กสิกรฯชี้! คนไทยจ่อเปลี่ยนพฤติกรรมจับจ่าย หลัง ‘ของแพง’ ลากยาวเป็นปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ! ดัชนีเศรษฐกิจฯครัวเรือนปรับดีขึ้นจากระดับต่ำสุดๆชี้คนไทยเร่งเปลี่ยนพฤติกรรมจับจ่ายหลังมองว่า“ของแพง”ลากยาวอย่างน้อย 1 ปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะปม ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า โดยระบุว่า แม้ราคาพลังงานจะยังอยู่ในระดับสูง แต่ได้ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือน มิ.ย.65 หนุนให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้าที่สำรวจในเดือน ก.ค.65 ปรับดีขึ้น จากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์จากเดิมที่ 30.8 และ 32.9 ในเดือน มิ.ย.65  มาอยู่อยู่ที่ 32.5 และ 34.0

นอกจากนี้ การทยอยผ่อนคลายมาตรการการเปิดประเทศทำให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วยหนุนมุมมองเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงาน อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบของดัชนี พบว่า ครัวเรือนส่วนมากยังมองว่าค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงขึ้น ขณะที่จำนวนครัวเรือนที่กังวลเรื่องอนาคตจึงใช้จ่ายลดลงในปัจจุบันเพิ่มมากขึ้น 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังได้สำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องระยะเวลาและสถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง พบว่า ครัวเรือนส่วนใหญ่ (ร้อยละ 65.6) มองว่า ระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงไปอีกเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี โดยปัจจุบันได้มีการเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย โดยส่วนมาก (ร้อยละ 27.7) มีการปรับลดการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น กินเลี้ยงสังสรรค์ และบริโภคสินค้าเดิมในปริมาณที่ลดลง

สำหรับในระยะข้างหน้า ครัวเรือนยังมีแนวโน้มเผชิญสถานการณ์ราคาสินค้าที่อยู่ในระดับสูง ทั้งจากการส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตมาสู่ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น สถานการณ์ด้านราคาพลังงานที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงทิศทางการปรับขึ้นของราคาสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของปีคาดว่าภาคการท่องเที่ยวที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเข้ามาช่วยหนุนการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนได้บางส่วน รวมถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างโครงการคนละครึ่งเฟส 5 (เริ่มใช้ ก.ย.65) และโครงการอื่น ๆ ที่จะเข้ามาช่วยประคับประคองภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในช่วงที่รายได้และรายจ่ายไม่สอดคล้องกัน

โดยในเดือนก.ค.65 ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที 32.5 และ 34.0 จาก 30.8 และ 32.9 ได้รับปัจจัยหนุนจากระดับราคาน้ำมันที่แม้จะยังอยู่ในระดับสูงแต่ปรับลดลงจากเดือน มิ.ย. 65 เล็กน้อย สะท้อนจากดัชนีเงินเฟ้อในหมวดพลังงานที่ลดลงร้อยละ 4.69 เมื่อเทียบรายเดือนหรือ การรายงานข่าวเกี่ยวกับราคาน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ที่ในเดือนก.ค.ปรับลดลงรวม 6.40 บาท/ลิตร ทำให้ครัวเรือนมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อราคาน้ำมัน นอกจากนี้มุมมองเกี่ยวกับการจ้างงานปรับดีขึ้น หลังมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเดือนก.ค.65 ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามามากกว่า 1 ล้านคนเป็นเดือนแรกตั้งแต่เกิดโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ระดับราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะระดับราคาพลังงานที่เป็นต้นทุนการขนส่งต่าง ๆ ซึ่งกดดันให้ระดับราคาสินค้าต่าง ๆ ปรับเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประกอบอาหาร ค่าขนส่งต่าง ๆ ทำให้ในครัวเรือนส่วนมาก (ร้อยละ 78.7) ยังมีมุมมองว่ามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ขณะที่มีครัวเรือนจำนวนมากขึ้น (ร้อยละ 34.4 ในเดือนก.ค.65 จาก 20.8 ในเดือนมิ.ย. 65) ใช้จ่ายลดลงในปัจจุบันเนื่องจากกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในอนาคต

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดทำผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องระยะเวลาที่ครัวเรือนมองว่าสถานการณ์สินค้าที่อยู่ในระดับสูงจะเริ่มคลี่คลายลงเมื่อใด ผลสำรวจระบุว่า ครัวเรือนมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 65.6) มองว่าต้องใช้เวลามากกว่า 1 ปีขึ้นไป ขณะที่ครัวเรือนมีการระมัดระวังการใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดือน เม.ย. โดยมีการลดการใช้จ่ายในกิจกรรมที่ไม่จำเป็น เช่น ดูหนัง และกินเลี้ยงสังสรรค์เพิ่มขึ้น ( จากร้อยละ 14.5 มาอยู่ที่ ร้อยละ 27.7) รวมถึงยังมีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เช่น ใช้สินค้าในปริมาณที่น้อยลงเพื่อให้ใช้ได้นานขึ้น  ปัจจัยดังกล่าวบ่งชี้ว่าการฟื้นตัวของการบริโภคในภาคครัวเรือนจะยังถูกดันจากความเชื่อมั่นที่อยู่ในระดับต่ำ และมุมมองที่ว่าสถานการณ์สินค้าราคาสูงจะยาวนานจึงต้องระมัดระวังการใช้จ่าย

เมื่อมองไปในระยะข้างหน้าภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีแนวโน้มเปราะบางจากสถานการณ์ราคาสินค้าที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง การส่งผ่านต้นทุนจากผู้ประกอบสู่ผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงอาหารและบริการ ขณะที่ราคาสินค้าและบริการต่าง ๆ เช่น แก๊สหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ยังมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในลักษณะขั้นบันได อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว จะเข้ามาช่วยให้มุมมองเกี่ยวกับรายได้และการจ้างงานปรับดีขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางเข้ามามากขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 (High season) นอกจากนี้มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 วงเงิน 800 บาท ที่มีเป้าหมายครอบคลุม 26,500,000 สิทธิ ที่จะเริ่มใช้ในเดือนก.ย.-ต.ค 65 นี้ก็จะเข้ามามีส่วนช่วยประคับประคองครัวเรือนได้บางส่วน ทั้งนี้ สถานการณ์ราคาที่สูงขึ้นนี้ยังไม่มีจุดสิ้นสุดในระยะอันใกล้ นอกจากเงินช่วยเหลือแล้ว ภาครัฐอาจเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความเชื่อมั่น หรือสร้างเสริมในส่วนของรายได้และการจ้างงานเพิ่มเติมอย่างยั่งยืน

กล่าวโดยสรุป ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในระดับปัจจุบัน (ก.ค.65) ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 32.5 และ 34.0 อย่างไรก็ตามครัวเรือนยังมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย ทำให้การฟื้นตัวของการบริโภคยังมีแนวโน้มเปราะบาง ภาคการท่องเที่ยวและความช่วยเหลือจากภาครัฐจะเข้ามามีส่วนประคับประคองบางส่วน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password