ถกวันสตรีสากล ชี้! รายการตลกคุกคามเพศ ปม “แตงโม” ควรสื่อถึงสิทธิ์-ความปลอดภัย

ภาคีสื่อมวลชน ผู้หญิง เด็กและเยาวชน ร่วมกับสื่อมวลชน เสวนา “วันสตรีสากล” ชี้! แม้สื่อจะทำหน้าที่สร้างสรรค์ แต่ยังด้อยค่าผู้หญิง ยกปมมุขตลกคุกคามทางเพศ ทั้งคำพูดและสัมผัสตัวผู้ร่วมรายการ ส่วนกลุ่มสื่อยังมีผู้หญิงเป็นผู้นำไม่มาก ยกเว้นสื่อออนไลน์ ด้านนักวิชาการชี้ สื่อต้องใช้ความเป็นธรรมนำความเป็นกลาง ส่วนข่าวดาราดัง “แตงโม” สื่อไม่ควรเน้นประเด็นส่วนตัว แต่ควรดูเน้นคุ้มครองสิทธิ์และบทเรียนของปัญหาความปลอดภัย การคุกคามผู้หญิง การดื่มแอลกอฮอล์และสื่อไม่ควรแสดงบทบาทชี้นำและเน้นเรตติ้งมากเกินไป

ในโอกาส “วันสตรีสากล – 8 มีนาคม” ของทุกปี…ทั่วโลกมีการรณรงค์ประเด็นที่น่าสนใจของผู้หญิงสำหรับในประเทศไทยที่โรงแรมแมนดาริน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2565 มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ(มสส.) ร่วมกับ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และ มูลนิธิเด็ก เยาวชนและครอบครัว ได้ร่วมกันจัดเสวนาร่วมกับสื่อมวลชนระดมความคิดเห็นเรื่อง ”มองสื่อไทย…สร้างสรรค์หรือด้อยค่าสตรี” ในสถานการณ์ที่ข่าวของดาราดัง แตงโม ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำกำลังมีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง

โดย นายจะเด็ด เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวถึงความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่ในสื่อต่างๆ ว่า จากการทำงานและสังเกตการณ์ของมูลนิธิที่ผ่านมาสื่อมีทั้งสร้างสรรค์และด้อยค่าผู้หญิง ที่สร้างสรรค์คือฉากไม่เหมาะสมในละครลดน้อยลง เพราะหน่วยงานอย่าง กสทช.กำกับดูแลมากขึ้น แต่ด้านการด้อยค่าไม่ใช่แค่เรื่องแตะเนื้อต้องตัวอย่างเดียว เพราะยังคงมีคำพูดของนักแสดงที่เห็นผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศมองผู้หญิงด้อยกว่าตัวเองยังคงมีอยู่ นอกจากนี้ รายการวาไรตี้ รายการตลกยังมีประเด็นที่ชอบด้อยค่าภรรยาตัวเองนำมาล้อเลียน มีการพูดสองแง่สองง่ามกับผู้หญิงและมีหลายครั้งที่พิธีกรตลกมีการแตะเนื้อต้องตัวแขกรับเชิญที่เป็นผู้หญิง เมื่อไม่มีการโวยวายก็มองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ซึ่งไม่ถูกต้อง ขณะที่ถ้าเป็นการรายงานข่าวเรื่องผู้หญิงถูกคุมคามทางเพศมักจะรายงานแค่ปรากฏการณ์เรื่องนิสัยใจคอ พฤติกรรมของผู้หญิงแต่ไม่ให้ความสำคัญกับการทำข่าวสืบสวนหาสาเหตุของปัญหาโดยเฉพาะความคิดเรื่องชายเป็นใหญ่

ด้าน นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ผู้ดำเนินรายการวิทยุคลื่น เอฟเอ็ม 96.5 อสมท.และอดีตกรรมการสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสื่อไทยต่อการส่งเสริมความ เท่าเทียม ว่า ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือประเด็นแรก การส่งเสริมความเท่าเทียมในองค์กรวิชาชีพสื่อและองค์กรสื่อตั้งแต่ตั้งสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2489 ถึงปี 2542 มีนายกสมาคมฯที่เป็นผู้หญิงแค่ 3 คนจาก 22 คน เมื่อรวมกันเป็นสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบันมีนายกสมาคมฯที่เป็นผู้หญิง 2 คนจาก 11 คน ยิ่งไปดูลึกถึงตำแหน่งบรรณาธิการบริหารสื่อหลักๆส่วนไหนจะเป็นผู้ชาย ดังนั้นสื่อคงต้องคิดถึงการเพิ่มบทบาทผู้หญิงให้มากขึ้น แต่น่าสนใจคือ สื่อออนไลน์ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง ชัดเจนว่าสัดส่วนของ ผู้หญิงที่เป็น “บรรณาธิการบริหาร” นั้น ครึ่งต่อครึ่ง เช่นสื่ออย่าง The reporter , The Bangkok Insight ,The momentum ส่วน ประเด็นที่สอง เรื่องบทบาทสื่อต่อการส่งเสริมความเท่าเทียมของหญิงชาย นั้น ในอดีตต้องยอมรับความจริงว่าการเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้หญิงจะเน้นเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศในเชิงของปรากฎการณ์เป็นหลักส่วนคอลัมน์หรือรายการในเชิงความคิด สร้างสรรค์อาจจะมีน้อยหรือไม่ก็เน้นไปที่ความสวยความงามหรือข่าวสังคมชั้นสูง แต่เราก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในสื่อหลายสื่อในปัจจุบันเช่นไทยรัฐออนไลน์ แนวหน้า มีคอลัมน์ผู้หญิง มีคอลัมนิสต์ผู้หญิงอยู่หลายคน ส่วนเนื้อหาที่นำเสนอก็ก้าวหน้าเช่น ภัยผู้หญิง, ดนตรีต้านการล่วงละเมิด, สอน 3 ท่ามวยไทยเบสิคที่ผู้หญิงควรฝึกไว้ป้องกันตัว

ขณะที่ นายณัฐกร เวียงอินทร์ Content Editor The People กล่าวถึงบทบาทของสื่อออนไลน์จุดประกายท้าทายบทบาทผู้หญิงได้อย่างไร ว่า ในหลายปีที่ผ่านมา นอกจากการให้ความสำคัญกับเรื่องบทบาทผู้หญิงแล้วปัจจุบันสื่อไทยมีความสนใจพูดถึงเรื่องราวความหลากหลายทางเพศสภาพมากขึ้นมีความตื่นตัว ในโลกออนไลน์เป็นอย่างมาก เราเห็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยม กลุ่ม LGBTQ+ และอีกหลายกลุ่มความเคลื่อนไหวมากมายทำให้เราตระหนักถึงสิทธิความเท่าเทียมคนผู้คนในแต่ละเพศ การเคลื่อนไหวเช่นนี้ ในส่วนหนึ่งจึงเหมือนกับทางฝั่งประชาชนออนไลน์ผู้ใช้สื่อก็มีบทบาทในการให้ข้อมูลให้ความรู้กับสื่อเพื่อให้การทำงานของสื่อมีความระมัดระวังในการนำเสนอข่าวสาร ไปจนถึงทัศนคติที่มีต่อการนำเสนอเนื้อหาข่าวสารนั้น ๆ ในทางที่เหมาะสมเช่นกัน
ด้าน ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสื่อไทยจะส่งเสริมบทบาทผู้หญิงอย่างไร ว่า ทางออกของสื่อไทยในการนำเสนอประเด็นผู้หญิง สื่อต้องทำงานกับโลกภายในของตัวเอง ใช้หัวใจในการทำงานสื่อมองให้เห็นถึงความทุกข์ของผู้หญิง ซึ่งแตกต่างจากปัญหาอื่นของสังคม เพราะความทุกข์ของผู้หญิงถูกระบบโครงสร้างสังคมทำให้กลายเป็นเรื่องปกติ สื่อต้องใช้ความเป็นธรรมนำความเป็นกลาง ความเป็นธรรมจะทำให้เรามองเห็นผู้หญิงในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี ไม่ลดคุณค่าของผู้หญิงให้เหลือแค่ร่างกาย หากยึดหลักความเป็นธรรมแล้วการรายงานเรื่องของผู้หญิงจะไม่จบเพียงแค่เหตุการณ์ที่เป็นโศกนาฏกรรมบนยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ต้องขุดให้ลึกไปจนถึงฐานรากของปัญหาในระดับโครงสร้างสังคมวัฒนธรรมที่เป็นต้นเหตุของความรุนแรงต่อผู้หญิง

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯยังได้พูดถึงบทบาทของสื่อมวลชนกับการเสนอข่าวการเสียชีวิตของดารานักแสดงหญิงชื่อดัง “แตงโม” ภัทรธิดา พัชรวีระพงษ์ ด้วย โดย ดร. ชเนตตี กล่าวว่า สื่อต้องยกระดับข่าวนี้ให้เป็นมากกว่าข่าวอาชญากรรม ไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว โดยเพิ่มเติมมุมมองการคุ้มครองสิทธิของผู้สูญเสียชีวิตและชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่ต้องแก้ไขในระดับโครงสร้างสังคม เพื่อให้บทเรียนเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่กลับมาเกิดซ้ำสอง เช่นเดียวกับ นายจะเด็จ ที่ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า สื่อควรจะเคารพความเป็นส่วนตัวของผู้เสียหายและคนที่เกี่ยวข้อง ลดความเป็นดราม่าที่เน้นเรตติ้งคนดูลงเน้นเจาะลึกไปยังต้นตอปัญหาและตั้งคำถามกับสังคมเรื่องของความปลอดภัยของการเดินทาง ภัยของผู้หญิงทำอย่างไรไม่ให้ถูกคุกคาม การดื่มแอลกอฮอล์บนเรือผิดหรือไม่
ขณะที่ นายวิเชษฐ์ เสริมว่า สื่อต้องให้เกียรติคนที่เสียชีวิตเพราะคนตายพูดไม่ได้และต้องนำเสนอข้อเท็จจริงให้มากกว่าความรู้สึก ที่สำคัญจะต้องไม่ตั้งตนเป็นผู้ชี้นำทิศทางหรือกระแสสังคมเรื่องนี้ควรขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ และเห็นด้วยว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการหรือกฎหมายจะต้องหาทางป้องกันปัญหาที่กล่าวมาในทุกมิติด้วย.