บาทอ่อนค่าแรงมาในรอบ 5 ปีเศษ ส่วนหุ้นไทยคาดหลุดจาก 1600 จุดได้อีก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้! เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงแรงจากสัปดาห์ก่อนเผย! เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือนท่ามกลางแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดขณะที่ หุ้นไทยร่วงลงหลุดแนว 1,600 จุด ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย และธนาคารกสิกรไทย สรุปและประเมินผลค่าเงินบาทและตลาดหุ้นของไทยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มและทิศทางในสัปดาห์ต่อไป ดังนี้

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท : เงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี 3 เดือนที่ระดับ 35.28 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงตามทิศทางของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาคท่ามกลางสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางชั้นนำหลายแห่ง นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ธนาคารกลางอังกฤษ และธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากสถานะขายสุทธิหุ้นและพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ

เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เงินดอลลาร์ฯ จะเผชิญแรงขายทำกำไรบางส่วนหลังการประชุมเฟด แต่เงินบาทยังคงมีทิศทางอ่อนค่าต่อเนื่องจนถึงปลายสัปดาห์ เนื่องจากเฟดยังคงส่งสัญญาณว่ามีความเป็นไปได้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% หรือ 0.75% ต่อเนื่องอีกในการประชุมเดือน ก.ค.ขณะที่จังหวะการขึ้นดอกเบี้ยของไทยจะยังคงตามหลังเฟด

โดย คณะกรรมการ กนง. ท่านหนึ่ง ระบุว่า ณ ขณะนี้ยังไม่มีการนัดหมายการประชุม กนง. รอบพิเศษเพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และการประชุมนัดต่อไปของกนง. ยังเป็นเดือนส.ค. นี้ตามปกติ โดยใน วันศุกร์ที่ 17 มิ.ย. 2565 เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 35.20 บาทต่อดอลลาร์ฯเทียบกับระดับ 34.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (10 มิ.ย.) ขณะที่ระหว่างวันที่ 13-17 มิ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทย 12,328 ล้านบาท ขณะที่มีสถานะเป็น NET OUTFLOW ออกจากตลาดพันธบัตร 13,459 ล้านบาท (เป็นการ หมดอายุของตราสารหนี้ 9,154 ล้านบาท และขายสุทธิพันธบัตร 4,305 ล้านบาท)

สัปดาห์ถัดไป (20-24 มิ.ย.) : ธนาคารกสิกรไทยมองกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ระดับ 34.80-35.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และตัวเลขการส่งออกเดือนพ.ค. ของไทย ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองและยอดขายบ้านใหม่เดือน พ.ค. ผลสำรวจความเชื่อมั่น/ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากมุมมองของผู้บริโภค รวมถึงข้อมูล PMI เบื้องต้นเดือน มิ.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของธนาคารกลางจีน อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของอังกฤษ และข้อมูล PMI เบื้องต้นเดือนมิ.ย. ของยุโรปและอังกฤษด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย : ตลาดหุ้นไทยร่วงลงแรงตั้งแต่ช่วงต้นสัปดาห์ตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ท่ามกลางความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงหลังตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดทำสถิติสูงสุดรอบกว่า 40 ปี ซึ่งผลการประชุมเฟดระหว่างสัปดาห์ออกมาตามตลาดคาด เฟดมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% (นับเป็นขนาดการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่มากที่สุดในรอบ 28 ปี) ไปที่ระดับ 1.50-1.75% ทั้งนี้ ผลการประชุมเฟดดังกล่าวกระตุ้นความกังวลเกี่ยวกับทิศทางการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ รวมถึงไทยด้วย และส่งผลให้เกิดแรงเทขายหุ้นบิ๊กแคปในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะพลังงาน เทคโนโลยี และไฟแนนซ์

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ (17 มิ.ย.) ดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,559.39 จุด ลดลง 4.49% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 80,922.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 27.09% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai ลดลง 6.25% มาปิดที่ 602.59 จุด

สำหรับ สัปดาห์ถัดไป (20-24 มิ.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,545 และ 1,535 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,570 และ 1,580 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทิศทางเงินทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสองเดือนพ.ค. ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) รวมถึงจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนมิ.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซนและญี่ปุ่น อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LPR ของจีน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password