“อ.แหม่ม” เตือน รบ.เตรียมรับมือวิกฤตหนี้เสียที่ส่งสัญญาณมาแล้ว! เชื่อ กนง. จ่อขึ้นดอกเบี้ยอีก

หน.ทีมนโยบายพปชร. เตือน เตรียมรับมือวิกฤตหนี้เสีย หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐพุ่ง ซึ่ง ประเทศไทย ก็กระโดดเช่นกัน คาด กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยสกัด และดูแลค่าเงินบาทแน่

วันที่ 14 ก.ค.2565 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ หรือ “อ.แหม่ม” กรรมการบริหาร และ หัวหน้าทีมนโยบายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “ระวังสัญญาณหนี้เสีย” ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเดือนมิถุนายน 2565 พุ่งสูงถึง 9.1% สูงสุดในรอบ 40 ปี และสูงกว่าเงินเฟ้อคาดการณ์ที่ 8.8% จึงกังวลกันว่า 27 กรกฎาคมนี้ Fed อาจจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% ซึ่งจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นไปอีก ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลงอีก ธุรกิจที่มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจึงควรทำการป้องกันความเสี่ยงไว้ด้วย

ส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยเดือนมิถุนายน 65 เท่ากับ 7.66% พุ่งสูงสุดในรอบ 13 ปี ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาสินค้ากลุ่มพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น เดือนหน้า จึงคาดกันว่า กนง.คงขึ้นดอกเบี้ยแน่ ทั้งเพื่อสกัดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท ถึงแม้ระบบการเงินไทยจะมีเสถียรภาพ แต่เงินเฟ้อที่สูงขึ้นที่จะส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพและต้นทุนการผลิต ภาคครัวเรือนยังเปราะบางมาก จากหนี้ครัวเรือนที่สูงร่วม 90% ของ GDP โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยที่เปราะบางสุด

เดือนหน้าเมื่อ กนง.ขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจด้อยลงไปอีก และจะกระทบคุณภาพสินเชื่อรายย่อยแน่นอน ยกตัวอย่าง ถ้ามีหนี้ 10 ล้านบาทที่ยังค้างจ่ายอีก 20 ปี หรือ 240 เดือน อัตราดอกเบี้ยเดิมจ่ายอยู่เท่ากับ 6% ต่อปี เงินผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนก็จะอยู่ที่ราว 71,643 บาท ถ้าอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 1% เงินผ่อนจะเพิ่มเป็น 77,530 บาทต่อเดือน เท่ากับภาระเพิ่มขึ้น 5,887 บาทต่อเดือน

ข้อมูลจากแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 สำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ากว่า 2 ใน 3 ของครัวเรือนรายได้น้อยที่เป็นหนี้ มีรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย ไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้

ล่าสุด รายงานของ ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณด้อยลงของคุณภาพสินเชื่อบัตรเครดิตและส่วนบุคคลจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนของ Non-bank คุณภาพสินเชื่อก็เริ่มมีแนวโน้มด้อยลง จากสัดส่วนของหนี้ค้างชำระเกิน 3 เดือนสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน เพราะเป็นกลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และมีภาระหนี้อยู่ในระดับสูง จึงอ่อนไหวกับภาระต้นทุนและค่าครองชีพที่ปรับสูงขึ้น

รัฐบาลจึงต้องเตรียมมาตรการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่กับมาตรการเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ใช้กลไกที่มีเร่งให้ความรู้ครัวเรือนและธุรกิจ SMEs ถึงแนวทางการแก้หนี้ และต้องทำด้วยความเข้าใจ ในขณะเดียวกัน เรื่องค่าเงินบาท รัฐบาลควรส่งสัญญาณให้เอกชนทำการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และร่วมกับ ธปท.ดูแลต้นทุนของการป้องกันความเสี่ยง.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password