ครม.ไฟเขียวกู้ใหม่กว่า 1 ลล. หวัง ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ-โปะขาดดุลปีงบ 66’

ครม.เห็นชอบ! กู้รอบใหม่ 1.05 ล้านล้านบาท หวังกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และผลกระทบจากพิษราคาน้ำมันจากสงคราม “รัสเซีย – ยูเครน” เผย! แยกเป็นหนี้ก้อนใหม่ 8.19 แสนล้านบาท เป็นการโปะขาดดุลปีงบฯ 66 เฉียด 7 แสนล้านบาท ไม่นับรวมหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจอีก 2.33 แสนล้านบาท เน้นลงทุนด้านคมนาคมและพลังงาน รวมถึงจัดการแผนการบริหารหนี้เดิม 1.73 ล้านบาทและชำระหนี้เก่าอีก 3.6 แสนล้านบาท

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติ เรื่อง แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบระหว่างสหพันธรัฐรัสเซียและสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียตยูเครน โดยแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย 

1) แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท ได้แก่

1.1 การก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาล วงเงิน 819,765.19 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการกู้เพื่อลงทุนในโครงการของรัฐบาล ส่วนที่เหลือเป็นการให้กู้ต่อแก่ การรถไฟแห่งประเทศไทยและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และวงเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องเงินคงคลัง 

1.2 การก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่นของรัฐ  วงเงิน 233,020.28 ล้านบาท เป็นการกู้เพื่อการลงทุนในสาขาคมนาคม (รถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3) สาขาพลังงาน (ปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า แผนงานเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน) สาขาสาธารณูปโภค (ปรับปรุงขยาย กปภ. สาขาต่างๆ) สาขาที่อยู่อาศัย (พัฒนาที่อยู่อาศัย โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง)

2) แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 1,589,973.34 ล้านบาท และรัฐวิสาหกิจ วงเงิน 145,989.59 ล้านบาท เพื่อบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้การบริหารต้นทุนและความเสี่ยงที่เหมาะสม

3) แผนการชำระหนี้ วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท เป็นแผนการชำระต้นเงินกู้และดอกเบี้ยจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 และเงินรายได้ของรัฐวิสาหกิจ 

ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP  ณ สิ้นปีงบประมาณ 2566 คาดว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 60.43 ซึ่งยังอยู่ใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังที่ร้อยละ 70.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password