“ดร.อาทิตย์” วิเคราะห์! การเมือง ปม เลือกตั้งบัตรใบเดียว หรือ สองใบ ย้ำ ต้องเป็นอิสระ มีกฎกติกา

“ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์” อดีตประธานรัฐสภา วิเคราะห์การเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว หรือ “สองใบ” ต้อง “อิสระ-เสรี” พร้อมมี กฎกติกา ไม่ยุ่งยาก ซับซ้อน สะท้อนเจตนารมย์ของปชช.

วันที่ 29 กรกฎาคม 2565 ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานรัฐสภา และปัจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Arthit Ourairat” ระบุว่า เลือกตั้งบัตรใบเดียว หรือ สองใบ การเลือกตั้งซึ่งถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ดีที่สุดของระบอบประชาธิปไตย มีหลักการสำคัญว่า ต้อง

1.FREE คือ อิสระ เสรี โดยวิจารณญาณที่บริสุทธิ์ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่มีการใช้อำนาจหรือกลเม็ดใดใด บังคับขู่เข็น โน้มน้าว ทั้งทางตรงและทางอ้อม

2.FAIR คือ เป็นธรรม ไม่ทุจริต ไม่โกง ตรงไปตรงมา เลือกใครก็ได้คนนั้น

3.REPRESENTATIVE คือ มีความเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริงและเชื่อถือได้

อีกทั้ง ต้องมีกฎ กติกาสำคัญเบื้องต้น ดังนี้

1.One Man One Vote ในการเลือกตั้งตำแหน่งเดียวกัน ในครั้งหนึ่ง ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องมีสิทธิ์ออกเสียงได้เพียงครั้งเดียวเท่ากัน
การเลือกตั้ง สส. ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกัน แม้จะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ สส เขต และ สส บัญชีรายชื่อ ไม่ว่า 350/150 หรือ 400/100 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งคนเดียวก็ต้องเลือกได้ครั้งเดียว นั่นหมายถึงว่า ต้องใช้บัตรใบเดียว เพราะมิฉะนั้น ก็จะผิดหลักการเบื้องต้น One Man One Vote และจะกลายเป็น One Man Two Votes ไป

2.REPRESENTATION คือทุกคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องได้รับการพิจารณา ไม่มีคะแนนใดถูกทิ้งน้ำสูญเปล่า
การนับคะแนนเฉพาะที่ชนะได้ที่หนึ่ง และทิ้งคะแนนของผู้ที่ได้เป็นอันดับสองและอันดับรองๆลงไป โดยไม่ได้สิทธิ์ Representation เลย แบบ Winner Takes All ไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องของการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย

และในหลายกรณี ผู้ที่ได้คะแนนเสียงที่ 2-3-4-5 รวมกันแล้วอาจมากกว่า ที่หนึ่งด้วยซ้ำไป ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับสิทธิ์ในการ Representation ที่แท้จริง เพราะหลักประชาธิปไตย ยังต้องเคารพ Majority Rule Minority Right ไม่ให้มีคะแนนใดตกทิ้งน้ำสูญเปล่า เพราะเขาคือประชาชนเหมือนกัน ต้องได้รับสิทธิ์ในการ Representation
ดังนั้น หลักการที่ถูกต้องและเป็นธรรม คือ ใช้บัตรใบเดียว แต่การนับคะแนน ต้องหักคะแนนผู้ชนะการเลือกตั้งเขตออกไปก่อน แล้วนับรวมคะแนนของผู้ที่ได้ในอันดับรองลงไปทั้งประเทศของพรรคต่างๆ มาคิดเป็นสัดส่วนของ สส บัญชีรายชื่อ ของพรรคต่างๆ

3.SIMPLE และ ไม่ DOUBLE COUNT คือง่ายและไม่นับสองซ้อน

การเลือกตั้งไม่ใช่คณิตศาสตร์ หรือ มายากล ต้องสะท้อนเจตนารมย์ของประชาชน ที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน เลือกคนไหนก็ได้คนนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเกณฑ์การคำนวน สส. พึงมี หรือควรมี เพราะไม่มีใครรู้ดีกว่าประชาชน ดังนั้นสูตรการเอาคะแนนเลือกตั้งที่ชนะแล้ว มานับซ้ำอีกก็ดี หรือเอามาคูณด้วย 2 ก็ดีซึ่งเป็นการขัดกับหลักนับสองซ้อนหรือนับแล้วนับอีก Double Count ทั้งสิ้น แล้วหารด้วย 100 หรือ 500 ซึ่งไม่ใช่จำนวน สส. บัญชีรายชื่อที่แท้จริง ย่อมเป็นการสร้างกฎเกณฑ์กติกาให้ซับซ้อนซ่อนเงื่อนที่ไม่ตรงกับเจตนารมย์การเลือกตั้งของประชาชน

โดยสรุป หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ความยุ่งเหยิง ขัดแย้ง ทะเลาะเบาะแว้งเกี่ยวกับกฎเกณฑ์กติกาการเลือกตั้ง ไม่ว่า บัตรใบเดียว หรือสองใบ การกำหนดจำนวน สส พึงมี การคำนวนคะแนน หารด้วย 500 หรือ 100 จึงไม่ถูกต้องชอบธรรม ไม่ตรงตามหลักการประชาธิปไตยและไม่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนแต่อย่างใด แต่เป็นการช่วงชิงเพื่อชัยชนะและอำนาจของนักการเมืองเท่านั้น.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password