เปิดผลวิจัย “สถาบันป๋วยฯ” ย้ำ! เป้า กนง.คุมเงินเฟ้อคาดการณ์ ป้องเกิด wage price spiral

สถาบันวิจัยป๋วยฯ เปิดวิจัยเจาะลึกเงินเฟ้อไทย พบถูกขับเคลื่อนจากปัจจัยเฉพาะเป็นหลัก 85% มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ดังนั้นการทำนโยบายการเงิน ต้องพยายามคุมการคาดการณ์ไม่ให้หลุดกรอบ เพื่อไม่ให้เกิด wage price spiral

วันที่ 9 ก.ย. 2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้เปิดเผย PIER Research Brief “เจาะลึกเงินเฟ้อไทยผ่านข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อย โดยมีผู้ทำวิจัย ประกอบด้วย ดร.พิม มโนพิโมกษ์ ,นายชัยธัช จิโรภาส ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ดร.นุวัต หนูขวัญ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดย ดร.นุวัต หนูขวัญ กล่าวว่า หากดูตัวเลขเงินเฟ้อโดยรวม โดยในเดือนส.ค. เงินเฟ้ออยู่ที่ 7.8% แต่กลับพบว่า สินค้าบางรายการปรับเพิ่มขึ้นกว่านี้มาก หรือต่ำกว่านี้มาก เหล่านี้สะท้อนว่าปัจจัยกระทบต่อเงินเฟ้อมีความหลากหลาย

แบ่งปัจจัยที่ขับเคลื่อนเงินเฟ้อมาจาก 2 กลุ่มหลักด้วยกัน ปัจจัยร่วม หรือ ปัจจัยมหภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ และปัจจัยเฉพาะ เช่น มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าบางรายการ ที่มีผลต่อการปรับเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า และบริการนั้นๆ ซึ่งพบว่า ปัจจัยร่วม มีผลต่อความผันผวนของเงินเฟ้อเพียง 15% เท่านั้น ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อหลักๆ ของไทยในปัจจุบันมาจาก ปัจจัยเฉพาะ 85% เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาหมู สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบต่อราคาน้ำมัน จึงเป็นเหตุให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้น เงินเฟ้อไทยไม่ค่อยอ่อนไหวไปกับปัจจัยมหาภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ ที่ แต่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะของแต่ละสินค้าเป็นสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าในหมวดพลังงาน

อย่างไรก็ตาม ผลของปัจจัยเฉพาะไม่ได้มีการส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ในวงกว้างเท่าใดนัก ส่วนหนึ่งสะท้อนถึง ความสามารถของธนาคารกลางในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน ทำให้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะสามารถคลี่คลายไปได้เอง และไม่ส่งผลยืดเยื้อ “สิ่งที่เราพบคือ ปัจจัยร่วมหรือมหาภาคมีบทบาทน้อยลงในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อไทย แต่ปัจจัยเฉพาะมีบทบาท กระทบต่อเงินเฟ้อมากยิ่งขึ้น แต่ปัจจัย ที่มาจากราคาน้ำมัน ราคาเนื้อสัตว์ต่างเพิ่มขึ้น มีการส่งผ่านไปสู่หมวดอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งพบว่า การส่งผ่านจำกัด แม้เกิดปัจจัยเฉพาะเกิดขึ้น แต่กระทบต่อสินค้าบางรายการเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลกระทบกระจายตัวเป็นวงกว้าง และเงินเฟ้อไทยส่วนใหญ่ มองว่าจะคลี่คลายได้ และไม่ต่อเนื่อง”

ขณะที่ นายชัยธัช จิโรภาส กล่าวว่า ความสามารถของธนาคารกลาง (ธปท.) ที่สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชนได้เป็นอย่างดีในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนทำให้ปัจจัยเฉพาะมีบทบาทสูงขึ้นในการอธิบายเงินเฟ้อไทย ผ่านสองช่องทางสำคัญโดยทำให้ราคาสินค้า และบริการรายย่อยอ่อนไหวไปกับวัฏจักรเศรษฐกิจน้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบการเชื่อว่าธนาคารกลางจะสามารถดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้ โดยผลการวิจัยพบว่า ราคาสินค้า และบริการในตะกร้าเงินเฟ้อไทยเกินครึ่งไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับอุปสงค์ส่วนเกินในเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยมหาภาคที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง นอกจากนี้ ยังส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงของราคาในหมวดย่อยที่เป็นผลจากปัจจัยเฉพาะ ไม่ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการอื่นๆ เป็นวงกว้างอีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นในหมวดสินค้าหนึ่งๆ สามารถอธิบายความผันผวนของราคาในหมวดอื่นๆ ได้โดยเฉลี่ยเพียงแค่ 3% เท่านั้น จึงทำให้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และไม่ยืดเยื้อ ในบริบทของไทยที่ปัจจัยเฉพาะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเงินเฟ้อ การดำเนินนโยบายการเงินจึงย่อมมีความท้าทาย เนื่องจากปัจจัยเฉพาะเหล่านี้มักมีความผันผวนสูง และเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่นโยบายการเงินไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายควรมองผ่าน (look through) ความผันผวนระยะสั้นเหล่านี้ และให้ความสำคัญกับการปรับตัวของเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลางเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี หากปัจจัยเฉพาะมีความรุนแรง และยืดเยื้อขึ้น ธนาคารกลาง อาจจำเป็นต้องเข้าดูแลเพื่อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน นอกจากนี้ ผลการวิจัยนี้ยังมีนัยต่อการติดตาม และประเมินความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน โดยมีความจำเป็นมากขึ้น ที่ต้องอาศัยข้อมูลราคาในเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ที่มาของเงินเฟ้อ และประเมินการส่งผ่านผลกระทบของปัจจัยเฉพาะที่เกิดขึ้นนั้นด้วย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password