กมธ.ไอซีที วุฒิฯ หนุนคุมเข้มทรัพย์ดิจิทัล หวั่นปมปกปิดตัวตนก่ออาชญากรรมเศรษฐกิจ

กมธ.ไอซีที วุฒิสภา เร่งเดินหน้า “คุมเข้ม” สินทรัพย์ดิจิทัล หวั่นกฎหมายปัจจุบันเปิดช่องโหว่ให้อาชญากรใช้เป็นช่องทางก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เหตุสามารถปกปิดตัวตนแท้จริงได้  พร้อมกำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งพีอาร์ถึงคนไทย ก่อนตกเป็นเหยื่อแก๊งมิจฉาชีพ

พลเอก อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็น ประธานในการประชุมคณะกรรมาธิการ การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา  กล่าวว่า จากการพิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการควบคุมกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) โดยเฉพาะกรณีการโอนเงินออกนอกประเทศ นั้น กมธ.ชุดนี้ ได้เชิญ นายสรร พัวจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายกำกับตลาด สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เข้าร่วมชี้แจง โดยยืนยันว่า สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ประกอบด้วย  คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และโทเคนดิจิทัล (Digital Token)  

สามารถแบ่งย่อยได้เป็น โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) กำหนดสิทธิของบุคคลในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ  และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (Utility Token) ภาครัฐจึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล ด้วยการ ตราพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.  2561 เพื่อกำกับดูแลตลาดสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งการเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน  การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และ การกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Unfair Trading Practices)

เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลมีจุดเด่น คือ ความเป็นนิรนาม (Anonymity)  สามารถปกปิดตัวตนของผู้ใช้และมีความสะดวกในการทำธุรกรรมเมื่อเทียบกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น จึงมีความสุ่มเสี่ยง อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือใช้ในการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี คณะกรรมาธิการฯ ไอซีที  จึงมีข้อสังเกต  ในการควบคุมกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลตามกฎหมาย ป.ป.ง.  ต้องดำเนินการ  ทั้งการรู้จักลูกค้า (KYC) การตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า (CDD) การรายงานธุรกรรม ยังขาดความสมบูรณ์ในการป้องกันการหลอกลวงของอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแบบครบวงจร   เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้า  เพราะยังมีช่องโหว่ให้อาชญากรใช้เป็นช่องทางกระทำความผิด

นอกจากนี้ กมธ.ไอซีที วุฒิสภา ยังเร่งรัดให้มีการแจ้งเตือนหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ รวมถึงเฝ้าระวัง wallet ที่มีความสุ่มเสี่ยงเข้าข่ายถูกใช้เป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เป็นเรื่องใหม่  ประเทศไทยจึงได้ออกกฎหมาย ควบคุมการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล และมองว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควร ศึกษาข้อมูลกฎหมาย เปรียบเทียบกับต่างประเทศ  เพื่อปรับปรุงให้ทุนเหตุการณ์  และเข้มงวดเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อของบริษัทเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล

“กมธ.ไอซีที พร้อมจะเดินหน้าต่อไป เพื่อผลักดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  ซึ่งยังเป็นปัญหาในปัจจุบันโดยเร็ว” ประธาน กมธ.ไอซีที วุฒิสภา ย้ำ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password