คิดสั้น! บั่นธุรกิจหลังพระอาทิตย์ตกดิน = บั่นทอนเศรษฐกิจชาติ

ธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว กลายเป็น “พระเอกตัวจริง” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้า ทว่า จู่ๆ หน่วยงานภาคกำลังจะออกนโยบาย/มาตรการ มาทำลาย “เศรษฐกิจหลังพระอาทิตย์ตกดิน” ด้วยการขอให้มีการปิดหรือหยุดกิจกรรมในยามราตรี ปรากฏการณ์นี้…รัฐบาลรู้หรือไม่? แต่ภาคธุรกิจและคนไทยส่วนใหญ่ รู้แล้วและไม่พอใจสักเท่าใด?

10 ล้านคน คือตัวเลขของนักท่องเที่ยวชาติ ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ภายหลังสถานการณ์ของโลกเริ่มจะผ่อนคลายจากปัญหาวิกฤตโควิด 19 และรัฐบาลไทย โดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล” ก็เพิ่งจะให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวคนที่ 10 ล้าน และได้เฉลิมฉลองกับตัวเลขดังกล่าวจนเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลก

เศรษฐกิจไทย…เริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง เพราะเครื่องยนต์ที่ชื่อว่า “การท่องเที่ยว”

สอดรับกับข้อมูลจาก ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ที่ ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย ออกมาระบุถึงการคาดการณ์ของ Krungthai COMPASS เกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยในปีหน้า (2566)ว่า จะต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่พร้อมกันหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาดอกเบี้ยขาขึ้น สำทับด้วยปัจจัยลบอีกมากมายที่จะทำให้ “ต้นทุนการผลิตและการดำเนินชีวิตของคนไทย…แพงขึ้น” จนส่งกระทบต่อกำลังซื้อคนไทยในภาพรวม  

สำหรับ เศรษฐกิจไทยในปี 2566 นั้นKrungthai COMPASS ประเมินว่า จะขยายตัวที่ 3.4% สูงกว่าปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.2% แต่ก็ต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้จากแรงกดดันของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแรงลง กระทบต่อภาคการส่งออกซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกจะขยายตัวได้เพียง 1.2% เท่านั้น และภาวะการเงินในประเทศที่จะตึงตัวมากขึ้นจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณถึงความต้องการให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้นเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อที่จะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายที่ 3%

ในด้านการท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเข้ามาถึง 21.4 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2565 สนับสนุนดุลบัญชีเดินสะพัดของให้กลับมาเกินดุล

พูดให้ชัด! ปีหน้า…เศรษฐกิจไทยหวังได้จากภาคการท่องเที่ยวเท่านั้น!!!

และรายได้จากการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใหญ่ๆ สามารถจะเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะการธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอื่นๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ ภาคประชาชน ทั้งหมดทั้งมวลจะต้องให้ความสำคัญและเอาใจใส่ต่อการดูแลและให้การต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากยิ่งๆ ขึ้น

“ที่ทำดีอยู่แล้ว ก็ต้องทำให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก”

ใครหรืออะไร? ที่จะทำตัวให้เป็นปัญหาหรืออุปสรรคขัดขวางเครื่องยนต์ตัวเดียวที่พอจะเหลืออยู่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้า…จำเป็นจะต้องแก้ไข หรือไม่ก็ต้องใช้ “อำนาจรัฐ” ขจัดออกไป!

ทว่า..ท่ามกลางความคาดหวังที่จะได้เห็นภาคการท่องเที่ยวทำหน้าที่ “พระเอกตัวจริง” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้และปีหน้านั้น กลับมีข่าวที่ไม่สู้ดีและอาจเป็นอุปสรรคขัดขวางการท่องเที่ยวของไทย นั่นคือ ประเด็นคาดการณ์ “แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศ” ที่ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกมาระบุว่า…

“แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เนื่องจากการเดินทางที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติ ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ โดยคาดว่าการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ การชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักที่จะส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและภาคการส่งออก สถานการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและอนุญาตให้มีการเดินทางระหว่างประเทศของประเทศจีน ซึ่งกระทรวงพลังงานจะติดตามและบริหารนโยบายพลังงานในช่วงวิกฤตราคาพลังงานอย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางและมาตรการในการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤติพลังงานต่อไป”

ผลจากการคาดการณ์ข้างต้นของ สนพ. อาจมีนัยสำคัญที่จะส่งผลไปถึงการกำหนดนโยบายบางเรื่อง ที่อาจกระทบกับธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวของไทย โดยเฉพาะการประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกที่ยังคงผันผวน อาจส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ทำให้ปีหน้าคนไทยยังคงต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่แพงเช่นเดิม แต่ยังคงจ่ายในอัตราที่ไม่สูงเกินกว่า 5 บาท/หน่วย ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) คงจะเคาะ 3 แนวทางการปรับขึ้นชัดเจนเร็วๆ นี้ โดยยังมีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ

นอกจากนี้ สนพ.เตรียมเสนอแผนพลังงานชาติ (NEP) ให้กระทรวงพลังงาน รับทราบภายในเดือนธันวาคม 2565 และเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือนมกราคม 2566 จากนั้นจะเสนอให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คาดว่าจะประกาศใช้แผนอย่างเป็นทางการช่วงไตรมาส 2/2566 โดยเบื้องต้นจะประกอบด้วยแผนพัฒนากำลังการผลิตพลังงาน (PDP 2022) ที่จะกำหนดสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนร้อยละ 50 ก๊าซธรรมชาติร้อยละ 40 ถ่านหินร้อยละ 10 ที่เหลือจะเปิดโอกาสให้พลังงานไฮโดรเจนและนิวเคลียร์ เป็นต้น

ผลจากคาดการณ์ข้างต้นนั้น กำลังจะนำไปสู่แนวคิดบางประการ ที่อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจบริการและภาคการท่องเที่ยวของไทย นั่นเพราะ…ประเด็นปัญหาวิกฤตราคาพลังงานไฟฟ้านั้น ได้ทำให้หน่วยงานของรัฐ อย่าง สนพ. กำลังจะเสนอขอความร่วมมือจากภาคเอกชน เพื่อควบคุมกิจกรรมในช่วงกลางคืน

ประมาณว่า…จะเสนอให้ภาคธุรกิจบริการต่างๆ ต้องปิดกิจการในยามราตรี เพียงเพื่อจะได้ประหยัดไฟฟ้า โดยไม่มององคาพยพในมิติอื่นๆ อย่างรอบด้าน

หลายฝ่ายไม่เฉพาะนักธุรกิจในภาคธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวเท่านั้นที่เห็นต่างจาก สนพ. ด้วยเพราะเชื่อว่า…การปิดกิจการในยามราตรี อาจจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาตรงโจทย์  เพราะจริงๆแล้วไม่ว่าจะภาคส่วนใดก็ล้วนได้รับผลกระทบกันไปหมด 

การหยุดกิจกรรมในช่วงกลางคืน แต่ให้ปรับเปลี่ยนมาทำกิจกรรมในช่วงกลางวัน ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มภาระมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับเวลาขนส่งของจากกลางคืนเป็นกลางวัน นับว่ายิ่งเป็นการเพิ่มการจราจรบนท้องถนน ส่งผลให้มีการใช้พลังงานที่สูงขึ้น

หรือหากพูดถึงอาชีพที่เกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน พ่อค้าแม่ค้า ที่อาศัยแสงสว่างของร้านค้า  24 ชั่วโมงเป็นจุดตั้งขายของ ก็คงต้องปรับตัวกันถ้วนหน้า หรือถึงขั้นที่ว่าต้องหยุดค้าขายกันเลยทีเดียว หรือถ้าใครจำเป็นต้องออกไปข้างนอกตอนกลางคืน หากมีการปิดร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาเก็ต จริงๆ เวลาเดิน กลางค่ำกลางคืนคงต้องระมัดระวังมากกว่าเดิม  

บทสรุปจากวิกฤตราคาพลังงาน จะกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจหลังพระอาทิตย์ตกดินจริงหรือไม่? ประเด็นนี้ น่าสนใจและทุกฝ่ายควรคิดไตร่ตรองให้รอบด้านมากกว่านี้…

การประหยัดพลังงาน โดยไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบริการและภาคท่องเที่ยวเที่ยว ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สามารถทำได้ง่ายๆ และเคยทำจนเห็นผลเป็นที่ประจักษ์กันมาแล้ว มิต่างจากวลีที่ว่า…

แค่เราปรับ โลกก็เปลี่ยน!!!…

จะดีกว่าไหม? หากภาครัฐ โดยเฉพาะ สพน. จะทำหน้าที่เป็น “แกนหลักสำคัญ” ในการรณรงค์เชิญชวนให้คนไทย หันมาช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงานแบบง่าย ๆ เพียงแค่ปรับ…นิสัยการใช้ไฟฟ้าและเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า ให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานจริงๆ ในแต่ละสถานการณ์ แต่ละสถานที่ และในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน

ลองพิจารณาจากข้อมูลที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้จัดทำเอาไว้อย่างน่าสนใจ  ต่อการจะเชิญชวนให้คนไทย หันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงาน ดังนี้…

เครื่องปรับอากาศ ควรเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับขนาดห้อง ตั้งอุณหภูมิที่ 25-26 องศาเซลเซียส เพราะอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะช่วยลดค่าไฟฟ้าประมาณ 10% ปิดประตูและหน้าต่างให้สนิท และล้างแอร์อย่างน้อยทุก 6 เดือน

ตู้เย็น ควรเลือกใช้ตู้เย็นที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว ลดการเปิด-ปิดประตูตู้เย็นทิ้งไว้นานเกินความจำเป็น ไม่ใส่ของที่มีอุณหภูมิสูง ไม่ใส่ของแน่นเกินไป และควรวางตู้เย็นห่างจากผนังอย่างน้อย 15 เซนติเมตร

หลอดไฟ เลือกใช้หลอดไฟแอลอีดี (E27) ขนาด 7 วัตต์ แทนหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL) ขนาด 13 วัตต์ และปิดสวิตซ์ทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน

พัดลม เลือกใช้พัดลมที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว มีขนาดเหมาะสมกับการใช้งาน เปิดความแรงเบอร์ 1 ปิดและถอดปลั๊กทุกครั้งเมื่อเลิกใช้งาน และหมั่นทำความสะอาดใบพัดอยู่เสมอ

เตารีด เลือกใช้เตารีดที่มีฉลากเบอร์ 5 ติดดาว รีดผ้าครั้งละมาก ๆ ไม่พรมน้ำมากเกินไป และถอดปลั๊กก่อนเสร็จสิ้นการรีดประมาณ 2 นาที เพราะความร้อนที่เหลืออยู่ในเตารีดไฟฟ้ายังสามารถรีดผ้าชนิดที่ไม่ต้องการความร้อนมาก

ถึงบรรทัดนี้ “ทีมข่าวยุทธศาสตร์” อยากบอกไปถึงรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ สนพ. ว่า…การจะกำหนดนโยบายหรือมาตรการใดมาตรการหนึ่ง แล้วส่งผลกระทบด้านลบต่ออีกนโยบายหรือมาตรการอื่นๆ แล้ว อาจต้องพิจารณาตัดสินใจด้วยความเหมาะสมและรอบด้าน

ในเมื่อทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า…เศรษฐกิจไทยในปีหน้าไม่สู้จะดีสักเท่าใด? และคงมีเพียงธุรกิจในภาคบริการและการท่องเที่ยวเท่านั้น ที่พอจะทำหน้าที่เป็น “เครื่องยนต์เศรษฐกิจ” ที่จะนำมาประเทศไทย ก้าวข้ามพ้นปัญหาเศรษฐกิจในครั้งนี้

ควรหรือไม่ที่จะกำหนดนโยบายหรือมาตรการ “ประหยัดไฟ” ด้วยการขอความร่วมมือไปยังภาคเอกชนในการปิดธุรกิจในยามค่ำคืน ทั้งที่รายได้ของประเทศส่วนหนึ่งและเป็นส่วนสำคัญนั้น เกิดจากแสงสว่างในยามราตรี

นาทีนี้…หากรัฐบาลจะเลือกใช้คนที่คิดและวางแผนในการกำหนดนโยบายหรือมาตรการใดๆ ที่ไม่เป็นการซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจ ทำลายและทำร้ายธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งกำลังทำหน้าที่เป็น “พระเอกตัวจริง” แล้ว ก็น่าจะแนวทางที่เหมาะสมและสอดรับกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย…ประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว

ทั้งนี้ ธุรกิจบริการและการท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็ควรจะดำเนินการได้ตลอด 24 ชั่วโมง รองรับกำลังซื้อทั้งจากคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตลอดเวลา เพื่อให้เหมาะสมและสอดรับกับสภาวการณ์แห่ง…วิถีเศรษฐกิจหลังพระอาทิตย์ตกดิน ที่จะมาช่วยกอบกู้เศรษฐกิจของประเทศไทยในยามนี้ นั่นเอง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password