เปิดเนื้อในงบรายจ่ายปี 66 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท จัดงบกลางสูงสุด 5.9 แสนล้าน

เปิดงบรายจ่ายปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท คาดศก.ไทยฟื้นตามเศรษฐกิจโลก ปรับตัวจากภาคท่องเที่ยว-ส่งออกขยาย แต่ห่วงการเงินโลกผันผวน-กลายพันธุ์โควิด เผย หนี้สาธารณะสิ้น ม.ค.65ยังไม่เกินเพดาน พร้อมจัดงบกลางอันดับหนึ่ง สูงถึง 5.9แสนล้านบาท ขณะที่ กห. เสนอขอ 1.9 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 6

ปิดงบรายจ่ายปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท คาดศก.ไทยฟื้นตามเศรษฐกิจโลก ปรับตัวจากภาคท่องเที่ยว-ส่งออกขยาย แต่ห่วงการเงินโลกผันผวน-กลายพันธุ์โควิด เผย หนี้สาธารณะสิ้น ม.ค.65ยังไม่เกินเพดาน พร้อมจัดงบกลางอันดับหนึ่ง สูงถึง 5.9แสนล้านบาท ขณะที่ กห. เสนอขอ 1.9 แสนล้านบาท มากเป็นอันดับ 6

28 พ.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้มีคำสั่งให้นัดประชุมสภาฯ เป็นพิเศษ ระหว่างวันที่ 31 พ.ค. ถึงวันที่ 2 มิ.ย. เวลา 09.30 น. โดยมีวาระพิจารณาเรื่องสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 3.185 ล้านล้านบาท โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากงบประมาณ ปี65 จำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 ซึ่งวงเงินงบประมาณดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.79 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ

ทั้งนี้ สำนักงบประมาณ ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 65 ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศจากการผ่อนคลายของผลกระทบ จากการระบาดโควิด การปรับตัวดีขึ้นของภาคการท่องเที่ยว ภายใต้มาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัว อยู่ในเกณฑ์ดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ได้แก่ ผลกระทบของสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เงื่อนไขด้านฐานะการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ การกลายพันธุ์และการระบาดของเชื้อไวรัส และความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5 – 2.5

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.2 – 4.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ การขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลก การกลายพันธุ์และการระบาดของไวรัส รวมทั้งการลดลงของแรงขับเคลื่อนทางการคลัง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 –1.5

นอกจากนี้ สำนักงบประมาณ ยังเปิดแผยว่า หนี้สาธารณะ ณ วันที่ 31 ม.ค. 65 มีจำนวน 9.73 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 56.9 ของจีดีพี ประกอบด้วย หนี้ที่เป็นข้อผูกพันของรัฐบาลซึ่งเกิดจากการกู้ยืมโดยตรง และการค้ำประกันเงินกู้โดยรัฐบาล จำนวน 9.28 ล้านล้านบาท และหนี้ที่รัฐบาลไม่ได้ค้ำประกัน จำนวน 4.47 แสนล้านบาท

โดยยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายนประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง 2.96 แสนล้านบาท 2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.96 แสนล้านบาท 3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 5.49 แสนล้านบาท 4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม 7.59 แสนล้านบาท 5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 1.22 แสนล้านบาท 6.ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารการจัดการภาครัฐ 6.58 แสนล้านบาท และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ 4.02 แสนล้านบาท

สำหรับงบประมาณรายจ่ายจำแนกตามกระทรวงและหน่วยรับ 10 อันดับแรกที่ได้รับงบประมาณ มีดังนี้ อันดับที่หนึ่ง งบกลาง 5.9 แสนล้านบาท อันดับที่สอง กระทรวงศึกษาธิการ 3.259 แสนล้านบาท แต่ลดจากงบฯปี65 จำนวน 4.5 พันล้านบาท อันดับที่สาม กระทรวงมหาดไทย 3.255 แสนล้านบาท อันดับที่สี่ กระทรวงการคลัง 2.85 แสนล้านบาท

อันดับที่ห้า ทุนหมุนเวียน2.06 แสนล้านบาท อันดับที่หก กระทรวงกลาโหม 1.97 แสนล้านบาท แต่ลดจากงบฯปี65 จำนวน 4.3 พันล้านบาท อันดับที่เจ็ด กระทรวงคมนาคม 1.8 แสนล้านบาท อันดับที่แปด รัฐวิสาหกิจ 1.62 แสนล้านบาท อันดับที่เก้า กระทรวงสาธารณสุข 1.56 แสนล้านบาท และปิดท้าย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.26 แสนล้านบาท.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password