หอการค้าไทย-จีนมอบ ‘5 พันถุงยังชีพ’ ให้ กทม.ส่งต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วม

“ประธานฯณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล” พร้อมคณะกรรมการบริหารหอการค้าไทย-จีน มอบถุงยังชีพ 5,000 ชุด ให้แก่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาน้ำท่วมใน กทม.

เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และคณะกรรมการบริหาร ส่งมอบถุงยังชีพ 5,000 ถุง  มูลค่าประมาณ  1.75 ล้านบาทให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปแจกจ่ายช่วยเหลือบรรเทาทุกข์แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม ใน กทม.    สำหรับกิจกรรมสาธารณกุศล เป็นบทบาทหนึ่งของหอการค้าไทย-จีน ที่สืบทอดเจตนารมณ์นี้มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มก่อตั้งหอการค้าไทย-จีน เป็นเวลา 112 ปี  

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า หอการค้าไทย-จีน  ยินดีที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรมของ กทม. เพื่อร่วมกันสร้าง กทม. ให้เป็นเมืองทันสมัย มีความปลอดภัย น่าอยู่อาศัย แต่ยังคงรักษาศิลปะวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งจะทำให้ กทม. เป็นเมืองที่มีเสน่ห์สำหรับชาว กทม.และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ด้าน นายชัชชาติ  สิทธิพันธ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวขอบคุณหอการค้าไทย-จีน  และยินดีให้การสนับสนุนการที่ หอการค้าไทย-จีน จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ประกอบการชาวจีนโลก (หรือ WCEC) สมัยที่ 16 ระหว่างวันที่ 20-22 พฤษภาคม 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ประกอบการชาวจีนทั่วโลก ทั้งจากประเทศไทย และประเทศต่างๆ กว่า 3,000 คน เข้าร่วมประชุม  และกล่าวเสริมว่า กรุงเทพมหานคร พร้อมจะเป็นเมืองศูนย์กลางการจัดงานต่าง ๆ ให้นานาชาติเข้ามาจัดการประชุมใน กทม. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการ ซึ่งขณะนี้ กทม. พร้อมแล้วที่จะแข่งขันกับฮ่องกงและสิงคโปร์ ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกัน

สำหรับหน้าที่ของ ผู้ว่าฯ กทม. นอกจากการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแล้ว ผู้ว่าฯ กทม. ยังต้องดูแลเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเนื่องจากเป็นหัวใจของเมือง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการสร้างงาน การหารายได้ให้เมือง การนำภาษีมาบริหารจัดการเมือง และมีหน้าที่ในการบริหารประสิทธิภาพของเมืองให้ธุรกิจต่าง ๆ เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น เนื่องจาก กทม. เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ซึ่งก็ต้องอำนวยความสะดวกจากทางราชการให้โปร่งใส รวดเร็ว ฉับไว เพื่ออำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจ เช่น การประสานขั้นตอนในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจของชาวต่างชาติให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น การประสานเรื่องการขาดแคลนแรงงานที่พูดภาษาอังกฤษได้ โดยทางหอการค้าไทย-จีน มีนักธุรกิจและผู้ประกอบการอยู่กว่าหมื่นคน ที่สามารถสร้างงานได้เป็นแสนตำแหน่ง เพิ่มรายได้ให้กับเมืองได้อีกจำนวนมากอีกด้วย     

นอกจากนี้ นายชัชชาติ ยังกล่าวด้วยว่า ในอนาคตได้ตั้งเป้าให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค เช่น การจัดประชุมนานาชาติ เพื่อนำการประชุมจากทั่วโลกให้มาจัดประชุมที่กรุงเทพฯ ซึ่งเรามีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ที่เพิ่งปรับปรุงใหม่ พื้นที่กว่า 300,000 ตารางเมตร มีหอประชุมที่เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรีใกล้กับกรุงเทพฯ มีโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและการประชุมกว่า 100,000 ห้อง รวมถึงมี Office Space อีกกว่า 10 ล้านตร.ม. พร้อมรองรับการจัดประชุมในธุรกิจไมซ์ (MICE) ซึ่งมีความสำคัญในการกระตุ้นและดึงบริษัทข้ามชาติเข้ามาลงทุนในกรุงเทพฯ อาทิ ธุรกิจ Jewelry ธุรกิจสร้างสรรค์ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจ Creative Economy โดยให้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางธุรกิจได้ จึงเป็นที่มาของการหารือกับหอการค้าไทย-จีน ในวันนี้ ซึ่งจะมีการหารือในกลุ่มย่อยเพื่อลงรายละเอียดความร่วมมือด้านต่าง ๆ ต่อไป 

ต่อมาเมื่อวันที่ 21-22 ตุลาคม 2565 หอการค้าไทย-จีน ได้ดำเนินการส่งมอบสินค้าอุปโภคบริโภค ไปยัง กทม. เช่น ข้าวสาร (ถุงละ 5 กก. จำนวน 5,000 ถุง) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป  (100,000 ซอง)  ปลากระป๋อง (20,000 กระป๋อง)  และน้ำพริกเผา (5,004 กระป่อง) พร้อมถุงยังชีพ 5,000 ใบ สำหรับบรรจุสิ่งของบริจาค  เพื่อ กทม. จะนำไปแจกจ่ายบรรเทาทุกข์ผู้ประสบภัยในกรุงเทพมหานคร ต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password