หอฯค้าไทย-จีน เผยผลสำรวจดัชนีเชื่อมั่น Q4 ชี้! บิ๊กนักธุรกิจไม่เชื่อจีดีพีไทยโตถึง 3.3%

หอการค้าไทย-จีน แถลงผลสำรวจความเห็นดัชนีความเชื่อมั่นไตรมาส 4 จาก “305 บิ๊ก’นักธุรกิจ” 2 สัญชาติในไทย ระบุ 56.7% ไม่เชื่อจีดีพีปี 2565 จะโต 3.3% ห่วงปมขัดแย้งของชาติมหาอำนาจจะฉุดเศรษฐกิจโลก กระทบชิ่งถึงเศรษฐกิจไทย เผย! เสียงส่วนใหญ่ไม่หวั่นภาวะ “ดอกเบี้ยขาขึ้น” ชี้! ยังมีช่องว่างให้ขยับ คาดแบงก์ชาติปรับขึ้นอีกก่อนสิ้นปีนี้ วอนภาครัฐและแบงก์พาณิชย์ ผ่อนปรนให้เอสเอ็มอีและ Start-up เข้าถึงเงินกู้ได้ง่ายขึ้น ระบุ! 7 เดือนแรก ไทยขาดดุลการค้าจีนเพียบ! เฉพาะ ก.ค.65 ส่งออกไปจีน ติดลบกว่า 20% ส่วนปม “กับดักหนี้จีน” เชื่อ! มีทั้งโอกาสและความเสี่ยง

วันที่ 31 สิงหาคม 2565 ห้องประชุมใหญ่ หอการค้าไทย-จีน นายณรงค์ศักดิ์ พุทธมงคล ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน และ รศ. ดร. ชโยดม สรรพศรี อ.ประจำเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะ ที่ปรึกษาโครงการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน พร้อมด้วย คณะกรรมการหอการค้าไทย-จีน ร่วมแถลงข่าวผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น หอการค้าไทย-จีน ไตรมาส 4/2565 ทั้งนี้ การสำรวจความคิดเห็นในรูปแบบออนไลน์นี้ เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 16-18 สิงหาคมฯ จากคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ คณะกรรมการบริหาร และสมาชิกหอการค้าไทย-จีน รวมถึงประธาน ผู้บริหาร กรรมการสมาพันธ์หอการค้าไทย-จีน และกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่หอการค้าไทย-จีน รวม 305 คน

นายณรงค์ศักดิ์ แถลงว่า ในมุมของการสำรวจพบ 39.7% เชื่อว่า เป็นไปได้มากที่เศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวจากฐานที่ต่ำและจีดีพีปี 2565 จะเติบโตที่ 3.3% ขณะที่ 56.7% กลับเห็นต่าง เชื่อว่าสมมุติฐานนี้มีความเป็นไปได้น้อย ที่เหลือคิดว่าเป็นไปไม่ได้ที่จีดีพีไทยจะโตได้เท่านี้ ส่วนประเด็นความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก อันเกิดจากความกังวลที่เกี่ยวกับการถดถอยของเศรษฐกิจโลกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย นั้น 33.1% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยเล็กน้อยจากไตรมาสปัจจุบัน แต่ 25.2% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยอย่างมาก และ 12.5% เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะเข้าขั้นวิกฤติ มีเพียง 19.8% ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้

ส่วน ปัจจัยทางด้านการเงิน 65.4% คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย น่าจะปรับขึ้นอีกครั้งก่อนสิ้นปีนี้ ทว่าการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ยังไม่เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้ถูกสำรวจเห็นว่าจะเป็น 5 อันดับแรกที่จะส่งผลทำให้เศรษฐกิจไทยมีปัญหาจนเติบโตไม่ราบรื่น

“ก็เป็นเรื่องที่ผู้ถูกสำรวจกังวลใจอยู่บ้าง แต่เพราะฐานอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ ทำให้มีช่องว่างพอที่จะรับมือกับการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยได้บ้าง แต่สิ่งภาคเอกชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีและ Start-up รู้สึกเป็นกังวลใจมากกว่า คือ การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ จำเป็นที่ภาครัฐและสถาบันการเงินควรจะปรับเกณฑ์และเงื่อนไขการกู้ยืมเพื่อให้การกู้ยืมทำได้ง่ายขึ้น ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน ขยายความ

สำหรับประเด็น ความกังวลต่อความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจนั้ น 41.6% คิดว่ามีผลพอสมควร ส่วน 20.7% และ 9.2% มีความเห็นว่า มีผลกระทบมากและมากที่สุด ทางด้าน โอกาสการส่งออกไปยังตลาดจีนในสถานการณ์ปัจจุบัน 54.4% เห็นว่ายังมีความมั่นใจพอประมาณ 31.5% มั่นใจมากที่สุดว่า จีนยังเป็นตลาดส่งออกที่ไทยพึ่งพาได้ แต่จะหวังนักท่องเที่ยวจากจีนคงหวังได้ยาก โดย 80.3% คิดว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลงจากที่คาดการณ์ นั่นเพราะสถานการณ์ภายในของจีนเอง ทั้งนี้ ในสัดส่วนนั้น 58.7% คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลงมากถึงมากที่สุด

อย่างไรก็ดี นายณรงค์ศักดิ์ ยังแอบหวังใจ หลังการประชุมใหญ่ของทางการจีนในวันที่ 16 ตุลาคมที่จะถึงนี้ น่าจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีต่อไทย เนื่องจากจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งอาจทำให้เงื่อนไขการเปิดประเทศของทางการจีนผ่อนปรนมากขึ้น ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกเชนของไทยจำเป็นจำต้องส่งสัญญาณไปยังรัฐบาลของ 2 ประเทศ เพื่อให้มีการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกันให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งหากทุกอย่างเป็นใจ ส่วนตัวเชื่อว่าในช่วงเดือนสุดท้ายของปีนี้ หรืออย่างช้าต้นปีหน้า จะได้เห็นนักท่องเที่ยวจีนกลับมายังประเทศไทย

ด้าน รศ. ดร.ชโยดม กล่าวเสริมว่า หากย้อนกลับไปดูจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 (2562) ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเกือบ 40 ล้านคนนั้น เป็นนักท่องเที่ยวจีนมากถึง 10 ล้านคน และในจำนวนนี้ มีมากถึง 43% ที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยว FIT (Free Independent Travelers) หรือ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวด้วยตัวเอง โดยส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ใช้โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวสามารถดำเนินการในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับการเดินทางและชำระเงินเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งหากทางการจีนผ่อนคลายมาตรการภายในประเทศแล้ว เชื่อว่ากลุ่มนักท่องเที่ยว FIT จะเดินทางมายังประเทศไทยอย่างแน่นอน ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ที่เคยมีสัดส่วนมากถึง 57% อาจเหลือน้อยลง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการซื้อตั๋วเดินทางท่องเที่ยวในราคาถูก ซึ่งราคาจะไม่ถูกเหมือนเช่นในอดีตอีกแล้ว

เมื่อพิจารณาถึง ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและไทย พบว่า 40.7% คาดว่า เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนโดยรวมของจีนในไตรมาส 4 จะดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ขณะที่ 25.2% เชื่อว่า เศรษฐกิจจีนจะทรงๆ และ 31.5% มองว่าเศรษฐกิจจีนจะโตช้าลง สะท้อนการคาดคะเนการส่งออกของไทยไปยังจีนในไตรมาส 4 เมื่อเทียบไตรมาสปัจจุบัน กล่าวคือ 43.6% คาดว่าส่งออกไปจีนจะเพิ่มขึ้น 31.5% คิดว่าไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนการนำเข้า 48.5% คาดว่าจะมีสูงขึ้น มีเพียง 28.5% ที่เห็นว่าการนำเข้าจากจีนจะทรงตัว

“ช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม – กรกฎาคม 2565)  การค้าระหว่างไทยและจีน ขยายตัว 7.34% แต่การส่งออกไปจีน หดตัวลง 2.62% เฉพาะเดือนกรกฎาคม หดตัวมากถึง 20.60% ในขณะที่การนำเข้าจากจีนยังคงเติบโต โดยขยายตัวมากถึง 13.17% จึงทำให้ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีน” ประธานฯหอการค้าไทย-จีน ให้ข้อมูลเสริม

ทางด้าน การลงทุนของจีนในไทย พบว่า 42% คิดว่าจะมีเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4 ส่วนที่มองว่าไม่เปลี่ยนแปลงมี 30.8% ขณะที่การสำรวจการ คาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของไทยโดยรวมในไตรมาสที่ 4 เทียบไตรมาสปัจจุบัน สรุปว่า 40.3% คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น 30.8% เห็นว่ายังคงทรงตัว ที่เชื่อว่าจะชะลอตัวลงมีเพียง 26.2% ทั้งนี้ ภาคธุรกิจที่ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในไตรมาสหน้า คือ ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจออนไลน์ ธุรกิจบริการสุขภาพ พืชผลการเกษตร ธุรกิจบริการ สุขภาพ ธุรกิจโลจิสติกส์ และสินค้าเกษตรแปรรูป ส่วนธุรกิจที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน คือ ธุรกิจท่องเที่ยว พืชผลทางการเกษตร พลังงานและสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต

นายณรงค์ศักดิ์ ย้ำว่า จากสถานการณ์ความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจ อาจเป็นโอกาสของไทย ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาข้างต้นน้อยมาก กระทั่ง กลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของการลงทุน ทั้งจากจีนและชาติตะวันตก โดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซี (เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก) และธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตสูง คือ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV)

“กลุ่มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และกลุ่มพืชผลการเกษตร แม้จะมีโอกาสที่สูง แต่ขณะเดียวกันก็จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเร่งแก้ไขปรับปรุง เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคจนเป็นการทำลายโอกาสของภาคธุรกิจทั้ง 2 กลุ่มนี้” ปรึกษาโครงการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย-จีน กล่าวเสริม

ทั้งนี้ การคาดการณ์ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสที่ 4 เทียบไตรมาสปัจจุบัน ผู้ให้ข้อมูลมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันจนไม่สามารถสรุปผลได้อย่างชัดเจน ส่วนแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยน ส่วนใหญ่จำนวน 34.4% คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 36.1% เห็นว่าค่าเงินบาทจะทรงตัวในระดับ 35.59 – 36.09 บาทต่อดอลลาร์

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติม ถึงกรณี “กับดักหนี้จีน” ซึ่งหลายประเทศในกลุ่มอาเซียนกำลังประสบปัญหาดังกล่าว ยกเว้นไทยและฟิลิปปินส์ ทางหอการค้าไทย-จีน มีมุมมองในเรื่องนี้อย่างไร? และคิดว่าเป็นความโชคดีหรือเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นที่ฐานที่จำเป็น  เรื่องนี้ นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า มีมุมมองได้หลายด้าน จะมองเป็นความโชคดีที่ไม่เป็นหนี้กับรัฐบาลจีน หรือมองเป็นการสูญเสียโอกาสในการพัฒนาก็ได้ พร้อมยกตัวของ ทางการ สปป. ลาว และอินโดนีเซีย ที่กู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงจากรัฐบาลจีน จึงทำให้มีเม็ดเงินจำนวนหลักแสนล้านบาท มาใช้เพื่อการลงทุนและทำให้โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ส่วนของไทยก็ต้องแลกกับการที่จะต้องหาเงินลงทุนเอง ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างยาวนานกว่าประเทศที่อาศัยเงินกู้จากรัฐบาลจีน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password