EXIM BANK ผุดสนง.ผู้แทนที่โฮจิมินห์ นำร่องโมเดลแพ็คกิ้งเครดิตปล่อยกู้ CLMV

EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทนแห่งที่ 4 ในนครโฮจิมินห์ ขานรับนโยบายกระทรวงการคลังหนุนทุนไทยรุกตลาด BCG ใน CLMV ดร.รักษ์ เผย! นำร่องใช้โมเดล “แพ็คกิ้งเครดิต” ปล่อยกู้ซอฟท์โลนแห่งละ 100 ล.ดอลลาร์ ดอกเบี้ยต่ำ 3.5% ให้แบงก์ที่ธนาคารกลางของแต่ละชาติถือหุ้น หวังนำไปปล่อยกู้ให้ลูกค้าเวียดนามสั่งซื้อสินค้าไทยไม่ต่ำกว่า 50% ก่อนขยายผลไปยัง สปป.ลาวและกัมพูชา ก่อนปิดท้ายในพม่า หลังสถานการณ์บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ ระบุ ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและจัดอีเว้นท์ มีโอกาสเติบโตในเวียดนาม แนะธุรกิจการ์เม้นท์ย้ายฐานการผลิตออกนอกไทย เหตุยังมีโอกาสสดใสร่องโมเดลแพ็คกิ้งเครดิตปล่อยกู้ CLMV

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ทำพิธีเปิดสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อช่วงสายวันที่ 10 มิถุนายน 2565 โดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานกล่าวเปิดงานผ่านระบบออนไลน์ และมี นายนิกรเดช พลางกูร เอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย นางสาววีรกา มุทิตาภรณ์ กงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์ ดร.พสุ โลหารชุน ประธานกรรมการ EXIM BANK และ ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK เข้าร่วมในพิธีเปิดฯ พร้อมด้วยกรรมการธนาคาร ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไทยและเวียดนาม ลูกค้า ผู้ประกอบการ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ไซง่อน นครโฮจิมินห์ เวียดนาม

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมให้ฟื้นตัวอย่างยั่งยืน หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง รวมถึงการส่งเสริมการใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Economy) แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดการจ้างงานที่มีคุณค่า การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เพื่อช่วยให้ทุกภาคส่วนก้าวพ้นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ควบคู่กับการเข้าถึงโอกาสใหม่ ๆ ของโลกยุค Next Normal

ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืนในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น เวียดนามมียุทธศาสตร์ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อมด้วยการผ่อนคลายกฎระเบียบ และการให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนโดยเฉพาะมาตรการทางภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ สอดรับกับศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในเวียดนามโดยการสนับสนุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจอย่าง EXIM BANK ในการทำงานเชิงรุกเพื่อสนับสนุนทุนไทยให้เข้าไปสยายปีกในต่างประเทศมากขึ้น โดยใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญของ EXIM BANK พัฒนานวัตกรรมทางการเงินเพื่อสนับสนุนธุรกิจ BCG ในเวียดนามเพิ่มมากขึ้น

ด้าน ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า สำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK จะช่วยตอกย้ำภารกิจในการแบกรับความเสี่ยงและเข้าไปสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ทั้งด้านสินเชื่อและให้บริการประกันความเสี่ยงทางการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ อาทิ ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ด้านทางการค้า และทางการเมือง ซึ่งสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินจะช่วยให้การทำงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเกิดขึ้นภายใต้ “ทีมประเทศไทย” และเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมทีม EXIM BANK สู่บทบาท “ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย” ควบคู่กับการเป็น “ศูนย์บริการครบวงจรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศให้แก่ SMEs” ด้วยภารกิจ “ซ่อม สร้าง เสริม และสานพลัง” เพื่อเป็นกลไกการพัฒนาร่วมกันระหว่างประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลาของโลกยุค Next Normal

ทั้งนี้ มีโครงการลงทุนในเวียดนามภายใต้การสนับสนุนของ EXIM BANK ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ โรงไฟฟ้าพลังงานสะอาด ปิโตรเคมี ห้างค้าส่งและค้าปลีก โดยในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 EXIM BANK ได้ขยายสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการในเวียดนามมากที่สุดในตลาด CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดยมียอดสินเชื่อคงค้างจำนวน 13,843 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.65% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากสินเชื่อคงค้างใน CLMV และ New Frontiers ทั้งหมด 51,554 ล้านบาท

สำหรับเวียดนาม นับเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของไทยในอาเซียน โดยการส่งออกของไทยไปเวียดนามเน้นการตอบสนองความต้องการวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางให้แก่ภาคอุตสาหกรรมของเวียดนาม สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปเวียดนาม ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่การลงทุนของไทยในเวียดนามกระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ อาทิ พลังงาน นิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป เกษตรและประมง ธนาคาร ก่อสร้าง ค้าส่ง ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร คลินิกเสริมความงาม ขนส่ง โลจิสติกส์ และธุรกิจโฆษณา โดยไทยเป็นนักลงทุนรายใหญ่อันดับ 8 ในเวียดนาม

“โอกาสใหม่ ๆ ของผู้ประกอบการไทยยังมีอยู่อีกมากในเวียดนาม เนื่องด้วยจำนวนประชากรเกือบ 100 ล้านคนและเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงเกือบ 7% ต่อปีโดยเฉลี่ย แม้ในวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมายังขยายตัวได้ที่ระดับเกือบ 3% ไทยและเวียดนามเป็นพันธมิตรทางการค้ามาช้านานและมีที่ตั้งอยู่ไม่ห่างกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของ SMEs ไทยในการส่งออก โดยเฉพาะการเจาะกลุ่มผู้บริโภคเวียดนามตามช่วงอายุ ซึ่งมีความต้องการที่หลากหลาย โดยผู้บริโภคชาวเวียดนามให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้นเป็นลำดับ ประชากรวัยทำงานมีกำลังซื้อสูงขึ้นและชอบชอปปิ้งออนไลน์ ทำให้ตลาด E-Commerce โตถึง 35% ต่อปี” ดร.รักษ์ กล่าวและว่า

เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายส่งเสริมการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เวียดนามเป็นแหล่งลงทุนเป้าหมายสำคัญของนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งไทย โดยมีนครโฮจิมินห์เป็นเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นศูนย์กลางธุรกิจการค้า บริการ การเงินการธนาคาร เทคโนโลยี อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว ศูนย์กลางการคมนาคม เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมที่ทันสมัยและท่าเรือไซง่อนซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม เศรษฐกิจของโฮจิมินห์มีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ และขยายตัวสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของทั้งประเทศ

ดร.ย้ำว่า ในโอกาสนี้ EXIM BANK ได้ลงนามในสัญญาสนับสนุนทางการเงินกับธนาคารเพื่อการลงทุนและพัฒนาแห่งประเทศเวียดนาม (The Joint Stock Commercial Bank for Investment and Development of Vietnam : BIDV) จำนวน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ BIDV นำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน สนับสนุนการส่งออกสินค้าจากไทยไปเวียดนาม รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างโอกาสขยายการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับเวียดนาม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการของทั้งสองประเทศ

“EXIM BANK เปิดสำนักงานผู้แทนครบ 4 แห่งใน CLMV สะท้อนถึงความสำคัญที่รัฐบาลไทยให้กับประเทศเพื่อนบ้านและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อจับมือก้าวผ่านความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างโอกาสใหม่ ๆ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภูมิภาคไปด้วยกัน ในมิติเศรษฐกิจ เชื่อมโยงกับมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม ช่วยเหลือและเยียวยาธุรกิจที่ประสบปัญหา สร้างอุตสาหกรรมใหม่สู่อนาคตและนักรบเศรษฐกิจป้ายแดง เสริมอาวุธให้แก่ผู้ประกอบการทุกขนาดธุรกิจ รวมถึงผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายย่อย สานพลังการสร้างประเทศไทยและพันธมิตรให้มีภูมิคุ้มกัน เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว” ดร.รักษ์ กล่าว

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ย้ำว่า จะใช้โมเดล “แพ็กกิ้งเครดิต” ด้วยการให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารกลางของประเทศในกลุ่ม CLMV ในอัตราดอกเบี้ยซอฟท์โลนที่ระดับ 3.5% เพื่อนำไปกู้ต่อให้กับบริษัทเอกชนของประเทศนั้นๆ สำหรับใช้เพื่อการซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการชาวไทยในสัดส่วนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของวงเงินสินเชื่อ โดยโมเดลดังกล่าวจะเริ่มต้นที่เวียดนาม และจะขยายไปยังสปป.ลาวและกัมพูชา ขณะที่เมียนมาอาจต้องใช้เวลาสักระยะจนกว่าสถานการณ์การเมืองในประเทศจะคลี่คลายลง

สำหรับโอกาสทางของธุรกิจไทยในเวียดนาม นอกจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ BGC Economy แล้ว ธุรกิจทางด้านอาหารเพื่อสุขภาพก็มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี รวมถึงธุรกิจทางด้านออแกนไนซ์ในการจัดอีเว้นท์ต่างๆ ที่เติบโตตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเท่าที่ทราบมีหลายธุรกิจของไทยเตรียมจะเข้ามาลงทุนในด้านนี้ เช่น กลุ่มกันตนา และอื่นๆ เป็นต้น ส่วนธุรกิจทางด้านเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอนาคตไม่สดใสในไทย แต่ที่เวียดนามถือว่ามีโอกาสเติบโตสูงมากด้วยต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าในไทย จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการในไทยจะย้ายฐานการผลิตมาตั้งในประเทศเวียดนาม

ด้าน ดร.ดามพ์ สุคนธทรัพย์ ประธานกรรมการบริหาร EXIM BANK กล่าวว่า สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อคงค้างของ EXIM BANK ให้กับกลุ่มธุรกิจไทยในรเวียดนาม ณ ไตรมาสแรกของปี 2565 ที่มีมากกว่า 1.38 หมื่นล้านบาท ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับเม็ดเงินลงทุนรวมจากประเทศไทยที่มีรวมกันราว 5 แสนล้านบาท ซึ่งนั่นก็เป็นโอกาสทำให้ EXIM BANK อาจพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจของไทยเติบโตได้หลายเท่าตัวเมื่อเทียบกับปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ที่เป็นซัพพลายด์เชนของธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ที่ทำการค้าอยู่ในกลุ่มประเทศ CLMV แต่ธุรกิจนั้นๆ จะต้องสอดรับกับทิศทางเชิงนโยบายของรัฐบาลในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะประเทศเวียดนามที่เน้นเรื่องธุรกิจด้านสิ่งแวดล้อม (BGC Economy).

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password