คลังแจงภาพรวมเศรษฐกิจไทย มิ.ย.65 ดีขึ้นจากผลพวงท่องเที่ยวกลับมาบูม!

“พรชัย ฐีระเวช” นำทีมผู้บริหาร สศค.แถลงภาพรวมเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2565 เผย! เศรษฐกิจดูดีขึ้น เป็นผลมาจากภาคการท่องเที่ยวที่เติบโต ทั้งนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ หนุนการบริโภคเอกชนพุ่ง หวั่นก็แต่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อระดับราคาพลังงาน ค่าครองชีพของประชาชน และทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องเกาะติดอย่างใกล้ชิด ส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและดัชนีความเชื่อมั่นของภูมิภาค ส่วนใหญ่ส่วนได้รับอานิสงฆ์ตามไปด้วย

พรชัย ฐีระเวช

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พร้อมด้วย นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษก สศค. และ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค แถลงถึงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมิถุนายน 2565 ว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนมิถุนายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชน อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อระดับราคาพลังงาน ค่าครองชีพของประชาชน และทิศทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ในเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 8.8 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 1.9 สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนมิถุนายน 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 9.6 ขณะที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนมิถุนายน 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 9.6 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 4.2 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 41.6 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่สถานการณ์โควิด -19 ในประเทศเริ่มปรับตัวดีขึ้น และมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ทำให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติ ตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีความกังวลในเรื่องการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ ที่ทำให้ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมิถุนายน 2565 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 13.9 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 3.1 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศ ในเดือนมิถุนายน 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -4.3 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 1.2 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 6.1 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -9.6

เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน ปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคเกษตร สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนมิถุนายน 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 6.5 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 0.7 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ข้าวโพด ยางพารา เป็นต้น สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนมิถุนายน 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 767,497 คน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 13,379.0 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 17.3 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนมิถุนายน 2565 จำนวน 15.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 1,115.6 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 14.3

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมิถุนายน 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 86.3 จากระดับ 84.3 ในเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากการที่ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น รวมถึงการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยลบจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 7.66 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.51 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 60.9 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.69 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 222.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

วุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล

พร้อมกันนี้ ทีมผู้บริหารของ สศค. ยังได้แถลงถึงภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนมิถุนายน 2565 ซึ่งจากการประมวลผลข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจรายจังหวัดจากสำนักงานคลังจังหวัด 76 จังหวัดทั่วประเทศ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค โดยระบุว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจภูมิภาคยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นใน ภาคใต้ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก นอกจากนี้ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคครั้งแรกในรอบ 6 เดือน เนื่องจากการผ่อนคลายของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พิสิทธิ์ พัวพันธ์

ขณะเดียวกันยังได้มองภาพของดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนกรกฎาคม 2565 โดยย้ำว่า จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้แสดงถึงความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกและภาคตะวันตก จากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4 ส่วนขยาย และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดย ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภาคตะวันออก อยู่ที่ระดับ 73.7 ภาคตะวันตก อยู่ที่ระดับ 67.3 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ระดับ 64.6 ภาคเหนือ อยู่ที่ระดับ 60.7 ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 58.8 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล อยู่ที่ระดับ 53.8 ซึ่งทั้งหมดล้วนปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน จะมีก็ใน กทม. และปริมณฑล ที่ปรับขึ้นเล็กน้อย สะท้อนเศรษฐกิจในอนาคตที่เพิ่มขึ้น ยกเว้น ภาคใต้ ที่พบว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจอยู่ที่ระดับ 71.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password