อนุมัติการกู้เงินจะเป็นของธนาคารหรือสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อผู้กู้ยื่นขอสินเชื่อต่อธนาคาร/สถาบันการเงินใด ๆ ธนาคาร/สถาบันการเงินนั้นจะนำข้อมูลจากเครดิตบูโรมาตรวจสอบคุณสมบัติต่าง ๆ ของผู้กู้ อาทิ พฤติกรรมการใช้เงินและวินัยในการผ่อนชำระหนี้ การผิดนัดชำระหนี้ ฯลฯ เพื่อประกอบการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ 

อย่างไรก็ดี เนื่องจากการยื่นขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้าน/คอนโดฯ ถือเป็นสินทรัพย์ราคาสูงและระยะเวลาผ่อนชำระนาน สถาบันการเงินจึงมีเกณฑ์พิจารณาหลายปัจจัย และให้เป็นคะแนน (Credit Score) หากผู้ขอยื่นกู้มีประวัติดีต่อเนื่อง คะแนนส่วนนี้สูงก็มีแนวโน้มได้รับอนุมัติสูง แต่หากมีประวัติไม่ดี ผ่อนชำระหนี้ไม่ตรงตามกำหนด หรือมียอดค้างจำนวนมาก ทำให้คะแนนส่วนนี้ต่ำกว่าเกณฑ์จะส่งผลให้สถาบันการเงินมีแนวโน้มไม่อนุมัติ

มีบ้านเมื่อ (เงิน) พร้อม

ประวัติธุรกรรมทางการเงินที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการอนุมัติสินเชื่อ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ (DDproperty) เว็บไซต์มาร์เก็ตเพลสด้านอสังหาริมทรัพย์ แนะนำแนวทางเตรียมความพร้อมทางการเงินเพื่อซ่อมประวัติหนี้เสียบนเครดิตบูโร ปูทางไปสู่การมีบ้านเมื่อพร้อม

  1. รู้เขารู้เรา เข้าใจสถานะเครดิตบูโร

ผู้บริโภคควรตรวจสถานะเครดิตบูโรก่อนยื่นขอกู้ เพื่อให้ทราบประวัติที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไร รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลด้วย ถ้าประวัติดีจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการยื่นขอสินเชื่อมากขึ้น หรือถ้าไม่ดีก็จะวางแผนแก้ไขได้ทันท่วงที

โดยปกติ รายงานจะเก็บข้อมูลเครดิตที่ได้จากธนาคาร/สถาบันการเงินย้อนหลังไม่เกิน 36 เดือน โดยระบุสถานะบัญชี ดังนี้

10 คือ สถานะปกติ เจ้าของบัญชีชำระสินเชื่อตรงตามเงื่อนไข ไม่มียอดค้างชำระ

11 คือ สถานะปิดบัญชี เจ้าของบัญชีชำระหนี้ตามยอดค้างหมดแล้ว

12 คือ สถานะพักชำระหนี้ เจ้าของบัญชีได้ขอพักชำระหนี้ที่เคยมียอดค้างชำระหนี้ตามนโยบายของรัฐ

20 คือ สถานะค้างชำระหนี้ในระบบเกิน 90 วัน ซึ่งส่งผลเสียต่อเจ้าของบัญชี เพราะมียอดค้างชำระหนี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

  • เติมเต็มวินัยจัดการหนี้อย่างเป็นระบบ

หากสถานะบัญชีเครดิตบูโรปกติ ผู้บริโภคควรจัดการการเงินปัจจุบันให้เป็นระบบ และประเมินว่าหากมีการผ่อนหนี้บ้านเพิ่มขึ้นมา จะจัดการสภาพคล่องได้หรือไม่

กรณีมีประวัติผิดนัดชำระหนี้ ผู้บริโภคควรสรุปรายรับและรายจ่ายที่มีก่อนเพื่อวางแผนการเงินใหม่ ประเมินความสามารถในการชำระหนี้คงค้าง จากนั้นจึงขอเจรจากับสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เพื่อให้สามารถปิดบัญชีหนี้คงค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ หยุดการสร้างหนี้ใหม่ ควบคู่ไปกับเริ่มออมเงิน

  • เช็กสุขภาพการเงิน สร้างประวัติดีก่อนกู้

เมื่อผู้บริโภคเคลียร์ปัญหาหนี้คงค้างให้กลับมามีสถานะบัญชีปกติแล้ว หากต้องการยื่นกู้เพื่อขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ควรเริ่มสร้างเครดิตใหม่ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาอนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนั้น สถาบันการเงินมีเกณฑ์พิจารณาจากหลายองค์ประกอบ และมีนโยบายแตกต่างกัน ข้อมูลเครดิตบูโรจึงเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาเท่านั้น กรณีที่กู้ไม่ผ่าน ผู้ยื่นกู้จะได้รับหนังสือชี้แจงเหตุผลที่ไม่อนุมัติ ซึ่งจะเป็นแนวทางให้นำมาใช้ปรับปรุงข้อมูล เพื่อแสดงศักยภาพการผ่อนชำระ ก่อนขอยื่นกู้ใหม่อีกครั้งในอนาคต.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password