ttb analytics ฉายภาพ 6 เมกะเทรนด์ เปลี่ยนฉากทัศน์ธุรกิจไทยปี 65-69

ttb analytics ประเมิน 6 เมกะเทรนด์ ปี 2565-2569 แบ่งเป็น “2 เทรนด์ต้องเร่งทำ 2 เทรนด์ต้องเร่งเสริม 2 เทรนด์ต้องเร่งตระหนัก เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญและเร่งปรับตัวเพื่อสร้างโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ศึกษาแนวโน้มธุรกิจผ่านกรอบเมกะเทรนด์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565-2569 ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์ของธุรกิจไทยหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลาย โดย 6 เมกะเทรนด์มี ดังนี้

2 เมกะเทรนด์ “ต้องเร่งทำ” สร้างโอกาสเติบโตทางการตลาดให้ธุรกิจ

เมกะเทรนด์ที่ 1 Digitalization  ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทช่วงการแพร่ระบาดค่อนข้างมาก จากการที่ภาครัฐจำกัดการเดินทางทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมจับจ่ายใช้สอยไปเป็นซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ต่าง ๆ รวมถึงการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงิน ทำให้การขายออนไลน์เป็น “ทางรอด ไม่ใช่ทางเลือก” ของผู้ประกอบการ

เมกะเทรนด์ที่ 2 Globalization กระแสโลกาภิวัตน์เชื่อมโยงทุกสรรพสิ่งบนโลก ซึ่งมาพร้อมกับโอกาสและความท้าทาย

โอกาส คือ  ผู้ประกอบการเข้าถึงตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในแบบ B2B และ B2C ผ่านแพลตฟอร์มร้านค้า เช่น  eBay, Amazon,  TMall, Taobao, WalMart ฯลฯ จึงต้องศึกษาถึงวิธีเข้าสู่แพลตฟอร์มเหล่านี้ ช่วงชิงโอกาสที่ยังเปิดกว้างและมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

ความท้าทาย คือ ผู้ประกอบการต้องบริหารปัจจัยการผลิตด้วยความระมัดระวัง การเปลี่ยนแปลงความต้องการสินค้าและปัจจัยการผลิตในประเทศหนึ่งจะส่งผลต่ออีกหลายประเทศอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้นทุนการผลิตผันผวน คาดการณ์ลำบาก

2 เมกะเทรนด์ “ต้องเร่งเสริม” เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ

เมกะเทรนด์ที่ 3 New Technologies ได้แก่ เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน (รถยนต์ไฟฟ้า และโซลาร์เซลล์) จะส่งเสริมให้การดำเนินธุรกิจ “รวดเร็ว แม่นยำ และประหยัดขึ้น” กล่าวคือ

เทคโนโลยี 5G จะถูกนำมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจาก “ความเร็วของอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น” โดย 5G จะสูงกว่า 4G ถึง 20 เท่า “อัตราการตอบสนองต่อการสั่งการรวดเร็ว” 5G จะเร็วกว่า 4G ถึง 30 เท่า และ “รองรับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้จำนวนมาก” โดย 5G รองรับอุปกรณ์ Internet of Thing (IoT) ได้มากถึง 1 ล้านชิ้นต่อตารางกิโลเมตร ซึ่งมากกว่าเทคโนโลยี 4G ถึง 10 เท่า ภาคผู้บริโภค จะสามารถเข้าถึงการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ในทุกที่อย่างรวดเร็ว และสามารถใช้งานได้แบบทันที  เทคโนโลยี 5G จะทำให้ผู้ประกอบการเห็นสภาพตลาดของสินค้าได้ทันทีในทุกช่วงสถานการณ์ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก วิเคราะห์ข้อมูลกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้แม่นยำ

เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีด้านพลังงานใหม่ ๆ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้า (xEV) และ Solar rooftop ตอบโจทย์ทั้งด้านรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน หากผนวกกับนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐจะทำให้เทคโนโลยีประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมถูกใช้อย่างแพร่หลายในอนาคตอันใกล้

เมกะเทรนด์ที่ 4 Collaborative Business Models ธุรกิจแบบร่วมมือและพึ่งพากัน จะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในกลุ่มซัพพลายเชนเดียวกันได้รับผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสูงสุดในด้านการผลิตและการตลาด โดยแบ่งได้เป็น 4 ระดับ

ระดับที่ 1 การแชร์ข้อมูลระหว่างกัน (Sharing Information) ข้อมูลที่จะแชร์ ได้แก่ ข้อมูลดีมานด์และซัพพลาย เช่น ธุรกิจปลายน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่คือ ผู้ขายจะทราบถึงดีมานด์ของผู้ซื้อว่าเป็นอย่างไร การแชร์ให้กลางน้ำและต้นน้ำทราบ ทำให้ปรับกระบวนการผลิต  ต้นน้ารู้ต้นทุนการผลิตว่าเป็นอย่างไร

ระดับที่ 2 การแลกเปลี่ยนการตัดสินใจระหว่างกลุ่มธุรกิจ (Exchanging Decision Rights) คือ การให้อำนาจผู้ขายวางแผนบริหารจัดการสต็อกสินค้า เนื่องจากผู้ขายเห็นความต้องการผู้บริโภคเร็วที่สุด ช่วยให้วางแผนได้ทันเหตุการณ์

ระดับที่ 3 การแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างกลุ่มธุรกิจ (Exchanging Work) ธุรกิจที่อยู่กลางน้ำและต้นน้ำ สามารถแลกเปลี่ยนการทำงานระหว่างกันตามลำดับความเชี่ยวชาญ หากทับซ้อนกันก็ใช้สายที่ผลิตได้ดีและต้นทุนต่ำกว่า 

ระดับที่ 4 การแชร์ปัจจัยเสี่ยงและกำไรระหว่างกลุ่มธุรกิจร่วมกัน (Sharing Risks and Benefits)   

2 เมกะเทรนด์ “ต้องเร่งตระหนัก” กำหนดกลยุทธ์ตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

เมกะเทรนด์ที่ 5 Aging Society ประเทศไทยเข้าใกล้สู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว โดยในปี 2564 มีผู้สูงอายุที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีจำนวนกว่า 12 ล้านคน คิดเป็น 18% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ด้วยเหตุนี้ สินค้าที่จะตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวกับสุขภาพ สันทนาการ การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติและเชิงวัฒนธรรมที่มีกิจกรรมเบา ๆ

ทั้งนี้ กลุ่มผู้บริโภคที่ชี้นำการบริโภค คือ กลุ่มอายุ 35-49 ปี มี 15 ล้านคน คิดเป็น 22% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ในวัยทำงานที่รายได้เริ่มมั่นคงและมีอำนาจในการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการสูง ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้อยู่ในช่วงสร้างครอบครัวและบางส่วนมีภาระต้องดูแลทั้งเด็กและผู้สูงอายุในเวลาเดียวกัน 

เมกะเทรนด์ที่ 6 BCG Economy เทรนด์เศรษฐกิจใหม่ที่ภาครัฐกำหนดให้เป็นแนวนโยบายแห่งชาติ ซึ่งมีเป้าหมายให้การเติบโตทางเศรษฐ ขนานไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาโลกร้อนไปด้วยในเวลาเดียวกัน

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) มุ่งเน้นใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่าควบคู่การรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อม ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าและบริการอย่างมีนวัตกรรมและมีมูลค่าเพิ่ม

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มุ่งเน้นใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่า ใน 3 เรื่อง ได้แก่ การใช้งานผลิตภัณฑ์เต็มวงจร (Reuse, Refurbish, Sharing) แปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle) และการออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Zero-Waste)

เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม

โดยสรุป 6 เมกะเทรนด์ปี 2565-2569 ได้แก่ 2 เทรนด์ต้องเร่งทำ (Digitalization, Globalization) 2 เทรนด์ต้องเร่งเสริม (New Technologies, Collaborative Business Models) และ 2 เทรนด์ต้องเร่งตระหนัก (Aging Society, BCG Economy) จะเข้ามาบทบาทเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจไทยใน 3 ปีข้างหน้า เป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบการต้องตระหนักและปรับเปลี่ยนสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ที่เกิดขึ้นเพื่อสร้างความเติบโตของธุรกิจต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password