พาณิชย์แนะเอกชน ชูทรัพย์สินทางปัญญา บุกตลาดตปท. สร้างแต้มต่อการค้า แนะให้จดสิทธิบัตร

“สินิตย์ เลิศไกล” รมช.พาณิชย์ แนะนำ ภาคเอกชน ชูทรัพย์สินทางปัญญา บุกตลาดต่างประเทศ สร้างแต้มต่อทางการค้า โดยสามารถลงทะเบียนจดสิทธิบัตรสินค้าได้ที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา

วันที่ 9 มิ.ย.2565 นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์มีนโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจไทยขยายช่องทางการตลาดไปยังต่างประเทศ โดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือ สร้างแต้มต่อทางธุรกิจ พร้อมส่งเสริมผู้ประกอบการไทย จดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาก่อนส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศ เพื่อป้องกันการลอกเลียน หรือ หาประโยชน์จากผลงานความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประกอบการไทย โดยผู้ประกอบการไทยสามารถยื่นขอรับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าผ่านระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศ (Madrid Protocol) และ ระบบจดทะเบียนสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (Patent Cooperation Treaty : PCT) ได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยได้รับความคุ้มครองเครื่องหมายการค้าและสิทธิบัตรทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้จัดทำตัวอย่างข้อสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาในรูปแบบภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยนำไปปรับใช้ ในการทำสัญญากับคู่ค้าต่างประเทศได้อย่างมั่นใจ ดาวน์โหลดตัวอย่างสัญญาได้ทางเว็บไซต์กรมทรัพย์สินทางปัญญา

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้วางแนวทางป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ก่อนส่งออกสินค้าไปตลาดต่างประเทศโดยสร้างความตระหนักให้ผู้ประกอบการไทยมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ การสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศสมาชิกอาเซียน เป็นต้น เพื่อช่วยเหลือและแก้ปัญหาเมื่อผู้ประกอบการไทยถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศได้อย่างทันท่วงที

หากเกิดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยสามารถติดต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อขอรับคำแนะนำในการดำเนินการเพื่อยับยั้งการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน โทร.1368

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password