หัวเว่ยเผยเทรนด์ “Industry 4.0” หนุนอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วย AI

หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) เผยเทรนด์อุตสาหกรรมอัจฉริยะยุคการเชื่อมต่อ ชี้องค์ประกอบการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 4 ด้านหลักภาคอุตสาหกรรม ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมเร่งหนุนอุตสาหกรรมไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลด้วยกลยุทธ์ GUIDE บนแพลตฟอร์มอัจฉริยะพื้นฐานเทคโนโลยี 5G คลาวด์ บิ๊กดาต้า และปัญญาประดิษฐ์

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวเปิดงานและปาฐกถาในหัวข้อ “Unlocking Thai Industries By Optimizing IIOT towards Industry 4.0 Era” ว่า “เอสเอ็มอีกว่า 70% ยังคงอยู่ใน industry 2.0 ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังไม่ดีเท่าที่ควร สภาอุตสาหกรรมจึงผลักดันให้ทุกหน่วยงานเร่งยกระดับประสิทธิภาพทางการผลิตให้สูงขึ้น ด้วยการทำ industry transformation โดยเน้นการเชื่อมโยงเทคโนโลยี AI และ IoT เข้าด้วยกัน ซึ่งถือเป็นการสร้าง industrial ecosystem ให้เกิดการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ มาช่วยเหลือผู้ประกอบการ”

ดร.ชวพล จริยวิโรจน์ กรรมการผู้จัดการ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) กล่าวถึงเทรนด์สำคัญในด้านอุตสาหกรรมอัจฉริยะที่ควรจับตามองภายในงานสัมมนา Industrial IoT Solution Expo 2022” ซึ่งจัดขึ้นโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยว่า “ปัจจุบัน เรากำลังมุ่งสู่ยุคแห่ง 5G และ IoT ซึ่งจะพลิกประสบการณ์การใช้งานในกลุ่มประชาชนทั่วไป รวมถึงการประยุกต์ใช้งานในภาคอุตสาหกรรม และมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรมอัจฉริยะหรือ “อุตสาหกรรม 4.0”ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของแพลตฟอร์มการเชื่อมต่ออัจฉริยะ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G การประมวลผลบนคลาวด์ รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้าด้วยกัน”

ดร.ชวพล ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในด้านการบริการของอุตสาหกรรม 4.0 จะเป็นการส่งมอบรูปแบบการบริการที่เท่าเทียมและสามารถเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ ในด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาคอุตสาหกรรมจะผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานมากขึ้น ช่วยรองรับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ส่วนในด้านทักษะของบุคลากรจะต้องได้รับการยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์ บิ๊กดาต้า และคลาวด์ เพื่อรองรับอุปสงค์ของตลาด นอกจากนี้ ในระบบนิเวศของภาคอุตสาหกรรมจะมีความเปิดกว้าง เท่าเทียม และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

“การเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมในรูปแบบปัจจุบันไปสู่ภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะ จะทำให้เกิดประโยชน์ที่จับต้องได้ทั้งด้านการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเราสามารถเห็นตัวอย่างของอุตสาหกรรมอัจฉริยะได้จากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ในภาคอุตสาหกรรมเหมืองและอุตสาหกรรมท่าเรือของประเทศจีน ส่วนในประเทศไทยซึ่งถือเป็นผู้นำด้านการประยุกต์ใช้ 5G ในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว ซึ่งได้เริ่มใช้ไปแล้วในหลายภาคส่วนได้แก่ สถานีรถไฟอัจฉริยะ 5G ในกรุงเทพฯ เขตพื้นที่อัจฉริยะ 5G ในเชียงใหม่ การเกษตรอัจฉริยะ 5G ในเชียงราย รวมไปถึงท่าเรืออัจฉริยะ 5G ที่ชลบุรี เป็นต้น” ดร.ชวพล กล่าวเสริม

ทั้งนี้หัวเว่ยพร้อมสนับสนุนการมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรมอัจฉริยะในประเทศไทยด้วยกลยุทธ์ GUIDE ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนแพลตฟอร์มการเชื่อมต่ออัจฉริยะ เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้แก่ไทย และผลักดันศักยภาพในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะประกอบด้วย

1. โครงการประเภท Gigaverse Initiative เพื่อส่งมอบไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตแบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบด้วยการส่งต่อข้อมูลที่มากระดับกิกะบิต

2. ระบบการทำงานอัตโนมัติความเร็วสูง Ultra-Automation เพื่อส่งมอบกระบวนการทำงานแบบดิจิทัลที่คล่องตัวมากขึ้น

3. การส่งมอบ Intelligent Computer &Network ในรูปแบบการบริการ ทำให้เกิดเครือข่ายและการประมวลผลดิจิทัลที่ยืดหยุ่น ปรับตัวได้

4. การส่งมอบประสบการณ์แบบ Differentiated Experience ตามความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพ

5. การเน้นเรื่อง ESG (Environmental, Social, and Corporate Governance) เพื่อเพิ่มจำนวนบิตและลดการใช้พลังงาน เพื่ออนาคตของอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password