กก.ศึกษา “ดิจิทัลวอลเล็ต” ป.ป.ช. ชี้ รัฐบาลเดินหน้าเสี่ยงทุจริต ซ้ำรอย “จำนำข้าว”

“รศ.ดร.ศิริลักษณา คอมันตร์” กรรมการศึกษาดิจิทัลวอลเล็ต ป.ป.ช. เตือนรัฐบาล ถ้ายังเดินหน้าเสี่ยงทุจริต หากไม่เลิกอาจโดนชี้มูลดำเนินคดี ซ้ำรอยจำนำข้าว! ย้ำไทยไม่เข้าขั้นวิกฤตเศรษฐกิจแบบเฉียบพลัน–รุนแรงถึงขั้นต้องออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาท

วันที่ 21 ม.ค. 2567 หลังมีการเผยแพร่เอกสาร ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่ศึกษาโดย คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณี การเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ที่มีน.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการป.ป.ช.เป็นประธานคณะกรรมการฯ ที่ทำให้เกิดกระแสความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ ตามมามากมาย

รศ.ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลดิจิทัลวอลเล็ตของสำนักงาน ป.ป.ช. ที่มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ อดีตกรรมการป.ป.ช.เป็นประธาน กล่าวว่า เอกสารรายงานดังกล่าวเป็นของจริง ที่ได้มีการพิจารณาในที่ประชุมใหญ่ป.ป.ช.แล้ว และขณะนี้คณะกรรมการถือว่าทำงานเสร็จสิ้นเรียบร้อย แต่หากต่อมา รัฐบาลมีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การที่จะออกกฎหมายกู้เงินห้าแสนล้านบาทมาทำดิจิทัลวอลเล็ต ทางกรรมการก็อาจจะเรียกประชุมอีกครั้งเพื่อคุยกันว่า จะต้องมีการศึกษาอะไรอีกหรือไม่

สิ่งสำคัญ ก็คือ ต้องพิจารณาก่อนว่า ขณะนี้สภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเข้าขั้นวิกฤตที่จะออกกฎหมายกู้เงินหลายแสนล้านบาทมาแจกประชาชน ตามมาตรา 53 ของพรบ.วินัยการเงินการคลังฯหรือไม่ ซึ่ง หลังคณะกรรมการฯ เชิญตัวแทนจากหลายหน่วยงานมาให้ข้อมูลเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ ทางคณะกรรมการเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่อยู่ในสภาพวิกฤตเศรษฐกิจรุนแรงและเฉียบพลัน โดยใช้เกณฑ์พิจารณา 7 เรื่องสำคัญตามหลักวิชาการทางเศรษฐศาสตร์ คือ วิกฤตสถาบันการเงิน-ความเสี่ยงที่จะสูญเสียเงินสำรองระหว่างประเทศ –สภาวะค่าเงินบาท–วิกฤตหนี้กับต่างประเทศและหนี้ เอ็นพีแอล-ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศหรือจีดีพี -สถานะการคลังของรัฐบาล -สภวะเงินเฟ้อ โดยจากข้อมูลตัวเลขทั้งหมด ก็พบว่า สำหรับประเทศไทยยังไม่อยู่ในภาวะวิกฤต

“ดังนั้นถ้ารัฐบาลจะออกกฎหมายโดยให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินห้าแสนล้านบาท แล้วไปดึงเงินออกมาจากกระทรวงการคลัง จึงทำไม่ได้ หากประเทศไม่ได้อยู่ในสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ถือว่าไม่เข้าข่ายมาตรา 53 ของ พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายมาตรา ” รศ.ดร.สิริลักษณา กล่าว

เมื่อถามว่าท่าทีของ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ล่าสุด หลังเดินทางกลับจากต่างประเทศเมื่อ 19 ม.ค.ยืนยันรัฐบาลจะเดินหน้านโยบายดิจิทัลวอลเล็ตต่อไป โดย ดร.สิริลักษณา กล่าวว่า หากรัฐบาลจะเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นการแจกเงินเพื่อการบริโภคซึ่งจากลักษณะที่จะทำ และยังคงเดินตามเกณฑ์เดิม เช่นจะให้กับคนที่มีรายได้มีเงินเดือนไม่ถึงเจ็ดหมื่นบาทต่อเดือน สมมุติว่ารัฐบาลยังคงยืนยันตามนี้ มันจะทำให้เกิดความเสี่ยงหลายด้านด้วยกัน ด้านแรกก็คือการที่จะออกกฎหมายกู้เงินมา ก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยในบางคดีก่อนหน้านี้ว่า หากมีการออกฎหมายพิเศษกู้เงินมา เงินที่กู้มา ต้องส่งให้กระทรวงการคลัง เมื่องบที่จะทำดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้อยู่ใน พรบ.งบประมาณรายจ่ายปกติ การจะออกฎหมายพิเศษมากู้เงิน ซึ่งตามพรบ.วินัยการเงินการคลังฯ บอกว่า จะต้องเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อแก้ไขวิกฤตของประเทศ แต่เมื่อดูสภาพเศรษฐกิจของประเทศเวลานี้โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ต่างๆ เช่น เรื่องเงินเฟ้อ สภาวะการคลังของประเทศ ก็จะพบว่าไม่มีเกณฑ์ข้อใดที่บอกว่า เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤต เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจะเดินหน้าเรื่องนี้ ด้วยการออกกฎหมาย มันก็จะขัดกับพรบ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่จะนำเงินคลังออกมาใช้

กรรมการศึกษานโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ของป.ป.ช.กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องทุจริตเชิงนโยบาย หากเป็นไปตามที่รัฐบาลตั้งใจไว้แบบเดิมในการทำดิจิทัลวอลเล็ต ที่จะใช้ระบบ บล็อกเชน ซึ่งระบบดังกล่าว ธนาคารต่างๆ ก็ยังไม่มีการใช้กัน ดังนั้น ก็ต้องมีการไปจ้าง ก็ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพในการใช้เงินแล้ว เพราะต้องนำงบประมาณไปว่าจ้างบริษัทที่มีความสามารถสูงเข้ามาทำ แทนที่จะโอนเงินให้ประชาชนโดยตรง และมันก็มีข้อสงสัยว่า บริษัทที่จะเข้ามาเป็นใคร จะเป็นการทุจริตเชิงนโยบายหรือไม่ ที่จะให้ใครที่มีเทคโนโลยีสูงดังกล่าว ได้ประโยชน์จากนโยบายนี้มารับจ้างงานไปทำ ที่อาจใช้งบประมาณในการว่างจ้างจำนวนมาก ที่หากทำ ก็ต้องไปดึงงบจากที่ตั้งไว้ว่าจะช่วยเหลือประชาชน อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงอันหนึ่งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ถามไป รัฐบาลก็ไม่ให้คำตอบ ไม่มีความชัดเจนใดๆ คณะทำงานถามเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลัง เขาก็บอกว่าเรื่องยังมาไม่ถึง

“หากต้องใช้ระบบบล็อกเชน ซึ่งหากจะใช้เทคโนโลยีขนาดนั้น ก็ต้องมีการไปว่าจ้าง ผู้มีความเชี่ยวชาญเทคโนโลยีดังกล่าว ที่ก็อาจจะเป็นคนที่มีความเกี่ยวข้องกัน อาจเป็นคนที่ได้รับผลประโยชน์หรือคนที่ให้ผลประโยชน์กับบุคคลในรัฐบาล ซึ่งตรงนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่จะถูกคณะกรรมการป.ป.ช.สอบสวน และอาจถูกชี้มูล ก็อาจเป็นไปได้”

อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวอีกว่า ดิจิทัลวอลเล็ต ที่เป็นการแจกเงินเพื่อให้ไปใช้ในการบริโภค เป็นการดำเนินการที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ควรใช้เงิน ไปกับการลงทุนโดยภาครัฐ ที่จะทำให้จีดีพีขยายตัวมากกว่าที่จะให้เงินครัวเรือนนำไปใช้ เพราะฉะนั้น ถ้าหากว่า จีดีพีขยายตัวมากกว่าโดยที่รัฐบาลเป็นผู้ใช้จ่ายในการลงทุน ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะหากรัฐบาลลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส กลุ่มคนที่อยู่ในชนบทในพื้นที่ห่างไกล จะเป็นประโยชน์กับคนที่ขาดโอกาสจริงๆ

ต่อข้อถามถึง กรณีที่เคยเป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตรับจำนำข้าว ของ ป.ป.ช.มาก่อน คิดว่าหากรัฐบาลเดินหน้าดิจิทัลวอลเล็ต เกรงไหมว่ามันอาจจะซ้ำรอยรับจำนำข้าวได้ ดร.สิริลักษณา กล่าวว่า อันนี้ ก็แล้วแต่เหตุการณ์ แต่ก็คิดว่ามันมีความเป็นไปได้ ก็มีความเป็นไปได้ คือมันต้องมีการพิสูจน์หลายๆอย่าง ว่าคนที่ได้รับประโยชน์เป็นใคร อะไรต่างๆ เหล่านี้ ก็คิดว่ามันมีความเสี่ยง แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเกิด แต่มีความเสี่ยง

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password