ดัชนีฯเชื่อมั่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ส.อ.ท. เผย ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนกรกฎาคม 2565 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน จากส่งออกขยายตัว ใช้จ่ายในประเทศคึกคัก แต่ยังคงระวังต้นทุนการผลิตจากราคาพลังงานที่คงอยู่ระดับสูง

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2565 อยู่ที่ระดับ 89.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 86.3 ในเดือนมิถุนายน โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน องค์ประกอบที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ โดยมีปัจจัยบวกจากภาคการผลิตที่ขยายตัวจากความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค จากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย เป็นต้น

ขณะที่การผ่อนคลายล็อกดาวน์เมืองสำคัญของจีนส่งผลดีต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้การเปิดประเทศและการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเพิ่มขึ้นและช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก นอกจากนี้รายได้ในภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อกำลังซื้อในส่วนภูมิภาค

อย่างไรก็ตามความเชื่อมั่นด้านต้นทุนประกอบการลดลงเนื่องจากปัญหาราคาวัตถุดิบ ราคาพลังงาน รวมถึงค่าขนส่ง ที่ยังทรงตัวในระดับสูง แม้ราคาน้ำมันตลาดโลกในเดือนกรกฎาคมจะทยอยปรับตัวลดลงก็ตาม ขณะที่ปัญหาเงินเฟ้อ ยังกดดันกำลังซื้อของประชาชน นอกจากนี้ความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาคก่อสร้างชะลอตัวลงเนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน

จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,238 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้นได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ร้อยละ 72.2 สถานการณ์การเมือง ร้อยละ 40.3 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ร้อยละ 35.5 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีความกังวล ลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน ร้อยละ 80.7 เศรษฐกิจในประเทศ ร้อยละ 51.8 สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ร้อยละ 50.1 และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ร้อยละ 32.0 ตามลำดับ

สำหรับดัชนีฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 97.5 ในเดือนมิถุนายน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศรวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมีความกังวลการกลับมาระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะกระทบต้นทุนด้านการเงิน ตลอดจนสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่ยังมีความไม่แน่นอนส่งผลกระทบต่อราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบรวมถึงเศรษฐกิจโลก

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ประกอบด้วย 1. ขอให้ภาครัฐช่วยดูแลผลกระทบด้าน Supply Chain Shortage จากกรณีข้อพิพาทบริเวณช่องแคบไต้หวัน 2. ขอให้ภาครัฐพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ รวมทั้งค่าไฟฟ้าอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าและขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย

3.เร่งรัดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด และเชื่อมโยงพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค และ 4. เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับผลกระทบจากกรณีรัฐบาล เมียนมาออกประกาศ ระงับการชำระหนี้ต่างประเทศ เช่น ชะลอการชำระหนี้หรือให้ชำระเฉพาะดอกเบี้ยยกเว้นเงินต้น การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำช่วยเหลือนักลงทุนไทยและการให้สถาบันทางการเงินไทยในเมียนมาเข้ามาช่วยเหลือในการรับชำระหนี้เป็นเงินจ๊าด

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password