ปิดฉาก APEC 2022 “บิ๊กตู่” มอบ “ชะลอม”ส่งไม้ต่อสหรัฐฯเจ้าภาพปี 2023

นายกรัฐมนตรี ร่วมหารือกับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค สนับสนุน WTO ผลักดันการค้าพหุภาคีรูปแบบใหม่ เน้นเปิดกว้าง สมดุล ยั่งยืน ก่อนมอบ “ชะลอม” สัญญลักษณ์ เอเปค2022 ส่งไม้ต่อ “คามาลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ ในฐานะประเทศเจ้าภาพปี 2023

วันที่ 19 พ.ย.65 เวลา 09.40 น. ที่ห้อง Plenary Hall 2 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ พ.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 รูปแบบ Retreat ช่วงที่ 2 หัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน” โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การค้าและการลงทุนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืนและครอบคลุมทั่วทั้งภูมิภาคและโลก การค้าและการลงทุนถือเป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือในเอเปค โดยองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่เอเปคสนับสนุน และสนับสนุนมาโดยตลอด คือ ระบบการค้าพหุภาคี มี WTO เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ เอเปคสามารถมีบทบาทในฐานะแหล่งบ่มเพาะทางความคิด โดยร่วมกันหาทางออกใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ อาทิ ความครอบคลุม ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล

การสนับสนุนสำคัญอย่างหนึ่งของเอเปคในระบบการค้าพหุภาคี คือ การขับเคลื่อนวาระเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia- Pacific: FTAAP) ที่ในปีนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยจัดทำแผนงานต่อเนื่องหลายปีเพื่อขับเคลื่อนวาระเรื่อง FTAAP ต่อไป ซึ่งจะช่วยสร้างศักยภาพและเตรียมเศรษฐกิจให้พร้อมสำหรับยุคหน้า รวมถึงประเด็นการค้าและการลงทุนยุคใหม่ เช่น ความยั่งยืน เศรษฐกิจดิจิทัล การค้า และสาธารณสุข โดยเห็นว่า นอกจากจะต้องดำเนินการตามแผนงานต่อเนื่องแล้ว ยังต้องคำนึงถึงขั้นตอนต่อไปด้วย โดยปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยรับมือและให้ฟื้นตัวจากโควิด-19 รวมทั้งยังสนับสนุน MSMEs ที่ถือเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโต ให้สามารถเข้าสู่ตลาดโลกและห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังขยายการเข้าถึงและสร้างโอกาสให้กับสตรี เยาวชน ตลอดจนในชนบทและพื้นที่ห่างไกล อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ยังคงมีช่องว่างอยู่ จึงจำเป็นที่จะต้องลดช่องว่างด้านดิจิทัลและเสริมพลัง เพื่อสร้างหลักประกันให้กับคนทุกกลุ่ม

นายกรัฐมนตรีกล่าวสรุปว่า เอเปคเห็นพ้องว่าต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมความมั่งคั่งและความกินดีอยู่ดีของประชาชนทุกคนในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ทั้งนี้ ยินดีที่เอเปคมุ่งมั่นสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่มี WTO เป็นศูนย์กลาง รวมทั้งให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนวาระ FTAAP โดยเอเปคยังสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเติบโต โดยเฉพาะสำหรับ MSMEs และธุรกิจนอกระบบ รวมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุน และห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น มุ่งเน้นการจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง ไทย หวังว่าแนวคิดเศรษฐกิจ BCG จะช่วยบ่มเพาะความคิดใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมร่วมกันต่อไป

โดยในตอนท้าย ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคร่วมกันรับรองร่างเอกสารผลลัพธ์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี ค.ศ. 2022 และเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ร่วมพิธีส่งมอบตำแหน่งเจ้าภาพเอเปค โดยได้มอบ”ชะลอม”ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการประชุมครั้งนี้ให้แก่ นางคามาลา แฮร์ริส รองประธานธิปดีสหรัฐอเมริกา พร้อมระบุว่า รู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจที่ไทยได้เป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 พร้อมขอบคุณการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากทุกเขตเศรษฐกิจมาโดยตลอด และเชื่อมั่นว่า ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา เอเปคจะได้รับการส่งเสริมเป็นอย่างดี พร้อมอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 2023 หรือ พ.ศ.2566

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ชะลอม” ที่ส่งมอบแก่สหรัฐอเมริกา ตัวชะลอมและพวงมาลัยถูกสานขึ้นด้วยไม้ไผ่โดยช่างฝีมือท้องถิ่นจากแบรนด์วาสนา แบรนด์เครื่องจักสานไม้ไผ่จากภาคเหนือของไทย โดยไม้ไผ่เป็นพืชเศรษฐกิจที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างช้านาน เป็นวัสดุธรรมชาติ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ถูกนำมาสร้างสรรค์ให้เกิดเป็นงานหัตถกรรมที่สวยงามต่างๆ ผ่านกระบวนการจักสาน โดยใช้เส้นสายของไม้ไผ่หลากหลายเส้นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน นามาขัดสานทับซ้อนกัน เพื่อให้เกิดเป็นรูปทรงชะลอมที่แข็งแรง เสมือนการร่วมมือกันที่เข้มแข็งของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ โดย สีทั้ง 3 สีของตัวชะลอมยังสะท้อนถึงหัวข้อหลักของการประชุมเอเปค ปี 2565 ของไทย คือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open. Connect. Balance) โดยสีน้าเงิน (Convenience Blue) สื่อถึงการเปิดการค้าการลงทุนของเขตเศรษฐกิจของ 21 เขตเศรษฐกิจ สีชมพู (Connection Pink) สื่อการเชื่อมโยงภายในภูมิภาค และสีเขียว (Sustainability Green) สื่อถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password