สศค.ชี้เศรษฐกิจการคลัง เม.ย.65 ขยายตัวจาก 3 ฐานเศรษฐกิจหลัก

3 พระเอกหลักเศรษฐกิจ “ส่งออก – ท่องเที่ยว – เกษตร” มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจการคลังช่วง เม.ย.65 สศค.ชี้! ยังมีหลายปมให้ต้องจับตามองใกล้ชิด โดยเฉพาะวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน ที่หนุนราคาพลังงานพุ่ง กระทบชิ่งต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพ ส่วนเศรษฐกิจการคลังภูมิภาค ยังได้รับอานิสงฆ์จากการท่องเที่ยวที่และการบริโภคภาคเอกชน แต่ภาคเอกชนยังห่วงปมค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคในเดือนหน้า มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น

เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง และ นายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ร่วมแถลงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนเมษายน 2565 โดยระบุว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนเมษายน 2565 ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และภาคเกษตร อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซียและยูเครนที่ส่งผลต่อระดับราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิต และค่าครองชีพอย่างใกล้ชิด โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชน มีสัญญาณดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ในเดือนเมษายน 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.6 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ 0.9 การบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 20.6 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลร้อยละ -9.2  ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -7.6 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 6.4 และรายได้เกษตรกรที่แท้จริง ในเดือนเมษายน 2565 ขยายตัวเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 8.0

อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนเมษายน 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 40.7 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และผลกระทบจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าและระดับราคาสินค้าทั่วไปปรับตัวสูงขึ้น

เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน ในเดือนเมษายน 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 6.3 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 2.7 และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 4.4 แต่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -6.0 สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ภายในประเทศในเดือนเมษายน 2565 ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -7.4 และลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ -1.4 ขณะที่ภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ -6.5 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 7.3

มูลค่าการส่งออกสินค้าขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า มูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ 23,521.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันที่ร้อยละ 9.9 ซึ่งเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 และหากพิจารณาเฉพาะมูลค่าการส่งออกสินค้าที่ไม่รวมน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง ทองคำ และยุทธปัจจัย พบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.9

โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานโลก เช่น น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางยานพาหนะ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น 2) สินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะน้ำตาลทราย  ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง  ข้าว และอาหารสัตว์เลี้ยง ที่ขยายตัวร้อยละ 87.9 49.5 44.0 และ 24.7 ตามลำดับ 3) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าคงทน อาทิ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์และส่วนประกอบ และ 4) สินค้าทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าหลักของไทยปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกตลาด โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ อินเดีย อาเซียน 5 ตะวันออกกลาง และสหรัฐฯ ที่ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 43.4 26.9 25.4 และ 13.6 ตามลำดับ

ส่วน เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยภาคเกษตร สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือนเมษายน 2565 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 2.7 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 4.6 จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตสำคัญ เช่น ข้าวเปลือก ยางพารา ไข่ไก่ และสินค้าในหมวดประมง เป็นต้น สำหรับ ด้านบริการด้านการท่องเที่ยว ในเดือนเมษายน 2565 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยรวม จำนวน 293,350 คน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 3,339.4 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 66.3 โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากสหราชอาณาจักร อินเดีย เยอรมนี สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ตามลำดับ เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวภายในประเทศที่มีผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย ในเดือนเมษายน 2565 จำนวน 16.7 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ร้อยละ 138.9 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังขจัดผลทางฤดูกาลที่ร้อยละ 6.3

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2565 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 86.2 จากระดับ 89.2 ในเดือนมีนาคม 2565 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาพลังงาน ต้นทุนการผลิตทั้งจากราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวจากปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้ประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี แม้มีปัจจัยกดดันจากการเพิ่มขึ้นของระดับราคาสินค้า สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 4.65 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 2.00 ส่วนสัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 60.6 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 รวมทั้งผู้ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานรายใหม่ ในเดือนเมษายน 2565 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ของผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทั้งหมด สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับที่มั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 อยู่ในระดับสูงที่ 228.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับ ภาวะเศรษฐกิจการคลังภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2565 นั้น ตัวแทนจาก สศค. ระบุว่า ยังคงได้รับปัจจัยปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค อีกทั้งการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในภาคใต้ และภาคตะวันออก อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากความกังวลต่อค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค เดือนพฤษภาคม 2565 สศค.เชื่อว่า มีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคตะวันออกจากความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในอนาคตที่ดีขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจของ กทม. และปริมณฑล ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าจากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน แต่ยังสะท้อนถึงแนวโน้มความเชื่อมั่นที่จะดีขึ้นในอนาคต.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password