“ศิริราชคอมเพล็กซ์” บูมฝั่งธนฯ เชื่อมรถไฟฟ้าสายสีแดง-ส้ม ผุด ทำเลทองแห่งอนาคต

คอมเพล็กซ์หมื่นล้าน “ศิริราช” เปิดใช้แน่ภายใน 5 ปี ปูทางสร้าง “โรงพยาบาลลอยฟ้า” ครั้งแรกของประเทศ ลงทุนเชื่อม 2 รถไฟฟ้าสายสีแดง-สีส้ม ปลุกทำเลแห่งอนาคต ศูนย์กลางความเจริญการแพทย์แห่งใหม่ย่านฝั่งธนฯ บูม “สถานีธนบุรี-พรานนก” เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดี

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เตรียมพลิกโฉมที่ดิน เสริมรายได้ สร้างอนาคต ตามนโยบาย ร.ฟ.ท. ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ในการพัฒนาพื้นที่ ย่านสถานีธนบุรี ที่ทุกฝ่ายต่างให้ความสนใจ เนื่องจากปัจจุบันการใช้ประโยชน์ที่ดินยังขาดแนวทางการควบคุมที่ชัดเจน ทั้งการใช้ประโยชน์พื้นที่โดยรอบ ยังไม่เป็นระเบียบ ทำให้ที่ดิน 147.92 ไร่ ตั้งแต่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านสถานีธนบุรีไปจนถึงบริเวณใกล้ถนนจรัญสนิทวงศ์ มีการใช้ที่ดินได้ไม่เต็มศักยภาพ ขณะที่เมืองเริ่มขยายตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ

ล่าสุดมีรายงานข่าวจาก ร.ฟ.ท.ระบุว่า การพัฒนาที่ดินแปลงใหม่ผืนนี้ได้แบ่งเป็น 4 โซน ดังนี้

Zone 1 : พื้นที่ภายใต้การใช้กิจกรรมของ ร.ฟ.ท.เดิม จะเป็นการใช้ประโยชน์ประเภทพื้นที่สถานีธนบุรี, สถานีรถไฟฟ้าสายสีส้ม สถานีรถไฟชานเมืองสายสีแดง, พื้นที่แนวรางรถไฟ และศูนย์ซ่อมบำรุง

Zone 2 : Rented Area เป็นพื้นที่ที่การรถไฟฯ ปล่อยเช่าให้กับเอกชน หรือ ภาครัฐในการใช้ประโยชน์ ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช, หอพักโรงพยาบาลศิริราช, ปั๊มน้ำมัน, ลานจอดรถ และตลาดศาลาน้ำเย็น

Zone 3 : New Residential and SRT Town พื้นที่โซนที่พักอาศัย รองรับกลุ่มผู้อยู่อาศัยใหม่มี 3 อาคาร คือ ที่พักอาศัยพนักงาน นักศึกษาแพทย์ พนักงาน ร.ฟ.ท. และ ผู้อยู่อาศัยใหม่ รวมถึงอาคารที่พักอาศัยแพทย์ และพื้นที่สีเขียว ลานกิจกรรมของชุมชน

Zone 4 : Thonburi Railway New Commercial พื้นที่ส่วนกลางที่เป็นตลาด รองรับกิจกรรมของกลุ่มผู้อยู่อาศัยใหม่ และกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่เดิม

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบ ทำให้แผนพัฒนาที่ดินดังกล่าวล่าช้า แต่ ร.ฟ.ท.ยืนยันว่า การทำงานภายในยังคงดำเนินต่อเนื่อง เพราะเป็นโปรเจ็กต์สำคัญ แต่เกี่ยวโยงกับภาครัฐและเอกชนหลายส่วน จึงต้องใช้เวลา โดยมั่นใจ 5 ปีเกิดแน่

ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า พื้นที่ศิริราชมีทั้งหมด 70 ไร่ ขณะนี้ได้ใช้ประโยชน์เต็มทุกพื้นที่แล้ว แต่ในอนาคตอันใกล้ที่ดินย่านนี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการพัฒนาพื้นที่ของศิริราชบางส่วน ที่ต่อเชื่อมกับที่ดินการรถไฟฯ บริเวณด้านสถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ และพื้นที่จอดรถอีก 5 ไร่ จะกลายเป็นสถานีรถไฟศิริราช ซึ่งจะเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนที่มาจากพุทธมณฑล-ตลิ่งชัน และสายสีส้มที่มาจากศูนย์วัฒนธรรม ลอดอุโมงค์แม่น้ำเจ้าพระยาข้ามมาย่านฝั่งธนบุรี

ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ศิริราชก่อสร้าง โดยอนุมัติวงเงิน 3,800 ล้านบาท เพื่อสร้างอาคารใหม่ ภาพอนาคต เราจะมีโรงพยาบาลอยู่ในคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ จะทำให้การเดินทางสะดวกขึ้นมากทุกคนไม่ต้องขับรถมา โดยเฉพาะคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้อย่างกลุ่มคนรุ่นใหม่จะสามารถโดยสารรถไฟฟ้าเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในทุกด้าน “คาดว่าอาคารใหม่น่าจะเสร็จในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นอาคารที่มีทั้งศูนย์การตรวจสุขภาพ ฟื้นฟูสมรรถภาพ ศูนย์ผ่าตัดย่อย และไอซียู ถือเป็นโปรเจ็กต์ขนาดใหญ่ที่ตัวอาคารจะตั้งอยู่บนอาคารสถานีรถไฟ ซึ่งเป็นที่แรกในประเทศไทย” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวและว่า

ด้านการลงทุน ครม.จะสนับสนุนงบประมาณ 67% จาก 3,800 ล้านบาท อีก 33% ศิริราช จะเป็นผู้จัดหาเงินลงทุนมาดำเนินการร่วมกัน ซึ่งแต่ละปีศิริราชจะลงทุนโดยเฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท เพราะเราต้องบริหารตัวเองในแง่ของบริการสาธารณะ ควบคู่กับการเป็น BU หนึ่ง ซึ่งตามหลักการลงทุนตอนนี้ ศิริราชได้ออกนอกระบบแล้ว แต่ยังอยู่ภายใต้กำกับของรัฐบาล ที่เคยเป็นหน่วยงานราชการ โดยมีพระราชบัญญัติเป็นของตัวเอง เนื่องจากเป็นคณะหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล จึงมีพระราชบัญญัติแห่งมหาวิทยาลัยมหิดล

“การทำงานโครงการต่าง ๆ ศิริราชจะล้อไปกับภาครัฐ และต้องผ่านกระบวนตรวจเงินแผ่นดิน ตรวจคุณภาพต่าง ๆ แต่มีการเปิดช่องว่างให้เราสามารถบริหารภายในได้อย่างคล่องตัว เงินทุกบาททุกสตางค์ของที่นี่ก็คือเงินของประชาชนที่เราต้องดูแลให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด” ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวในที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ โครงการดังกล่าวออกแบบเสร็จแล้ว โดยได้รับอนุมัติจากสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้มีการปรับใช้ประโยชน์ที่ดินจากปัจจุบันเป็นสีน้ำตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก) มีข้อจำกัดสร้างอาคารได้ไม่เกิน 5 ชั้น เป็นพื้นที่สีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทสถาบันราชการ การสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ) เพื่อพัฒนาอาคารสูงได้ ตามแผนจะต้องก่อสร้างอาคารให้เสร็จในปี 2567 แต่เกิดสถานการณ์โควิด-19 เสียก่อน

ส่วนสายสีแดงจะเปิดให้บริการปี 2566 สายสีส้มเปิดในปี 2569 อีกทั้งมีแผนจะปรับปรุงอาคารผู้ป่วยฉุกเฉิน เป็นศูนย์การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินของประเทศไทยอีก 4,000-5,000 ล้านบาท สร้างอาคารกุมารแพทย์ใหม่ 1,000 ล้านบาท

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติโครงการอาคารรักษาพยาบาล และสถานีศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล งบประมาณรวม 3,851.27 ล้านบาท แบ่งเป็น งบฯลงทุนค่าก่อสร้าง 2,338.27 ล้านบาท ครุภัณฑ์การแพทย์ 1,400 ล้านบาท และงบฯบุคลากร (หมวดเงินเดือน) 113.01 ล้านบาท

โดยขออนุมัติงบประมาณตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2569 จำนวน 2,552.50 ล้านบาท และเงินสมทบจากเงินนอกงบประมาณ จำนวน 1,298.77 ล้านบาท ในลักษณะเป็นเงินอุดหนุน

โครงการนี้เกิดขึ้นโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร.ฟ.ท. และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ เพื่อดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารรักษาพยาบาลและสถานีศิริราช เพื่อให้เป็นสถานีขนส่งมวลชนเพื่อสุขภาพและสาธารณสุขแห่งแรกของประเทศไทย

โดยพัฒนาจุดเชื่อมโยงการเดินทางโดยรถไฟฟ้าบริเวณโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 2 สถานี คือ สถานีศิริราช รถไฟฟ้าสายสีส้มของ รฟม. และสถานีธนบุรี-ศิริราช รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อนของ ร.ฟ.ท. และเพิ่มประโยชน์การใช้งานนอกเหนือจากสถานีรถไฟฟ้าด้วยการบริการรักษาพยาบาล เช่น งานบริการผู้ป่วยนอก งานบริการผู้ป่วยใน งานบริการตรวจผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องพักค้าง เป็นต้น

เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาการเดินทางและลดความแออัดของผู้ป่วยภายในโรงพยาบาลศิริราช ด้วยการเป็น One Stop Service และ Best Integrated Care

โครงการนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ ร.ฟ.ท. ซึ่งต่อเนื่องกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล บริเวณสถานีรถไฟธนบุรี-ศิริราช ช่วงเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เลียบคลองบางกอกน้อย โดยเป็นการเช่าที่ดินของ ร.ฟ.ท. บนพื้นที่ 4.67 ไร่ (7,456 ตารางเมตร) ระยะเวลาเช่า 30 ปี

ลักษณะของโครงการ เป็นการก่อสร้างอาคารสูง 15 ชั้น ชั้นใต้ดิน 3 ชั้น รวมความสูงของอาคารเท่ากับ 81 เมตร มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 51,853 ตารางเมตร แบ่งเป็น 1.พื้นที่โรงพยาบาล 47,537 ตารางเมตร 2.พื้นที่รถไฟสายสีแดงอ่อน 3,410 ตารางเมตร และ 3.พื้นที่รถไฟฟ้าสายสีส้ม 906 ตารางเมตร พร้อมพื้นที่จอดรถ 79 คัน ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 32 เดือน รวมระยะเวลาดำเนินโครงการ 4 ปี.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password