นายกฯ สั่ง กระทรวงคลัง จัดสรรงบประมาณอุดหนุนมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว


รัฐบาลผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศต่อเนื่อง นายกฯ มอบกระทรวงการคลังพิจารณาจัดงบประมาณสนับสนุนมาตรการกระตุ้นให้เกิดความคึกคักทั้งนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศ

วันที่ 9 มิ.ย.2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ให้ความสำคัญกับการผลักดันการฟื้นตัวที่ต่อเนื่องของการท่องเที่ยว ทั้งส่วนของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และ การส่งเสริมให้คนไทยเที่ยวในประเทศ โดยได้มอบหมายกระทรวงการคลัง พิจารณาจัดงบประมาณสนับสนุนตามความเหมาะสม จัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณ กับการดูแลประชาชนในโครงการอื่นๆ

นอกจากนี้ นายกฯ ได้มอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องมีกิจกรรมเพื่อสร้างความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยว เพื่อดึงดูดให้คนไทยเที่ยวในประเทศ ลดการออกไปเที่ยวต่างประเทศ ช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวในประเทศและช่วยดูแลไม่ให้เงินไหลออกจากประเทศด้วย ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ในการจัดกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ ตามแคมเปญ “เที่ยวเมืองไทย Amazing ยิ่งกว่าเดิม” มีกลยุทธ์แบบพุ่งเป้าสร้างความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นเสน่ห์วันวานเมืองเหนือ, เทรนดี้ C2ภาคกลาง, สบ๊ายสบาย ภาคตะวันออก, หลงรักแผ่นดินอีสาน และหรอยแรงแหล่งใต้

น.ส.ไตรศุลีกล่าวว่า จากที่ได้เล็งเห็นความสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศให้ต่อเนื่อง คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 4 พ.ย.2564 ได้อนุมัติหยุดราชการปี 2565 เพิ่มเป็นกรณีพิเศษ ได้แก่วันศุกร์ที่ 15 ก.ค., วันศุกร์ที่ 29 ก.ค., วันศุกร์ที่ 14 ต.ค. และ วันศุกร์ที่ 30 ธ.ค. 2565 เพื่อให้มีวันหยุดยาวเชื่อมโยงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางและส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

“นายกฯ ย้ำกับทุกหน่วยงานว่า การผลักดันฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้สู่เมืองรอง ผลักดันการท่องเที่ยวชุมชน กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เพื่อให้ความเข้มแข็งเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับฐานรากของเศรษฐกิจ” น.ส.ไตรศุลีกล่าว และ ว่า

ปี 2565 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตั้งเป้าส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวทั่วประเทศในปีนี้ 160 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ 6.56 แสนล้านบาท โดยเป็นการเดินทางท่องเที่ยวและรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย กรุงเทพฯ 26.69 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 2.03 แสนล้านบาท ภาคกลาง 19.02 คน-ครั้ง รายได้ 2.98 หมื่นล้านบาท ภาคตะวันตก 23.86 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 6.11 หมื่นล้านบาท ภาคตะวันออก 17.99 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 8.74 หมื่นล้านบาท ภาคใต้ 22.14 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 1.05 แสนล้านบาท ภาคเหนือ 20.66 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.10 แสนล้านบาท และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26.62 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 5.88 หมื่นล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password