กคช. ปลื้ม! ผลประเมินความโปร่งใส คว้าอันดับ 1 เร่งเดินหน้า พัฒนาที่อยู่อาศัย หนุนสร้างอาชีพ

การเคหะแห่งชาติ แถลงผลงานปี 2565 โชว์ผลประเมินคุณธรรม ความโปร่งใส อันดับ 1 ของ พม. เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัย เน้นบ้านเช่าให้ประชาชนเข้าถึง หนุน อาชีพสร้างรายได้ ลดรายจ่าย ส่งเสริมคุณภาพชีวิต รับสังคมผู้สูงอายุ

วันที่ 4 ก.ย. 65 นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) แถลงความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ ประจำปี 2565 ว่า การเคหะฯ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ดำเนินนโยบายสำคัญตามแนวทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งตั้งแต่รับตำแหน่งผู้ว่าฯ กคช. เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2563 เป็นต้นมา ทำงานเดินหน้าขับเคลื่อนในทุกมิติ เพื่อให้การเคหะฯ เป็นที่พึ่งให้กับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางในด้านที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้ ยังได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พร้อมยังมุ่งมั่นสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใสให้แก่องค์กร ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงกฎระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ ให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัย และเกิดความคล่องตัวในการทำงานมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนปรับปรุงเว็บไซต์องค์กรให้ทันสมัย ปรับปรุงช่องทางการร้องเรียนให้มี 6 ช่องทาง พร้อมด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 2565 การเคหะฯ ได้คะแนนผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA 97.96 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็มเพิ่มสูงขึ้น 0.03 คะแนน จากปี 2564 ที่ได้ 97.93 คะแนน ถือเป็นอันดับที่ 1 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวง พม. และอันดับที่ 5 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เข้าร่วมการประเมินจำนวน 51 แห่ง รวมทั้งได้ระดับผลการประเมิน AA ในระดับประเทศ

“ผมขอขอบคุณทีมผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติทุกคน ที่มีส่วนช่วยในการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน ให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมกันและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การเคหะแห่งชาติได้รับผลประเมิน ITA อยู่ในระดับ AA ของประเทศ” นายทวีพงษ์กล่าว และ ว่า การดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะฯ นับตั้งแต่ปี 2519 ถึงวันที่ 31 ก.ค. 2565 ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้ว 746,616 หน่วย นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจากการสร้างบ้านเพื่อขาย มาเน้นการสร้างบ้านเช่าให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในอัตราค่าเช่าที่รับภาระได้อย่างทั่วถึง เช่น โครงการบ้านเคหะสุขประชา เป็นบ้านเช่าพร้อมอาชีพ และโครงการบ้านเคหะสุขเกษมที่นำโครงการบ้านเอื้ออาทรเดิมที่เป็น Sunk cost มาปรับเป็นบ้านเช่าสำหรับผู้สูงอายุและข้าราชการวัยเกษียณ รวมทั้งโครงการอาคารเช่าที่สร้างขึ้นใหม่ และการรับคืนอาคารเช่าเหมาจากเอกชนมาบริหารจัดการเอง เพื่อลดภาระค่าเช่าและค่าสาธารณูปโภคให้แก่ผู้อยู่อาศัยไปพร้อมกัน

สำหรับ ความคืบหน้าของโครงการบ้านเคหะสุขประชา “บ้านเช่าพร้อมอาชีพ” ได้จัดสร้างโครงการนำร่อง 2 โครงการได้แก่ โครงการบ้านเคหะสุขประชาร่มเกล้า 270 หน่วย ก่อสร้างได้ 95.70% ขณะที่โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง 302 หน่วย ก่อสร้างได้ 93% นอกจากนี้ ยังได้ลงนามในสัญญาเช่าที่ดินร่วมกับบริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เพื่อก่อสร้างและประกอบการค้าเชิงพาณิชย์พร้อมบริหารพื้นที่ (ตลาด) โครงการบ้านเคหะสุขประชาฉลองกรุง เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ขนาดเนื้อที่ประมาณ 3-0-0 ไร่ มีกำหนดเวลาเช่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2565 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2580 นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติมอบหมายให้ บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จํากัด ศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของโครงการบ้านเคหะสุขประชา โดยวิธีการร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการลำลูกกา คลอง 12 จังหวัดปทุมธานี โครงการวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และโครงการธรรมศาลา จังหวัดนครปฐม

นอกจากนั้น มีโครงการบ้านเคหะสุขเกษม “บ้านเช่าสำหรับผู้สูงอายุและข้าราชการวัยเกษียณ” นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิดโครงการบ้านเคหะสุขเกษมจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 ณ ที่ตั้งโครงการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 126.5 ไร่ ซอยที่ดินไทย ถนนเทพารักษ์ ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ แบ่งการพัฒนาโครงการฯ ออกเป็น 4 ระยะ รวมทั้งสิ้น 4,089 หน่วย มีรูปแบบอาคารเป็นอาคารชุดสูง 5 ชั้น (มีลิฟต์ทุกอาคาร) ขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 33 ตารางเมตร (อาคารละ 40 หน่วย) และขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 23 ตารางเมตร (อาคารละ 5 หน่วย) ออกแบบโครงการภายใต้หลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) โดยคำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ.

Login

Welcome! Login in to your account

Remember me Lost your password?

Lost Password