เอเบิ้ล แอสเสทฯ ทุ่มพันล้านรุกเปิดโครงการแนวราบ จ่อเปิดคอนโดฯในเมืองรับอสังหาฯฟื้น แย้มเข้า mai ปี’68

“เอเบิ้ล แอสเสทฯ” เข้าสู่รอบเพิ่มโอกาสขยายการลงทุน สร้างแบรนด์โครงการอสังหาฯกระจายสู่ทุกกลุ่มลูกค้า ชูกลยุทธ์รุกตลาดแนวราบเป็นหลัก วางเป้าเปิดปีละ 2-3 โครงการ เผยปี 2566 มูลค่าขึ้นโครงการใหม่มากกว่า 1,000 ล้านบาท เพิ่มยอดการขายและรายได้จาก 3 โครงการในปี 2565 เผยมีที่ดินพร้อมพัฒนาคอนโดฯโลว์ไรส์ในเมือง ทำตลาดระดับราคา 1.8-2 แสนบาทต่อตร.ม. เจรจาซื้อแลนด์แบงก์พัฒนาออฟฟิศให้เช่า รองรับแผนสร้างความมั่นคงเสริมรายได้ประจำ กระแสเงินสดปีละ 22 ล้านบาท  แย้มภายในปี 2568 เข้าระดมทุนตลาด mai

กษิดิศ มโนภินิเวศ

นายกษิดิศ มโนภินิเวศ กรรมการจัดการ บริษัท เอเบิ้ล แอสเสท กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจก่อสร้างมานานกว่า 20 ปี ฉายภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2565 ว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค มีแนวโน้มได้รับปัจจัยบวกจากปัจจัยบวก เริ่มจากเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในทิศทางฟื้นตัวและกลับไปอยู่ในระดับที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ในปี 2566 จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มจะพื้นตัว หลังจากที่โควิด-19 กำลังจะผ่านพ้นไป รวมถึงมาตรการของรัฐที่ยังคงผ่อนปรน ความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าเยือนประเทศไทย

สำหรับมุมมองต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2566 นั้น เชื่อว่า ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องเผชิญปัจจัยลบ โดยเฉพาะในเรื่องของหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงเป็นความท้าทาย แต่เราเชื่อว่าการที่เรามีความพร้อม และมีพันธมิตรที่เข้มแข็ง เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้

คณะผู้บริหารและที่ปรึกษาบริษัทฯ

ประการแรก การวิเคราะห์และเลือกทำเลที่เหมาะสม ช่วยให้ทางบริษัทได้ทำเลที่ดีเหมาะกับการซื้อที่ดิน การออกแบบ (ดีไซน์) ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้า เนื่องจากในอนาคต บ้านจะเล็กลง เนื่องจากบ้านมีราคาแพงขึ้น ที่ดินพัฒนามีจำกัดและราคาค่อนข้างสูง และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น มีผลต่อการซื้อที่อยู่อาศัย

ประการที่สอง การนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาใช้ เช่น พลังงานสะอาด โซล่าร์เซล์ เลือกวัสดุทดแทน ที่มีความแข็งแรงใช้งานได้ดี สวยงาม คงทน ง่ายต่อการบำรุงรักษา เพื่อความคุ้มค่าและประหยัดสำหรับผู้อยู่อาศัย อยู่อาศัยแล้วมีมูลค่าเพิ่มขึ้น เพิ่มบริการหลังการขาย และที่สำคัญ และประการสุดท้าย การมีพันธมิตรจากซัพพลายเออร์ที่ร่วมกันทำอย่างจริงจัง ส่งโครงการที่อยู่อาศัยถึงผู้ซื้อ

แอสโทเรีย ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ (gate)

สำหรับนโยบายการลงทุนและพัฒนาโครงการของบริษัทฯในระยะ 3 ปีจากนี้ (ปี 2566-2568) กรรมการจัดการ บริษัท เอเบิ้ล แอสเสทฯ ได้ให้น้ำหนักจัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการแนวราบเป็นสำคัญ แต่ละปีจะพัฒนาโครงการใหม่ๆ ปีละ 2-3 โครงการ โดยในปี 2564-2565 ได้พัฒนาและเปิด 3 โครงการแนวราบ รวมมูลค่า 1,321 ล้านบาท ได้แก่ โครงการ แอสโทเรีย รังสิต- คลองสาม วางเป้าปิดการขายปี 2566 โครงการแอสโทเรีย ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์ ปิดการขายปี 2567 และ โครงการอาร์ทีค รามคำแหง ปิดการขายในปีหน้า ซึ่งทั้ง 3 โครงการ ปัจจุบันมียอดขายแล้ว 340 ล้านบาท

twin Final แอสโทเรีย ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์

โดยในช่วงปลายปี 2565 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2566 เอเบิ้ล แอสเสท ได้มีแผนพัฒนาโครงการแนวราบเพิ่มอีก 2 โครงการบนทำเลศักยภาพ มูลค่ารวม 1,000 ล้านบาท ได้แก่ ลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี รูปแบบบ้านเดี่ยว จำนวน 63 ยูนิต  ราคา 5-8 ล้านบาท  และบนถนนชัยพฤกษ์ จังหวัดนนทบุรี จำนวน 72 ยูนิต  ราคา 6-8 ล้านบาท

“โครงการที่จะเกิดขึ้นจากนี้ไป มุ่งในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลมากกว่าที่จะไปกระจายสู่ตลาดต่างจังหวัด เพื่อรองรับการขยายตัวด้านที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับการขยายโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและการขยายตัวของเมือง โซนหลักได้ แก่ จังหวัดปทุมธานี และ จังหวัดนนทบุรี มุ่งเจาะกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยจะเลือกพัฒนาโครงการขนาดกลาง แต่ละโครงการมีขนาดประมาณ 20 ไร่ มูลค่าโครงการ 500 ล้านบาท ใช้งบซื้อที่ดินแปลงละ 200 ล้านบาท เพื่อกระจายโครงการไปได้หลายทำเล เป็นการสร้างแบรนด์ให้ลูกค้าได้เกิดการรับรู้มากขึ้น โดยวางเป้าปิดการขายแต่ละโครงการภายใน 3 ปีหลังเปิดขาย ด้านจุดเด่นของโครงการอสังหาฯที่บริษัทพัฒนาคือความคุ้มค่าและการออกแบบทุกฟังก็ชั่นให้อยู่อาศัยได้จริงผ่านแนวคิด ‘REAL LIVABLE’” นายกษิดิศ ย้ำ

แอสโทเรีย รังสิต คลอง 3

สำหรับ บริษัท เอเปิ้ล แอสเสท กรุ๊ป จำกัด ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2554 ทุนจดทะเบียนชำระเต็ม 300 ล้านบาท พัฒนาโครงการไปแล้วหลายโครงการ ทั้งคอนโดมิเนียมและแนวราบ อาทิ โครงการเซนทริโอ้ ภูเก็ต, โครงการมาร์คเอเบิ้ล ศูนย์วิจัย 2, โครงการลิสส์ รัชโยธิน มูลค่ารวมกว่า 2,311 ล้านบาท จากแผนการลงทุนและพร้อมเปิดโครงการอย่างเหมาะสม จะส่งเสริมให้ในแต่ละปี เอเบิ้ลฯมีรายได้ที่เติบโต โดยในปี 2566 อยู่ที่ 550 ล้านบาท ปี 2567 สูงขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านบาท และสิ้นปี 2568 จะมีรายได้ 1,100-1,200 ล้านบาท มีตัวเลขสินทรัพย์ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาท

อีกมุมของแอสโทเรีย รังสิต คลอง 3

ในเรื่องแผนพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมนั้น นายกษิดิศ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทยังมีสต็อกเหลือขายเพียง 100 ล้านบาท และคาดว่าจะปิดการขายได้ทั้งหมดในปี 2566 ส่วนการจะเริ่มพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมใหม่นั้น ขณะนี้บริษัทมีที่ดินรองรับการพัฒนาอยู่ 2 แปลง ในทำเลใจกลางเมือง  อยู่ระหว่างการตัดสินใจ เนื่องจากกำลังซื้อทั้งจากชาวต่างชาติและชาวไทยที่หายไปจากภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งรูปแบบการพัฒนาจะเป็นคอนโดมิเนียมโลว์ไรส์ มูลค่าการพัฒนาประมาณ 1,600 ล้านบาท เจาะกลุ่มลูกค้าระดับ B+ ถึง A- ระดับราคา 180,000-190,000 บาทต่อตารางเมตร (ตร.ม.) ทั้งนี้ ในแผนงานนั้น ภายในปี 2567 รายได้จากแนวราบมีสัดส่วน 80% และคอนโดมิเนียมอยู่ราว 20% ขึ้นอยู่กับขนาดการพัฒนาโครงการคอนโดฯ

แบบบ้านในโครงการแอสโทเรีย รังสิต คลอง 3

นอกจากนี้ เอเบิ้ลฯ อยู่ระหว่างเจรจาจัดหาที่ดินพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานให้เช่า ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ในการเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำให้มากขึ้น คาดว่าจะเป็นออฟฟิศขนาดพื้นที่ 10,000  ตร.ม. โดยจะเพิ่มทางเลือกให้ผู้ที่ต้องการเช่าอาคารสำนักงานระดับ A-  ราคาค่าเช่าประมาณ 500 บาทต่อตร.ม. ขณะที่ยังคงอยู่ในทำเล CBD ย่านพหลโยธิน คาดว่าจะสร้างรายได้ให้บริษัทเพิ่มปีละ 22 ล้านบาท อักทั้ง ยังมีแผนนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ภายในปี 2568.

club house แอสโทเรีย ราชพฤกษ์-รัตนาธิเบศร์

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password