รัฐเร่งเครื่องสั่งปราบสารพัดแก๊งโกงออนไลน์ ดีลเขมรช่วยคนไทยถูกหลอกร่วมงานคอลเซ็นเตอร์

รัฐบาลเร่งเครื่องเอาช่วงท้าย สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเอาจริงปราบแก๊งโกงออนไลน์ทุกรูปแบบ ดัน สตช.รับมือและจัดการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้หนัก พร้อมประสานทางการกัมพูชา ช่วยแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานร่วมก๊วนมิจฉาชีพ

พล.ต.อ.ดร.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า รัฐบาลมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการหลอกลวงของแก๊งคอลเซนเตอร์ และอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทำให้ประชาชนเดือดร้อนและสูญเสียทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จึงสั่งเร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะ แก๊งคอลเซนเตอร์ สแกมเมอร์ การหลอกให้รัก หลอกให้ลงทุน รวมไปถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมร้ายแรงต่อประชาชน การเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake news) การเผยแพร่ภาพวาดการ์ตูนล้อเลียนบุคคลสำคัญ หรือสถาบันหลักของชาติ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนสื่อสังคมออนไลน์  โดยมอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามในทุกมิติ

นอกจากนี้ ยังได้ประสานความร่วมมือรัฐบาลกัมพูชาให้ช่วยเหลือคนไทยที่ถูกหลอกไปทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติป็นหน่วยแกนหลักที่ต้องบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้มอบหมาย พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พล.อ.สุชาติ ผ่องพุฒิ คณะทำงานรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาฉ้อโกงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สำนักงาน ปปง. สำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง หารือกำหนดมาตรการและขั้นตอนปฏิบัติในการบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับการดำเนินงานของ ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาข่าวปลอม (Anti Fake News Center : AFNC) ในการจัดการแก้ไขและเผยแพร่เนื้อหาที่ถูกต้องต่อสาธารณะเพื่อรับแจ้งข่าวและเบาะแสของข้อมูลเท็จที่เผยแพร่อยู่ในสังคม ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 62 – 31 ต.ค. 65 นั้น จากการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 942,821,174 ข้อความ ข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์การตรวจสอบทั้งหมด 39,346 ข้อความ โดยหลังจากคัดกรองพบข้อความจำนวนเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 19,065 เรื่อง สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุดอันดับ 1 คือ Social Listening Tools 99.89% รองลงมาคือ Line Official 0.10%, Twitter 0.01%, Facebook 0.00% และ Official Website 0.00% ตามลำดับ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password