แฉ! เล่ห์ทุน 3 ธุรกิจบาป มอมเมาเด็กไทย ชี้! เม็ดเงินพนันออนไลน์โต 5 เท่า

“3 ธุรกิจบาป” สบช่องสื่อออนไลน์เติบโตแต่ยากควบคุม สร้างภาพลวงตาหลอกเด็กและเยาวชนไทยเข้าสู่โซนอันตรายก่อนวัยอันควร ระบุ! กลุ่มทุน “บุหรี่  เหล้า  พนัน” รุกหนัก แถม รมว.ดีอีเอสให้ท้ายอีก เผย! ข้อมูลบ่อนพนันออนไลน์ปี’64 โตก้าวกระโดย ยอดคนเล่นโตเท่าตัว ส่วนวงเงินพนันขยายตัวถึง 5 เท่า ด้าน สสส.ยอมรับ ศึกนี้ ยากจะเอาชนะ แต่จำต้องผนึกกำลังสู้ต่อไป

“เอาชนะแนวรบออนไลน์… ศึกใหญ่ บุหรี่  เหล้า  พนัน” หัวข้อจากเวทีการประชุม “โฟกัสกรุ๊ป” ที่ มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้นเมื่อช่วงสายวันจันทร์ที่ 13  มิถุนายน  2565 ณ โรงแรมแกรนด์  ฟอร์จูน กรุงเทพ รัชดา โดยมี นายวิเชษฐ์  พิชัยรัตน์  สื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีตัวแทนสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เข้าร่วมงานฯ เพื่อร่วมสะท้อนและเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุน สสส. กล่าวตอนหนึ่งระหว่างเปิดการประชุมฯ ว่า “ภูมิทัศน์สื่อ” ที่เปลี่ยนแปลงทำให้สื่อออนไลน์มีบทบาทสร้างการรับรู้และเปลี่ยนแปลงค่านิยม พฤติกรรมของประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งยังเปิดช่องให้กลุ่มธุรกิจบุหรี่ แอลกอฮอล์และการพนัน ที่มีทุนขนาดใหญ่เปิดเกมรุกด้านการตลาดออนไลน์อย่างหนักหน่วง จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายควรช่วยกันดูแลปกป้องลูกหลานของเรา ทั้งนี้ จากที่ได้หารือกันมีข้อจำกัดในแง่กฎหมายและจากข้อมูลเฝ้าระวังพบว่า การตลาดออนไลน์ของธุรกิจข้างต้นมีการตัดตอนอย่างแยบยล  เช่น ที่อยู่ของแพลตฟอร์มก็ไม่มีอยู่จริง ใช้ชื่อปลอม จึงทำให้การดำเนินคดีต่างๆก็จะลำบาก

ดังนั้น จึงอยากเสนอให้ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างจริงจังในเรื่องนี้เพราะตาม พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาตรา 13 กำหนดให้มี คณะกรรมการเฉพาะด้านด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งมี ผู้แทนของกสทช.อยู่ด้วย และ คณะกรรมการเฉพาะด้านด้านการส่งเสริมและพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มี ผู้แทนของกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่ด้วยสามารถหยิบยกเรื่องนี้มาหารือและกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ หรือไม่อย่างนั้น ก็ควรเพิ่มอำนาจให้กับกรมควบคุมโรคให้มากกว่านี้ ขณะที่สื่อมวลชนก็สามารถช่วยผลักดันเรื่องนี้และนำเสนอข่าวให้รู้เท่าทันกลยุทธ์การตลาดของธุรกิจเหล่านี้ได้มากขึ้น

“ยอมรับว่าการจะเอาชนะกลุ่มทุนทั้งที่เป็นทุนบุหรี่ เหล้า และการพนัน ที่มีฐานเงินทุนจำนวนมหาศาลเป็นเรื่องยาก แต่จำเป็นจะต้องรวมพลังของทุกภาคส่วน เพื่อต่อสู้และปกป้องไม่ให้เด็กรุ่นใหม่ตกเป็นเหยื่อของธุรกิจเหล่านี้ต่อไป”

ด้าน ผศ.ดร.ศรีรัช ลาภใหญ่ นักวิชาการอิสระ หน่วยวิชาการบ่มเพาะ เครือข่ายนักจัดการปัจจัยเสี่ยง ฉายภาพรวมของธุรกิจบาปทั้ง 3 ประเภท เริ่มจาก ผลการศึกษาเรื่องการตลาดออนไลน์ของธุรกิจแอลกอฮอล์ พบว่า  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปรุงรสหวานต่างๆ เป็นที่นิยมของผู้หญิง วัยรุ่นและกลุ่มอายุน้อย มีรสชาติ บรรจุภัณฑ์ แตกต่างจากเบียร์หรือสุรา ถูกวางตำแหน่งทางการตลาดเป็นเครื่องดื่มสำหรับผู้หญิง หรือ “เหล้าเด็ก” แต่มีแอลกอฮอล์ 5-9% แถมมีราคาไม่แพง  เติบโตด้วยอิทธิพลซีรีย์เกาหลีและการรีวิวด้วยนาโนและไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์ที่เป็นผู้หญิง ยิ่งขยายฐานตลาดได้กว้างขึ้น  

ในขณะที่ การสื่อสารการตลาดของบุหรี่ไฟฟ้าและการสูบในกลุ่มเยาวชนและวัยทำงานตอนต้น  ผลการศึกษาพบว่า มายาคติเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้วัยรุ่นสูบบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแปลงร่างอื่นๆ 8 มายาคติ คือ 1. ไม่รู้ข้อมูลสุขภาพ สถาบันการศึกษายังไม่ได้สอน 2. ความรู้ถูกบิดเบือน 3. คิดว่าไม่อันตราย 4. กลิ่นรสทำให้เชื่อว่าไม่อันตราย 5. รูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากบุหรี่มวน 6. เชื่อเพื่อน รุ่นพี่เอามาขายให้ในโรงเรียน 7. ความแปลกใหม่ 8. เห็นโฆษณาและการส่งเสริมการขายในออนไลน์  

ส่วน การตลาดธุรกิจการพนันออนไลน์ นั้นใช้ กลยุทธ์ลวงให้โลภ หลอกให้ลาภ พบว่ามี 8 เทคนิค คือ ส-สอนสูตรเล่น  บ-เสนอโบนัสเมื่อเล่น สะสมแต้ม ยิ่งเล่นยิ่งสะสมโบนัสหรือแต้ม  ท-เสนอการทดลองเล่นฟรีโดยผู้เล่นไม่ต้องจ่ายเงินแต่ถ้าเล่นได้ จะได้รับเงินจริงทันที ค-เล่นเสีย คืนเงิน มีการรับประกันการเล่นเสียในรูปแบบข้อเสนอทางการเงินเมื่อเล่นเสีย  ม-สายมู สอนให้บูชาวิธีต่างๆเพื่อเอาชนะ ขายของขลังหรือเสนอพิธีกรรมให้ผู้เล่นเพื่อความโชคดี แก้มือหรือเอาชนะ ร-มีกฎหมายรองรับ โฆษณาว่าเป็นการพนันถูกกฎหมาย ต่างชาติยอมรับ  จ-มีแจ๊คพอต เป็นข้อเสนอพิเศษรายวัน รายอาทิตย์ รายเดือน  และยังพบว่า ธุรกิจการพนันใช้วาทกรรมภาษาจากคำว่า “เล่น” เป็น “ลงทุน” เปลี่ยนจากคำว่า “เล่น” เป็น “เกม” หรือสันทนาการ หรือกีฬาออนไลน์ เพื่อให้ดูไม่อันตรายและทำให้ผู้เล่นไม่รู้สึกผิดในใจ รวมทั้งมี CSR แนวใหม่คือ “การเล่น(พนัน) อย่างรับผิดชอบหรือมีสติ”

“จากนี้ทุกฝ่ายควรต้องร่วมมือกัน รวมถึงสื่อมวลชนด้วย ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือเล็กสื่อใหญ่ ต่างก็มีบทบาทและสามารถจะร่วมกันส่งเสียงเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ เพียงแต่อาจจะต้องเริ่มจากการกำหนด Agenda (วาระ) ในการดำเนินงานในแต่ละภารกิจเสียก่อน”

ด้าน ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า จะต้องรู้เท่าทันธุรกิจบุหรี่ที่มีการใช้หลายกลยุทธ์ทั้งการแทรกแซงนโยบายและผู้บริหารระดับสูง แทรกแซงกระบวนการทางกฎหมาย โฆษณาชวนเชื่อให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง การสนับสนุนองค์กรหน้าฉากเคลื่อนไหวในนามภาคประชาชน และการสนับสนุนทุนอุปถัมภ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายที่ควบคุมบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าดีมาก แต่เรามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ส่วนเรื่องสื่อนั้นจากการเก็บข้อมูลการเสนอข่าวของสื่อหนังสือพิมพ์ช่องเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2565 พบว่ามีการเสนอข่าวบุหรี่ไฟฟ้าถึง 161 ข่าว ยังดีที่หนังสือพิมพ์เสนอข่าวห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าข่าวสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ 10 ฉบับ และยังพบว่ารัฐมนตรีที่ออกมาให้ข่าวบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุดคือ นายชัยวุฒิ  ธนาคมานุสรณ์ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 

อย่างไรก็ตาม การตลาดธุรกิจบุหรี่ออนไลน์เป็นเรื่องใหม่สำหรับภาคีภาคประชาสังคมบุหรี่ ดังนั้น ศูนย์วิจัยด้านยาสูบ เครือข่ายสื่อมวลชน เครือข่ายนวัตกรรม เครือข่ายเยาวชนต้องจับมือกันเฝ้าระวังและตอบโต้ ภาครัฐต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจังกว่านี้ อยากให้มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะสร้างเครือข่ายสื่อสุขภาวะเพื่อผลิตสื่อน้ำดีและหนุนเสริมสื่อใหม่ๆให้มากขึ้น

ส่วน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี  ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เสริมว่า เราได้เห็นการให้ข้อมูลผิดๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ว่า น้ำเมาดีต่อสุขภาพโดยอ้างงานวิจัยที่ล้าสมัย หรืองานวิจัยที่สนับสนุนโดยธุรกิจน้ำเมา แต่หลายกรณีเกิดจากการจงใจเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ และแม้จะเป็นเรื่องยากในการต่อสู้กับธุรกิจน้ำเมาที่มีทุนมหาศาล ที่สามารถจ้างอินฟลูเอนเซอร์ และใช้ทุนในการกระจายข้อมูลได้อย่างรวดเร็วแต่เราก็ต้องสู้แม้ต้นทุนทุกด้านน้อยกว่า  เราต้องมีกฎหมายมีนโยบายสาธารณะที่คุมการโฆษณาแอลกอฮอล์ทั้งออนไลน์และออฟไลน์  

ที่ผ่านมาประเทศไทยยังห้ามการโฆษณาสิ้นเชิงกับบุหรี่ได้ ทำไมน้ำเมาซึ่งสร้างปัญหาหลายมิติกว่าจะทำไม่ได้ นอกกจากนี้ควรจะมีงานวิจัยที่ทำให้เรามีความเข้าใจกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสารอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่มีความคิดเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะถ้าเราไม่เข้าใจเขาอย่างจริงจังคงเข้าถึงยาก ส่วนสื่อมวลชนสามารถมีบทบาทในการให้ข้อมูลกับสังคมโดยเฉพาะผู้หญิงได้รับรู้ว่าการดื่มแอลกอฮอล์วันละ 1 แก้วมีงานวิจัยชัดเจนว่าจะทำให้เกิดมะเร็งเต้านมได้ ส่วนเรื่องกฎหมายสุราก้าวหน้าแก้ปัญหาการผูกขาดนั้นต้องคิดด้วยว่าเราจะปกป้องเด็กและเยาวชนเราได้อย่างไรด้วย

ขณะที่  รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า 10 ปีที่ผ่านมา การพนันออนไลน์มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งการเพิ่มช่องทางการเล่นพนัน เช่นการพนันฟุตบอล การแทงหวยหรือการซื้อสลากกินแบ่ง และการพนันที่อยู่ในออนไลน์โดยตรง คือ คาสิโนออนไลน์  ข้อมูลในปี 2564 พบว่า การพนันออนไลน์มีวงเงินการเล่นพนันใกล้เคียงกับบ่อนที่มีสถานที่คือ 100,000 ล้านบาท  ซึ่ง คาสิโนออนไลน์ มีทั้งการเล่นเสมือนจริงแบบไลฟ์สดจากคาสิโน และมีตัวแทนเล่น กับการเล่นผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น เกม Slot Machine  

โดย 90% ของผู้เล่นระบุว่า เล่นพนันออนไลน์สะดวกเล่นได้ทุกที่ทุกเวลาร้อยละ 99  เล่นผ่านมือถือ มีการใช้ผู้มีอิทธิพลในสื่อสังคมออนไลน์มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ ใช้ข้อมูลพฤติกรรมของผู้อยู่ในสื่อสังคมออนไลน์เป็นช่องทางในการเข้าหา และการสร้างโปรโมชันรูปแบบต่างๆ  การควบคุมการพนันออนไลน์ทำได้ค่อนข้างยากเพราะเล่นผ่านเว็บไซต์ทั้งในและต่างประเทศ  การปราบปรามทำได้แค่ตามบล็อก พอถูกบล็อกก็ไปเปิดเว็บไซต์ใหม่ ถ้าเป็นเว็บไซต์จดทะเบียนในต่างประเทศยิ่งตามได้ยาก รัฐจึงต้องบล็อกไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพนันออนไลน์ได้

“ตัวเลขบ่อนพนันออนไลน์พบว่าในปี 2564 มี่การเติบโตที่น่าตกใจ โดยในแง่ของจำนวนผู้เล่น มีเพิ่มขึ้นเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านี้ ขณะที่จำนวนเงิน กลับเพิ่มสูงขึ้นมากถึง 5 เท่าตัว จึงเป็นที่ภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องจะต้องให้ความสนใจในการแก้ไขปัญหานี้” รศ.ดร.นวลน้อย ย้ำ

ส่วนสื่อมวลชนที่เข้าประชุมได้แสดงความคิดเห็นเช่น นายอนันต์  ลือประดิษฐ์ บรรณาธิการอำนวยการสื่อออนไลน์ The People  กล่าวว่า ธุรกิจการพนันพยายามเข้ามาเป็นสปอนเซอร์สื่อออนไลน์สื่อต้องมีจุดยืนชัดเจนว่าไม่รับการสนับสนุนเพื่อปกป้องลูกหลานของเรา และนอกจากการแก้ปัญหาที่ต้นน้ำคือเรื่องนโยบาย กฎหมายแล้วอยากให้เน้นที่ปลายน้ำคือการสร้างการรู้เท่าทันเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็กและเยาวชนด้วย  

ด้าน นายจิระ  ห้องสำเริง ผู้บริหารค่ายสื่อ SME Media.com เสนอว่า การจะสู้การรุกตลาดออนไลน์ของ  ธุรกิจเหล่านี้จะต้องมีข้อมูลพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของกลุ่มเป้าหมายจึงจะคิดกลยุทธ์ในการต่อสู้ได้ และอยากให้ทำเหมือนต่างประเทศที่มีการจัดเรทอายุของการโฆษณาหรือการตลาดกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการสร้างนักรบไซเบอร์เพื่อตอบโต้ได้อย่างทันท่วงที

ขณะที่ นายศักดา แซ่เอียว หรือ เซีย การ์ตูนนิสต์ ไทยรัฐ กล่าวว่า ธุรกิจเหล่านี้มีทุนเยอะใช้การทำบุญเป็นหน้าฉากแต่แท้จริงสินค้าคือสิ่งที่ทำลายเด็กและเยาวชน การรุกของตลาดออนไลน์เป็นสงครามใหญ่ซึ่งภาคีและ สสส.ก็ต้องสู้ไปพร้อมๆกับการปกป้องเด็กและเยาวชนและอยากจะให้สนับสนุนสื่อเล็กๆให้เข้ามามีบทบาทด้วย

ส่วนนายจิระพงษ์  เต็มเปี่ยม หัวหน้าข่าวหน้า 1  นสพ.แนวหน้า ระบุว่า การต่อสู้กับการตลาดออนไลน์ที่มีทุนมหาศาลเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา การปิดเว็ปต์ปิดสื่อก็ต้องเป็นคำสั่งศาล ต้นทางก็ไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน แต่เราก็ต้องเข็นต้องสู้กันต่อไป.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password