อิงกระแส ‘ชัชชาติ’ เพิ่มยอด! หลังพบ จยย.ใน กทม. กว่า 30% ไร้ พ.ร.บ.

เลขาฯคปภ. ดึง ผู้ว่าฯกทม. เป็นพรีเซ็นเตอร์ หวังดูดนักบิดฯในเมืองหลวง เพิ่มยอดทำ พ.ร.บ. ลดความเสียหายหากเกิดอุบัติเหตุบนถนน เผย! มีอีกว่า 30% ของจักรยานยนต์ จากยอดรวมเฉียด 3 ล้านคันในกรุงเทพฯ ที่ไม่ทำ/ไม่ต่อ พ.ร.บ. ทั้งที่กฎหมายกำหนดชัด สร้างปัญหาด้านข้อมูลให้กับกรมขนส่งทางบก ด้าน “ชัชชาติ” น้อมรับความร่วมมือ แนะทำเป็นแพ็กเกจเสนอคนเมืองหลวงในคราวเดียวกันเลย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) และ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวโครงการรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่นำร่อง เพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ.อย่างยั่งยืน เมื่อช่วงสายวันที่ 13 กันยายน 2565 ณ ลานกิจกรรม ชั้น G สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ โดยในงานนี้ เลขาธิการ คปภ. ยังได้มอบกรมธรรม์ พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์จำนวน 500 ฉบับ ให้แก่พนักงานและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานของ กทม. ผ่านทาง ผู้ว่าฯกทม.

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า หนึ่งในแผนงานที่จะเร่งดำเนินการโดยนำระบบการประกันภัยมาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพมหานคร คือ การรณรงค์เชิงรุกให้ผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยายนต์ที่มีรวมกันมากกว่า 4 ล้านคน ได้ทำประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) เพื่อเพิ่มจำนวนการทำประกันภัยจากเดิมที่มีราว 2.9 ล้านคัน หรือไม่ถึงร้อยละ 70 ทั้งนี้ ในจำนวนกว่าร้อยละ 30 นั้น พบว่า มีทั้งกลุ่มที่ยังไม่เคยทำประกันภัย พ.ร.บ. และเคยทำแต่ไม่ไปต่ออายุ พ.ร.บ. ทำให้ไม่สามารถไปต่อป้ายทะเบียนรถฯจากกรมการขนส่งทางบกได้ ส่งผลทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับรถยนต์และรถจักรยานยนต์กลุ่มนี้ขาดหายไปจากสารบบของส่วนราชการ

“เรามีเป้าหมายที่จะทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นจำนวนมากเป็นอันดับหนึ่งของการนำระบบประกันภัย พ.ร.บ.อย่างยั่งยืน มายกระดับคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯ และใช้เป็นกรณีศึกษาให้กับพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทยต่อไป” เลขาธิการ คปภ. ระบุและว่า การได้ ผู้ว่าฯชัชชาติ มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ในโครงการนี้ เชื่อว่าจะสร้างจุดสนใจให้กับคนในกรุงเทพฯได้เป็นอย่างดี

ด้าน ผู้ว่าฯกทม. กล่าวว่า กทม.เห็นด้วยกับแนวคิดของ คปภ. เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงผู้ขับขี่ทั่วไป แต่ยังมีกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง กลุ่มไรเดอร์รับ-ส่งอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ กทม.เอง ที่มีการขับขี่จักรยานยนต์มากกว่า 20,000 คันในแต่ละวัน และในอนาคตอันใกล้ เชื่อว่าจำนวนรถยนต์และจักรยานยนต์ในพื้นที่ กทม.จะเพิ่มขึ้นเป็น 5-6 ล้านคัน จำเป็นจะต้องวางแนวทางในการนำระบบประกันภัยมาใช้ เนื่องจากทุกครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้ครอบครัวของผู้ประสบภัยต้องไปกู้หนี้ยืมสิน จนกลายเป็นปัญหาอื่นๆ ลุกลามตามกันไป จึงต้องหาทางป้องกันช่วยเหลือตั้งแต่ต้น

“ค่าใช้จ่ายในการทำประกันภัย พ.ร.บ. รถจักรยานยนต์ ตกแค่ปีละกว่า 300 บาท หรือเก็บเงินวันละบาทเท่านั้น จำเป็นจะต้องสื่อสารในเรื่องนี้ไปยังกลุ่มเป้าหมายให้มากขึ้น แต่จะต้องทำเป็นแพ็กเกจ ทั้งเรื่องการรณรงค์ทำประกันภัย พ.ร.บ. ไปกับการรณรงค์สวมหมวกกันน็อค การรณรงค์ไม่ขับรถเร็ว การรณรงค์รักษากฎจราจร เป็นต้น” ดร.ชัชชาติ ย้ำ

ขณะที่ เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า คปภ.เห็นพ้องกับแนวคิดของ ผู้ว่าฯกทม. ในการรณรงค์เป็นแพ็กเกจ โดยในส่วนของ คปภ. อาจต้องเน้นการรณรงค์ในการทำประกันภัยหลายๆ ไปพร้อมกัน เช่น ประกันภัย พ.ร.บ. ประกันภัยอุบัติ ประกันภัยบ้าน ประกันภัยสุขภาพ เป็นต้น นอกจาก การมุ่งเน้นการรณรงค์เชิงรุกในพื้นที่ กทม.เพื่อส่งเสริมการทำประกันภัย พ.ร.บ.อย่างยั่งยืนแล้ว คปภ.จะเร่งดำเนินการในพื้นที่อื่นๆ ซึ่งในนั้นมีแผนจะดำเนินการร่วมกับการนิคมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ในการรณรงค์ให้มีการทำประกันภัย พ.ร.บ.อย่างยั่งยืนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง เพื่อเป็นการนำร่อง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมบางปู.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password