Thailand Gems & Jewelry Fair 2022 จุดเริ่ม! หนุน กทม. สู่ ‘แลนด์มาร์คอัญมณี’ โลก

ผู้ว่าฯชัชชาติ ขานรับข้อเสนอภาคเอกชน หนุนดัน กทม.สู่ “แลนด์มาร์คอัญมณี” ของโลก พร้อมจับมือหาทางสร้างฝันเป็นจริง! ด้าน ปธ.สมาพันธ์อัญมณีฯ แนะปิดถนนสีลมช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สร้าง Walking Street ด้านอัญมณีและเครื่องประดับ มั่นใจเม็ดเงินแค่ 5% ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายในประเทศ หนุนเศรษฐกิจไทยได้ดี ขณะที่ สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยฯ แถลงจัดงาน Thailand Gems & Jewelry Fair 2022 ช่วง 1-4 ก.ย.นี้ ณ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ตั้งเป้าดันไทยเป็น Sourcing Destination ขึ้นชั้นตัวเลือกแรกสำหรับคู่ค้าธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจากทั่วโลก

“แลนด์มาร์คแห่งอัญมณี”…หนึ่งในข้อเสนอหลักที่ภาคเอกชนไทย โดยเฉพาะ กลุ่มผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ มีต่อกรุงเทพมหานคร ในวันที่ ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีจัดแถลงข่าวการจัดงาน “Thailand Gems & Jewelry Fair 2022” ซึ่ง สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ภายใต้การนำของ “อดีต รมว.พาณิชย์” นางสาวพรทิวา นิพาริน (นาคาศัย) ที่รับบทเป็นทั้ง…นายกสมาคมฯและประธานจัดงานฯ เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 23 สิงหาคม 2565 ณ บริเวณโรงภาพยนตร์ 1 VIP ICONSIAM ชั้น 6 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม

สิ่งนี้….กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างที่สุด! ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแวดวงธุรกิจอุตสาหกรรมอัญมณี ที่มีมูลค่าปีละมากกว่า 5 แสนล้านบาท และเกี่ยวพันกับภาคแรงานในระบบอีกมากกว่า 1 ล้านคนในทันที

ทุกสายตาจับจ้องไปยัง ดร.ชัชชาติ คิดอย่างไรกับข้อเสนอดังกล่าว

โพล๊ะ! ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร เห็นด้วยและขานรับกับข้อเสนอของ นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ รวมถึงข้อเสนอของ นายสมชาย พรจินดารักษ์ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย ผู้ที่มีบทบาทสำคัญของการจัดงานฯในทุกครั้งที่ผ่านมา

พร้อมประกาศให้ทุกฝ่ายได้ยินทั่วกันว่า…กรุงเทพมหานครพร้อมจะสานต่อแนวคิดดังกล่าว ด้วยเหตุผลที่ว่า…

เพราะเมืองคือ Labor Market (ตลาดแรงงาน) และเมืองอยู่ได้เพราะเศรษฐกิจ ดังนั้น ผู้บริหารกรุงเทพมหานครจะต้องสร้างเมืองให้ดี สร้างเศรษฐกิจให้คนกรุงเทพฯได้มีงานทำ มีรายได้ เพราะที่สุดก็เป็นกรุงเทพมหานครที่จัดเก็บรายได้ภาษีจากคนกรุงเทพฯ หากไม่มีการกระตุ้นเมือง ไม่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็ไม่มีทางที่จะสร้างเมืองที่ดีได้ และกรุงเทพมหานครก็จะไม่มีงบประมาณมาดูแลปัญหาทางด้านขยะและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสวัสดิการในด้านต่างๆ ให้กับคนกรุงเทพฯ

เศรษฐกิจคือหัวใจของเมือง ดังนั้น สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ ทำให้เศรษฐกิจเข้มแข็ง ซึ่งอีกหน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนั้น จะต้องทำให้เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครมีความเข็มแข็ง ทั้งนี้ ภายหลังจากที่สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย Key word หรือสิ่งสำคัญที่จะต้องเร่งสร้างตามมาเพื่อให้ประเทศไทยรอดพ้นจากวิกฤตที่เกิดขึ้นตลอด 3 ปีเศษที่ผ่านมา ก็คือ ทำให้เกิด Trust หรือความไว้ใจ ตนเชื่อว่าในอนาคต Trust economy จะเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้เรารอดพ้นจากวิกฤตโควิดฯได้

เมืองไหนสามารถจะสร้าง Trust ได้เร็ว คน (นักท่องเที่ยว) กลับมาเร็ว ธุรกิจกลับคืนมา เมืองนั้นก็จะฟื้นตัวได้เร็ว และตนเชื่อว่า ไม่มีธุรกิจไหนที่ต้องการ Trust ได้มากเท่ากับธุรกิจอัญมณี เพราะเป็นธุรกิจที่จะต้องอาศัยทั้ง Sourcing อาศัย Trust อาศัย “Hi-tech” และ “Hi-touch” สร้างความไว้ใจและความผูกพันที่มีต่อกัน

กรุงเทพมหานคร สามารถจะเป็น Destination ของวงการอัญมณีและเครื่องประดับได้ เมื่อ Trust กลับคืนมาแล้ว ดังนั้น หน้าที่ของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงต้องช่วยสร้าง Trust ในมิติอื่นๆ เสริมกันไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย สุขภาพ และคุณภาพชีวิต ฯลฯ ขณะที่ภาคเอกชนเอง ก็สามารถจะสร้าง Trust ในด้าน Quality ของสินค้าและสร้างความมั่นใจกลับคืนมาเช่นกัน

ดร.ชัชชาติ เชื่อว่า…ไม่มีช่วงเวลาไหนที่จะเหมาะสมกับการจัดงาน “Thailand Gems & Jewelry Fair 2022” ได้เท่ากับช่วงเวลานี้อีกแล้ว เพราะถือเป็นช่วงเวลาที่  Thailand’s come back แล้ว พร้อมกันนี้…เขายังเห็นว่า อัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งถือเป็นธุรกิจที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน และสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับประเทศ ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็น “Hi-tech” และ “Hi-touch” ซึ่ง “Hi-tech” ต่างชาติสามารถจะก๊อปปี้เราได้ แต่กับ “Hi-touch” ยากจะก๊อปปี้

ดังนั้น อุตสาหกรรมอัญมณี จึงถือเป็นอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญอีกธุรกิจหนึ่งของกรุงเทพมหานคร เหมาะสมที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันสร้างให้เป็น “เมืองแห่งอัญมณี” ในอนาคตอันใกล้

“หัวใจของการบริหารเมืองให้ประสบความสำเร็จ คือ การสร้างความร่วมมือกันของทุกภาคส่วนให้เกิดขึ้นให้ได้ ทั้งนี้ ภาครัฐไม่ได้เก่ง เป็นแค่ผู้ถือกฎระเบียบ เราไม่มีทรัพยากรมากนัก  มีแค่เงินภาษีที่จัดเก็บจากพวกเรา (คนกรุงเทพฯและธุรกิจที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ) ดังนั้น หัวใจของร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ กรุงเทพมหานครมีหน้าที่อำนวยความสะดวกให้กับคนที่อยู่ในเมือง (หลวง) ไม่ใช่สร้างปัญหาให้กับคนกรุงเทพฯ หรือภาคธุรกิจ ถึงตรงนี้ ผมรู้สึกยินดีที่ได้มีเข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดงานฯในครั้งนี้ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญระดับโลก และกรุงเทพมหานครพร้อมเป็นแนวร่วมที่จะเดินไปด้วยกัน เพื่อสร้างเมืองกรุงเทพมหานครของเราให้มีศักยภาพเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของคนทั่วโลก ทำให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ของทุกคน ดังนั้น ผมจึงต้องขอขอบคุณสมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ และภาคเอกชนที่ให้เกียรติเชิญกรุงเทพมหานครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานในครั้งนี้ และถือเป็นงานแรกในระดับชาติ ระดับโลกของผมด้วย” ดร.ชัชชาติ ย้ำ

ต่อมา ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลัง ถึงข้อเสนอจากภาคเอกชนในการสร้างให้กรุงเทพมหานครเป็น “แลนด์มาร์กแห่งอัญมณี” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความมั่นใจให้กลับคืนมา ว่า กรุงเทพมหานครก็พร้อมจะให้ความร่วมมือ โดยจะต้องดูข้อเสนอและหารือร่วมกันด้วยความรอบคอบในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ในต่างประเทศก็มี “แลนด์มาร์ค” ในรูปแบบต่างๆ สำหรับกรุงเทพมหานคร โชคดีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็น “แลนด์มาร์ค” ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้ อาหาร สตรีทฟู้ดส์ ฯลฯ นั่นเพราะเป็นกรุงเทพฯ เป็นมหานครที่สามารถจะมีความหลากหลายในความเป็น “แลนด์มาร์ค” ได้ในหลายมิติ ซึ่ง “อัญมณีและเครื่องประดับ” ก็เป็นหนึ่งในนั้น และสิ่งนี้ ก็เป็นเรื่องสำคัญของไทย เพราะเรามีประวัติความเป็นมาที่เก่าแก่ มีช่างและแรงงานฝีมือที่มีคุณภาพ ซึ่งอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ “Hi-tech” และ “Hi-touch” ที่ยากจะเลียนแบบได้ และถือเป็นมิติสำคัญที่จะสร้างความไว้วางใจให้กลับคืนมาหลังจากเกิดวิกฤตโควิดฯ

ด้าน นายสมชาย กล่าวในฐานะ ประธานสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย ถึงข้อเรียกร้องให้กรุงเทพมหานครกลายเป็น “แลนด์มาร์คแห่งอัญมณี” ว่า สิ่งนี้นับเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากประเทศไทยมีความพร้อมในมิติต่างๆ รองรับเป้าหมายอันเป็นข้อเสนอข้างต้น เนื่องจากกรุงเทพมหานคร มีทั้งถนนสายทองคำ (ย่านเยาวราช) ถนนสายเครื่องเงิน (ย่านเจริญกรุง) ถนนสายเพชรและพลอย (ย่านสีลมและมเหสักข์) ทั้งนี้ แนวทางหรือวิธีการในอนาคตที่จะต่อยอดไปสู่ความเป็น “แลนด์มาร์คแห่งอัญมณี” มีอยู่กันหลายแนวทาง เช่น ปิดถนนสายสีลมในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อสร้างเป็น “ถนนคนเดินสายอัญมณี” ดึงเอานักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วทุกมุมโลกที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยนั้น ตนเชื่อว่าทุกคนจะซื้ออัญมณีและเครื่องประดับกลับบ้านของตัวเอง

โดยคาดการณ์ว่า หากนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้เงินเพียง 5% ของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในประเทศไทย จะเป็นเงินจำนวนมหาศาลมาก ขณะที่นักท่องเที่ยวเอง ก็จะเกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของสินค้าซื้ออัญมณีและเครื่องประดับจากประเทศต้นตอของการผลิต สามารถนำไปขายต่อเพื่อสร้างกำไรหลายเท่าตัวเมื่อกลับไปยังบ้านเกิดของตัวเอง

สำหรับรายละเอียดของ การจัดแถลงข่าวการจัดงาน “Thailand Gems & Jewelry Fair 2022” ที่จะมีขึ้น ณ ชั้น 7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ระหว่างวันที่ 1 – 4 กันยายน 2565 นั้น

นางสาวพรทิวา ในฐานะ นายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ แถลงว่า สมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับเป็นสมาคมที่มีสมาชิกกว่า 2,000 บริษัท เป็นสมาคมอัญมณีที่แข็งแกร่งที่สุดและมีสมาชิก นิติบุคคลมากที่สุดในอาเซียน ซึ่งเกิดจากความร่วมแรงร่วมใจของผู้ประกอบการไปจนถึงช่างฝีมือและแรงงาน ทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกว่าล้านคน ที่ร่วมกันสร้างและขยายธุรกิจอัญมณีจนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา โดยสมาคมฯ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปรับตัวในเรื่องของกลยุทธ์และเทคโนโลยี จึงได้วางเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็น Sourcing Destination ของโลกในธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เพื่อให้ทั่วโลกนึกถึงไทยเป็นอันดับแรก ทั้งในแง่ของแหล่งลงทุน แหล่งการผลิต ตลอดจนเป็นแหล่งซื้อขาย ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบกับผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับนานาชาติ รวมถึงสินค้าที่หลากหลายตอบโจทย์ทุกความต้องการ อาทิ พลอยสี เพชร เครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน ที่ใช้สำหรับแต่งงาน ใส่ประจำวัน หรือสำหรับการลงทุน รวมถึงสินค้ากลุ่มเครื่องจักร เครื่องมือ และแพคเกจจิ้ง เพื่อการผลิตและการขายแบบครบวงจร โดยผู้ผลิตทุกรายที่จัดแสดงสินค้าได้รับการรับรองจากสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับ ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพได้อย่างมั่นใจ

โดยงาน Thailand Gems & Jewelry Fair 2022 ได้จัดขึ้นครั้งแรกและเป็นงานแสดงสินค้าอัญมณีงานแรกของปี โดยจัดในรูปแบบ Hybrid Show ที่ใช้เทคโนโลยีร่วมกับ Traditional Trade เนื่องจากอัญมณีและเครื่องประดับจำเป็นต้องใช้การประเมินสินค้าจริงในการทำธุรกิจ ซึ่งได้นำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาเป็นสะพานเชื่อมคู่ค้าเข้าด้วยกัน อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้าง Omni Channel เพื่อการพัฒนาไปสู่ Sourcing Destination ซึ่งแนวคิดนี้มาจากความตั้งใจของสมาคมผู้ค้าอัญมณีไทยและเครื่องประดับที่อยากสร้างให้ไทยมีอนาคตที่แข็งแกร่งจากการที่มีอาชีพที่คนไทยเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง โดยพิจารณาจากศักยภาพที่มีอยู่แล้วของไทย และการพัฒนาต่างๆ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักของงานสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม B2B และ B2C นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนทั้งจากทางรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็นสมาพันธ์อัญมณี เครื่องประดับ และโลหะมีค่าแห่งประเทศไทย (GJPCT) กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กรมตำรวจและกรุงเทพมหานคร

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษในการประชาสัมพันธ์งานและสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น การประชาสัมพันธ์ราคากลางเพชร เป็นการสร้างมาตรฐานและขยายตลาดเพชรภายในประเทศ การแจกอัญมณีประจำวันเกิดให้ผู้ชมที่มาร่วมงาน เพื่อเป็นการสร้างความประทับใจในพลอยสีที่ถือได้ว่าคนไทยเป็นผู้ผลิตอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งผู้เข้าร่วมชมงานจะได้รับสิทธิ์ร่วมลุ้นชิงรางวัล 2 ต่อ โดย ต่อที่ 1 รับทันทีอัญมณีประจำราศีเมื่อลงทะเบียนล่วงหน้าและร่วมกิจกรรมภายในงาน ต่อที่ 2 ลุ้นรางวัลใหญ่ แหวนเพชรจำนวน 2 รางวัล และ iPhone14 จำนวน 1 รางวัล

สำหรับ งาน Thailand Gems & Jewelry Fair 2022 มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-4 กันยายน 2565 เวลา 11.00 – 21.00 น. บริเวณชั้น7 ศูนย์การค้าไอคอนสยาม ซึ่งงานนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตที่คนไทยทุกคนสามารถร่วมกันสร้างได้ อนาคตที่คนไทยมีอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและยังเป็นเจ้าของนวัตกรรมเองอีกด้วย

ผู้ที่สนใจเข้าร่วมชมงานเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอนาคต สามารถลงทะเบียนเข้าชมงานล่วงหน้าและดูรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.thaigemjewelry.or.th หรือเพจเฟซบุ๊ก Thai Gem and Jewelry Traders Association.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password