“กฤษฎีกา” เคาะแล้ว! ทางออกปมดีล “ทรู-ดีแทค” ยึดประกาศปี61 ให้กสทช. “ทราบ-ออกเงื่อนไข”

“กฤษฎีกา” ตีความ การรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ใช้ประกาศปี 2561 ชี้ ตามกฎหมาย ไม่ต้องขออนุมัติ กสทช.มีอำนาจกำหนดเงื่อนไข หรือ มาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ ย้ำ ต้องใช้อำนาจโดยคำนึง ถึงการคุ้มครองผู้บริโภคควบคู่ไปกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคม

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ตามที่ กสทช.ทำหนังสือ ถึง นายกรัฐมนตรีเพื่อขอความอนุเคราะห์ ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็น ในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อตีความอำนาจพิจารณาการรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคนั้น ล่าสุด วันนี้ 20 ก.ย.65 สำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นที่เรียบร้อย และ ได้ส่งต่อประธานกสทช.เพื่อที่จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในลำดับต่อไป

โดยมีความเห็นสรุปเป็นสาระสำคัญได้ว่า การรวมกิจการโทรคมนาคม ระหว่าง “ทรูและดีแทค” ต้องยึดตามประกาศ กสทช.ปี 2561 เนื่องจากกฎหมายรวมธุรกิจใน กิจการโทรคมนาคม ตามประกาศ กสทช.ปี 2553 ที่ กำหนดให้การรวมธุรกิจ ต้องได้รับอนุญาตจากกสทช.ก่อนนั้น ได้ถูกยกเลิกแล้ว โดยมีประกาศ กสทช.ปี 2561 ขึ้นมาแทน

ซึ่งกำหนดให้การรวมธุรกิจกระทำได้ โดยจัดทำรายงานส่งให้กสทช. โดยมีทั้งกรณี ที่ต้องรายงานก่อนล่วงหน้า และ รายงานหลังจากรวมธุรกิจแล้ว สอดคล้องกับ มาตรา 77 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตเฉพาะกรณีที่จำเป็น ในการนี้ กสทช. มีอำนาจกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ สำหรับผู้มีอำนาจเหนือตลาดมาบังคับใช้เพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ตามข้อ 12 ของประกาศปี 2561 นอกจากนี้ยังให้ความเห็นว่า กสทช. ต้องใช้อำนาจโดยคำนึงถึงความได้สัดส่วนระหว่างการคุ้มครองผู้บริโภคกับการพัฒนากิจการโทรคมนาคมด้วย

รายงานข่าวเปิดเผยด้วยว่า ข้อคิดเห็นทางกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกา ถือ เป็นประตูทางออกสำหรับกสทช.ในการพิจารณาการรวมกิจการทรูดีแทค ซึ่งคาดว่ากสทช.จะมีการเรียกประชุมวาระพิเศษเพื่อพิจารณากำหนดเงื่อนไขโดยเร็ว เพื่อลดกระทบต่อผู้บริโภคตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวล เนื่องจากกรณีนี้ล่าช้าและยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password