กพอ.เห็นชอบ รูปแบบการลงทุน โรงพยาบาลปลวกแดง 2

ที่ประชุม กพอ.เห็นชอบ โครงการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ในรูปแบบการลงทุนรัฐร่วมเอกชน ประเภท Build Transfer Operate คาด ประกาศเชิญชวนคัดเลือกเอกชน ต้นปี 2566 ก่อสร้างโครงการต่างๆแล้วเสร็จไม่เกิน 3 ปี

ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่มี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน แจ้งว่า ได้พิจารณาเห็นชอบ หลักการโครงการยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ที่มีกระทรวงสาธารณสุข และ สกพอ. เป็นหน่วยงานหลักร่วมกันดำเนินการ ในรูปแบบการลงทุนรัฐร่วมเอกชน (PPP) ประเภท Build Transfer Operate : BTO ที่เอกชนเป็นผู้ออกแบบ ลงทุน ก่อสร้างทรัพย์สินสำคัญและโอนกรรมสิทธิ์ให้รัฐทันทีหลังก่อสร้างแล้วเสร็จ ซึ่งจะเป็นต้นแบบการลงทุนขยายโรงพยาบาลของรัฐโดยความร่วมมือจากเอกชน

และจะช่วยแก้ข้อจำกัดด้านงบประมาณจากกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลปลวกแดง 2 จะเป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก (M1) รองรับได้ 120 -200 เตียง โดยจะเป็นโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานเป็นโรงพยาบาลคู่สัญญาของประกันสังคม ประกอบด้วย อาคารผ่าตัด – อุบัติเหตุ อาคารผู้ป่วยใน และ/หรืออาคารอื่นๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด มีบุคลากรและครุภัณฑ์การแพทย์ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข มีบริการพิเศษ (Premium Service) และระบบส่งต่อผู้ป่วยที่ได้มาตรฐาน ซึ่งจะรองรับผู้ประกันตน ไม่ต่ำกว่า 200,000 คน ในอำเภอปลวกแดง โดยประชาชนที่อยู่อาศัย และทำงานในพื้นที่อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง จะได้รับบริการสาธารณสุขในระดับมาตรฐาน ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที สะดวกปลอดภัย และเพื่อลดการเดินทางไปรักษาพยาบาลนอกพื้นที่

รวมทั้งที่ประชุม กพอ. ได้เห็นชอบ ให้แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเอกชน ฯ ซึ่งมีปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ โดยแผนการดำเนินงานที่สำคัญต่อไป คาดว่าจะประกาศเชิญชวนการคัดเลือกเอกชน ได้ในช่วงต้นปี 2566 และคาดว่าจะสามารถประกาศผลการคัดเลือก พร้อมลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน เพื่อยกระดับโรงพยาบาลปลวกแดง 2 ได้ในช่วงกลางปี 2566 ซึ่งการออกแบบก่อสร้างโครงการต่างๆ จะแล้วเสร็จไม่เกิน 3 ปี และมีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งหมด 50 ปี

ที่ประชุม กพอ. รับทราบ ความก้าวหน้าภารกิจขับเคลื่อนโครงสร้้างพื้นฐานหลัก ซึ่งเป็นโครงการร่วมลงทุุน รััฐ-เอกชน (PPP) ที่สำคัญ ๆ ได้แก่

1) โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ทาง รฟท. ได้ส่งมอบพื้นที่โครงการ (ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และพื้นที่มักกะสันและศรีราชาให้แก่เอกชนแล้ว โดยเอกชนเข้าดำเนินการเตรียมการก่อสร้าง และขณะนี้อยู่ระหว่างรอรับบัตรส่งเสริมการลงทุน จากบีโอไอ ซึ่งเมื่อได้รับจะทำให้เงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาครบถ้วน และจะเริ่มการก่อสร้างได้ ทั้งนี้ ในส่วนการบริหารงานการให้บริการแอร์พอร์ต เรลลิงก์ ปัจจุบันเอกชนได้เข้าดำเนินการตามมาตรฐานที่ดี ซึ่งตรงตาม KPI ที่ รฟท. กำหนด

2) โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก หลังจากเอกชนคู่สัญญา และกองทัพเรือ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการใช้สนามบินอู่ตะเภาร่วมกัน (Joint Use Agreement) และรายงาน EHIA ได้รับการอนุมัติจาก ครม. โดย สกพอ. ได้แจ้งให้เอกชนรับสิทธิตามสัญญาแล้ว เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2565 การดำเนินงานต่อไป สกพอ. จะแจ้งให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2566 หลังจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการรถไฟความเร็วสูงฯ และโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ จากสถานการณ์โควิด 19 และสงครามรัสเชีย-ยูเครน ปัจจุบันคู่สัญญาได้เจรจาหลักการแก้ไขปัญหา และได้นำเสนอต่อคณะทำงานสนับสนุนการแก้ไขปัญหาทั้ง 2 โครงการ ที่มีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยพิจารณาให้ความเห็นด้านเทคนิค การเงิน และกฎหมายแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างนำความเห็นไปปรับปรุง และจะนำเสนอให้ที่ประชุม กพอ. พิจารณาต่อไป

3) โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เริ่มงานออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้ว โดยขณะนี้ ความก้าวหน้างานถมทะเลตามแผนงานร้อยละ 28.18 แต่สามารถดำเนินการได้จริงร้อยละ 31.57 เร็วกว่าแผนงานร้อยละ 3.39 ส่วนการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตาม EHIA ได้จัดตั้งมูลนิธิกองทุนฯ และดำเนินการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มประมงพื้นบ้าน 855 ราย รวมทั้งมีการสนับสนุนพัฒนาอาชีพให้ชุมชน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อเนื่อง สำหรับท่าเรือมาบตาพุด ช่วงที่ 1 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2569

4) โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เริ่มต้นการก่อสร้างงานทางทะเล โดยพื้นที่ถมทะเลช่วงที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จ ส่วนการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมตาม EHIA ได้ดำเนินการช่วยเหลือเยียวยาแก่กลุ่มประมงเรือเล็ก และกลุ่มผู้เลี้ยงหอยตั้งแต่ปี 2564 การจัดทำ EHIA ของท่าเทียบเรือ F ได้ส่งให้ สผ. แล้ว กำหนดเปิดบริการท่าเทียบเรือ F ในปี 2569

โดย อีอีซี ได้ผลักดันทุกโครงการ ดำเนินการลงทุนได้ตามแผน และทำหน้าที่ประสานความร่วมมือหน่วยงานเจ้าของโครงการ และเอกชนคู่สัญญา ให้การก่อสร้างทุกโครงการสำเร็จ เพื่อประโยชน์ประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ

นอกจากนี้ ที่ประชุม กพอ. ได้รับทราบความก้าวหน้าอีอีซี ในด้านอื่นที่สำคัญ ๆ อาทิ การผลักดันและเร่งรัดการลงทุนระยะที่ 1 (2561 – 2565) เกิดการอนุมัติงบลงทุนสูงถึง 1.92 ล้านล้านบาท เกินเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาท พื้นที่ อีอีซี ก้าวสู่ที่ตั้งฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้า EV แห่งภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการลงทุนเศรษฐกิจสีเขียว BCG model ขับเคลื่อนระบบ Automation ในโรงงานและธุรกิจช่วยลดต้นทุนได้กว่า 30% อีกทั้ง บูรณาการลงทุนร่วมกับทุกภาคส่วน สร้างประโยชน์ และพัฒนาตรงถึงประชาชนและชุมชนคนพื้นที่ อาทิ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ระบบ Demand Driven ผลิตคนตรงตามความต้องการ และเครือข่ายเพื่ออนาคต ระบบสาธารณสุข ทันสมัย สิ่งแวดล้อมยั่งยืน เป็นต้น

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password